สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

คราบน้ำมันกับวิกฤติ "เกาะเสม็ด"

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันที่: 30 ก.ค. 2556

           ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผวจ.ระยอง และนายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ได้เดินทางลงเรือข้ามเกาะเสม็ดไปสำรวจที่อ่าวพร้าว หมู่ 4 ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง หลังจากพบคราบน้ำมันดิบทะลักเข้าชายหาดห่างจากฝั่งประมาณ 20 เมตร มีความยาวประมาณ 600 เมตร มีความหนาแน่นประมาณ 20-30 ซม. นอกจากนี้ห่างออกไปในทะเลประมาณ 200 เมตร พบคราบน้ำมันมีลักษณะสีดำหนาแน่น และคล้ายฟิล์มบาง ๆ สร้างความตระหนกให้กับประชาชน ผู้ประกอบการประมง ธุรกิจที่พักอาศัย และการท่องเที่ยวตามชายหาดเป็นอย่างมาก      

           นายวิชิต ชาตไพสิฐ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประกาศให้พื้นที่อ่าวพร้าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเล จากนั้นจะต้องป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันกระจายไปยังชายหาดใกล้เคียง พร้อมกับสั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 อบต.เพ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ด พร้อมประสานหน่วยบัญชา การนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ให้นำกำลังมาช่วยเหลือดำเนินการจัดเก็บคราบน้ำมันอย่างเร่งด่วน

           นายพรเทพ บุตรนิพันธ์ รอง กก.ผจก.ใหญ่ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณพื้นที่อ่าวพร้าว นำแผ่นซับคราบน้ำมันมาเก็บคราบน้ำมัน พร้อมใช้เรือฉีดพ่นสารเคมีสลายคราบน้ำมัน รวมทั้งนำบูมยางมากั้นน้ำมันให้อยู่ในวงจำกัดไม่ให้คราบน้ำมันกระจายออกไปยังอ่าวบ้านเพ เพื่อป้องกันไปถึงเกาะมันนอก และเกาะมันใน เพราะจะส่งผลกระทบกับแหล่งอนุรักษ์และเพาะพันธุ์เต่าทะเล ปะการังและสัตว์ทะเลจำนวนมาก     

           ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมประมงชายฝั่งได้ลงไปดูแลเรื่องคราบน้ำมันรั่วไหลลงทะเลแล้ว พร้อมประสานบริษัท ปตท.ให้ลงไปพ่นสารเคมีย่อยสลายคราบน้ำมัน รวมถึงส่งหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญให้ลงไปสูบก้อนน้ำมันขึ้นมาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากมีความเป็นห่วงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล อาทิ สาหร่าย แพลงก์ตอน และอาจจะได้รับผลกระทบจากท่อน้ำมันรั่ว เพราะในน้ำมันมีสารเคมีทำลายสิ่งมีชีวิตในทะเลได้

           ด้าน นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่าจุดที่เกิดน้ำมันรั่วไหล เป็นบริเวณทำประมงอวนชมพู มีการวางอวนล้อมจับปลาในทะเล แต่ยังไม่พบสัตว์น้ำตายผิดปกติ เพราะสัตว์น้ำสามารถว่ายหนีไปในพื้นที่น้ำสะอาด ทั้งนี้กรมประมงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำมาตรวจสอบว่าได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันหรือไม่ และคาดว่าภายใน 5 วันจะทราบผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ และจะนำมาแจ้งให้ประชาชนทราบอีกครั้ง

           ขณะที่ นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ได้ร่วมลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเสม็ด นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับเรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับสิ่งแวดล้อม มีหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง และจากนี้ไปคงต้องมีการพูดคุย และรวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วนแล้วว่าใครจะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และในเบื้องต้นคาดว่าอาจจะเป็นกรมเจ้าท่า เป็นผู้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัทที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดคราบน้ำมันรั่วไหล

           นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล และได้สั่งการให้บริษัทพีทีทีจีซี ดูแลช่วยเหลือเต็มที่ โดยเฉพาะดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยเร็ว รวมทั้งควบคุมสถานการณ์การรั่วไหลและเร่งกำจัดการปนเปื้อนให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีทีจีซี เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามาจากสาเหตุอะไร และเกิดขึ้นจากจุดไหน เป็นความผิดพลาดที่ตัวบุคคลหรืออุปกรณ์ และมีการป้องกันสถานการณ์ล่าช้าหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบว่าเคยเกิดเหตุในไทยมาแล้ว 3 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แต่ครั้งนี้มีปริมาณการรั่วไหลมากกว่าที่ผ่านมา

           ขณะที่ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีทีจีซี กล่าวว่า รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องไม่คาดคิด และในฐานะประธานกรรมการสอบสวน จะสอบสวนหาสาเหตุ และจะรายงานผลการตรวจเบื้องต้น เช่น เป็นการผิดพลาดจากคนหรืออุปกรณ์ เพื่อเสนอให้ รมว.พลังงานทราบภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติของท่ออ่อนที่แตกระหว่างขนย้ายน้ำมันนั้นต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ จะต้องใช้เวลาพิจารณาอีกสักระยะ เช่น ตรวจสอบโรงงานผลิตท่อ โดยปกติท่ออ่อนจะต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 2 ปี แต่ท่อที่เกิดปัญหาเพิ่งใช้งานมาเพียง 1 ปีเท่านั้น สำหรับความเสียหายและวงเงินที่ใช้เยียวยายังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ โดยบริษัททำประกันภัยไว้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ขั้นตอนเอาเงินประกันคงจะต้องไปสอบถามฝ่ายบริหารว่ามีรายละเอียดครอบคลุมอย่างไรบ้าง ส่วนนํ้ามันดิบกระจายอยู่ในทะเล และมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ และฉีดสารเคมี เพื่อควบคุมให้หายไม่มีการปนเปื้อนในทะเลได้ 100% ภายใน 3 วัน

           ด้าน นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พีทีทีจีซี กล่าวว่า ทันทีที่ทราบว่าคราบนํ้ามันไหลไปยังเกาะเสม็ด บริษัทได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเข้าไปในพื้นที่พร้อมกั้นบูมป้องกันการกระจายของนํ้ามัน และเร่งเก็บคราบนํ้ามันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด พร้อมยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของบริษัทเพียงผู้เดียว ดังนั้นจึงพร้อมเยียวยาชดเชย โดยเฉพาะความเสียหายกับพื้นที่ท่องเที่ยวและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนสรุปแผนการเยียวยา โดยมีวงเงินประกันทำไว้ประมาณ 1,500 ล้านบาท

           ขณะที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทรัพยากรทางทะเล กล่าวถึงกรณีท่อรับนํ้ามันดิบกลางทะเลของบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด เกิดรั่วไหลนํ้ามันดิบไหลลงทะเลจำนวน 5 หมื่นลิตร ไหลกระจายไปถึงอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ว่า สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการควบคู่ไปกับการกำจัดคราบนํ้ามัน โดยการบอกถึงขั้นตอนการแก้ไขให้สังคมได้รับรู้ เช่น ขั้นตอนและวิธีการป้องกันการกระจายของนํ้ามัน ทิศทางการกระจายของนํ้ามัน และผลกระทบที่จะตามมา เพื่อให้ทุกฝ่ายช่วยกันเตรียมพร้อมรับมือ รวมถึงประชาชนที่อาจเจอผลกระทบด้วย “การใช้สารเคมีในการกำจัดคราบนํ้ามัน อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วยเช่นกัน จึงจำเป็นอย่างมากที่หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องต้องบอกต่อสังคมว่า ทำไมถึงเลือกใช้วิธีนี้และมีผลอย่างไรต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะการใช้สารเคมีให้นํ้ามันเกาะตัวกันควรใช้ในพื้นที่นํ้าลึกมากๆ ไม่ใช่ในพื้นที่นํ้าลึกเพียง 20 เมตร” ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าวปิดท้าย

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2556

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น