สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ยาต้านมาลาเรียปลอมจากจีนระบาดทั่วอินโดจีน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 13 ก.พ. 2551

            วารสารออนไลน์ ห้องสมุดวิทยาศาสตร์ (Public library of science) ของสหรัฐอเมริกา เผยข้อมูลชวนอึ้ง ชี้ผลการสืบสวนของนักวิทยาศาสตร์พบกลุ่มมิจฉาชีพจีนหากินกับชีวิตมนุษย์ ปลอมยาต้านมาลาเรียวางขายเกลื่อนตลาด พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบริเวณชายแดนไทย-พม่า
       
            ผลการวิเคราะห์ของบรรดานักวิทยาศาสตร์เผยว่า ในเม็ดยาต้านมาลาเรียปลอม มีส่วนผสมของสาร อาเทซูเนต (artesunate) ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในการต่อต้านเชื้อมาลาเรียน้อยกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบว่าในเม็ดยามีสารเคมีอันตรายปนเปื้อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้ผู้บริโภคเสียชีวิต หรือเจ็บป่วยร้ายแรง
       
            ภายใต้การสืบสวนซึ่งใช้ชื่อว่า "โครงการจูปิเตอร์" นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และ เวลล์คัม ทรัสต์ กองทุนเพื่อการวิจัยทางเภสัชภัณฑ์ ได้เก็บรวบรวมตัวยาต้านมาลาเรียจากประเทศพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบริเวณชายแดนไทย-พม่ารวม 391 ชิ้น เพื่อทำการวิเคราะห์ โดยการวิจัยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลก และตำรวจสากล
       
            จากการวิเคราะห์ด้วยเทคนิด สเปกโตมิเตอร์ ฉายแสงตรวจสอบความเข้มข้นของสารเคมีปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์ยากว่า 195 ชิ้น หรือเทียบเป็นสัดส่วน 49.9% มีสารอาเทซูเนตเป็นส่วนประกอบเพียงเล็กน้อย หรือบางกรณีก็พบว่าปราศจากสารอาเทซูเนตโดยสิ้นเชิง
       
สุดเนียนปลอมแม้แต่โฮโลแกรม

            นอกจากนี้จากการตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ยังพบว่า มีการปลอมโฮโลแกรมด้วยเทคนิคระดับเซียน ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถจับผิดได้เลย แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ และแสงอัลตราไวโอเลต ช่วยในการจับผิด
       
            โฮโลแกรมปลอมส่วนมากมักติดยี่ห้อปลอมว่าผลิตโดย "กุ้ยหลิน ฟาร์มา" ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ของจีน
       
            ทีมนักวิจัยใช้เทคนิคนิติเรณูวิทยา (Forensic polynology) ตรวสอบละอองเกสรพืชขนาดเล็ก ซึ่งติดมากับผลิตภัณฑ์ จนสามารถสืบหาแหล่งผลิตยาปลอมได้ว่า มาจากตอนใต้ของจีน โดยทีมสอบสวนยังพบหลักฐานยืนยัน จากการตรวจสอบแร่แคลไซต์ที่ติดมากับตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา โดยแร่ดังกล่าวช่วยยืนยันว่าฐานการผลิตยาปลอมน่าจะอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน
       
            หลังจากได้หลักฐานชัดเจนจนเป็นที่แน่ใจแล้ว หัวหน้าทีมวิจัยได้ส่งข้อมูลที่ได้ไปยังกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ในเดือนมีนาคมปี 2006
       
            หลังจากได้รับหลักฐาน ตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยในมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) โดยผู้ต้องสงสัยรายนี้ได้ซื้อยาจำนวนมากจากชายคนหนึ่ง ซึ่งตั้งโรงงานผลิตยาต้านมาลาเรียปลอม เลียนแบบบริษัท "กุ้ยหลิน ฟาร์มา" อยู่ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)
       
            วารสารห้องสมุดวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ความร่วมระหว่างนักนิติวิทยาศาสตร์ นักสืบ แพทย์ และเภสัชกร ควรเป็นแบบอย่างสำหรับการตรวจจับยาปลอมในอนาคต อย่างไรก็ตาม "ห้องทดลองที่มีอุปกรณ์ครบครันมีจำนวนน้อยมาก ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีห้องทดลองที่พร้อมเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้การวิเคระห์ยังต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และ อุปกรณ์ที่ซับซ้อน ฉะนั้นต้นทุนจึงสูง" วารสารระบุ
       
            หากต้องการใช้วิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ตรวจจับยาปลอม คณะกรรมการอาหารและยา ในหลายประเทศ และหน่วยงานระดับสากล ต้องร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานห้องทดลองในภูมิภาค
       
            ทั้งนี้ปัญหายาต้านมาลาเรียปลอมระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกเปิดเผยกลายเป็นเรื่องฉาวครั้งแรกในปี 1998 โดยบรรดาแพทย์และผู้เกี่ยวข้องต่างกังวลว่า ตัวยาที่มีสารอาเทซูเนต ปริมาณน้อยกว่ามาตรฐาน อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการดื้อยา ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงจนถึงขั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
       
ฉาวเภสัชภัณฑ์จีน
       
            นอกจากยาต้านเชื้อมาลาเรียปลอมแล้ว จากการสำรวจบริเวณตลาดแม่สาย ชายแดนไทย-พม่ายังพบว่า มีการจำหน่ายยาไวอากร้าปลอม ซึ่งเมื่อบริโภคแล้วอาจส่งผลกระทบทำนกเขาไม่ขันถาวร หรืออาจมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้
       
            สำหรับกรณีฉาวยาต้านมาลาเรียจีน เคยกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตมาแล้วเมื่อปี 2007 เอเชียนวอลล์สตรีท ฉบับวันที่ 7 มีนาคมได้ตีพิมพ์ศึกวิวาทระหว่างบริษัทยาจีนกับองค์การอนามัยโลก โดย องค์การอนามัยโลกได้วิพากษ์ยาต้านมาลาเรียที่บริษัทจีน ผลิตว่า มีส่วนประกอบของสารอาเทมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งอาจทำให้เชื้อมาลาเรียเกิดอาการดื้อยา หากจะใช้ตัวยาดังกล่าว ก็ควรใช้ร่วมกับตัวยาต้านมาลาเรียตัวอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยาจีนนำโดย บริษัทยาคุนหมิงปฏิเสธ ที่จะขายยารักษาแบบผสม ซึ่งใช้ตัวยาอีกอันหนึ่งผสมในผลิตภัณฑ์ หากแต่จะขายยารักษา ที่มีส่วนประกอบของอาเทมิซินิน เพียงอย่างเดียว
       
            ในวิวาทะครั้งนั้นบริษัทกุ้ยหลิน ฟาร์มาก็เข้าไปมีชื่อเกี่ยวข้องด้วย แม้บริษัทกุ้ยหลิน ฟาร์มาซูติคอลแทบจะทำตามคำเรียกร้องขององค์การอนามัยโลก ด้วยการยุติจำหน่ายยาที่มีส่วนประกอบสารอาเทมิซินินเพียงอย่างเดียว โดยทางบริษัทยืนกรานว่าจะจำหน่ายอาเทมิซินินเดี่ยวให้เฉพาะกับ สตรมีครรภ์ และเด็กเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวไม่ควรเสี่ยงกับการรับผลข้างเคียงจากยาผสม ที่มีมากกว่ายาเดี่ยว อย่างไรก็ตาม ทางกุ้ยหลินก็ยังตั้งคำถามกับแนวคิดขององค์การอนามัยโลก ที่ห้ามการจำหน่ายตัวยาที่มีสารอาเทมิซินิน อย่างเดียว
       
            นอกจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว มาลาเรียยังระบาดหนักในทวีปแอฟริกา โดยหลายประเทศในแอฟริกาเองก็พึ่งตัวยาต้านมาลาเรียจากจีนเช่นกัน


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551


ยาต้านมาลาเรียปลอมของบริษัทอื่นที่ทางการไทยตรวจพบบริเวณด่านแม่สายชายแดนไทย - พม่า

โฮโลแกรมยาปลอม (ซ้าย) เทียบกับของจริง (ขวา) ซึ่งรายละเอียดใกล้เคียงกันมากเกือบ 100%
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

จะโดนยาปลอมมั๊ยเนี่ย

โดย:  เป็นๆ หายๆ  [13 มี.ค. 2551 13:52]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ไวอาก้า  ยาปลุกsex ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านมีอยู่มหาศาลทั้งแบบเม็ด ผงชงดื่ม ครีมสเปรย์ (ตลาดค้าส่งคาสิโนเกาะกง) วันนี้จะส่งคนไปสืบหาโลโก้ กุ้ยหลินฟาร์มาซูติคอล เพื่อเเจ้งเตือนระวังกันต่อไป

โดย:  กำลังเป็นมาเลเลียอยู่ชายเเดนตราด  [13 มี.ค. 2551 14:04]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น