สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ตรวจเข้มโรงงานป้องกันไฟไหม้ปล่อยมลพิษ เล็งแก้กฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิด

ผู้เขียน: แนวหน้าออนไลน์
วันที่: 17 ม.ค. 2558

           นายศักดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีเหตุเพลิงไหม้โรงงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้น กรมจึงได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัด ออกไปเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงาน โดยเฉพาะระบบป้องกันเพลิงไหม้ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อาจไม่ได้เข้มงวดในเรื่องนี้ แต่หลังจากนี้ทุกโรงงานที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงในการเกิดอัคคีภัย จะต้องทำตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะต้องมีเครื่องดับเพลิงแบบมือถือทุนทุกๆ ระยะห่างไม่เกิน 20 เมตร ให้อยู่สูงจากพื้นไม่เกินกว่า 1.50 เมตร และให้โรงงานจัดเตรียมน้ำสำหรับดับเพลิงให้กับอุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที

           นอกจากนี้โรงงานที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟได้ และมีพื้นที่ต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติให้ครอบคลุมพื้นที่นั้น รวมทั้งในส่วนของพื้นที่อาคารโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงและปานกลาง ที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟได้ ต้องแยกพื้นที่จากส่วนอื่นของอาคารด้วยวัสดุทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ขณะที่อาคารโรงงานเดี่ยวที่เป็นโครงเหล็ก จะต้องหุ้มด้วยวัสดุทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ถ้าหลายชั้นต้องทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ส่วนเครื่องจักร อุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุไวไฟ ต้องต่อสายดิน และต้องมีเส้นทางหนีไฟที่ให้คนงานออกจากอาคารได้ภายใน 5 นาที

           สำหรับการตรวจจับโรงงานที่ปล่อยมลพิษนั้น ในปี 2557 กรมได้ตรวจพบโรงงงานที่ปล่อยมลพิษได้ทั้งสิ้น 150 โรงงงาน และได้ใช้พ.ร.บ.โรงงาน มาตรา 37 สั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งในจำนวนนี้มี 7 โรงงาน ที่ได้สั่งให้หยุดประกอบกิจการ เนื่องจากไม่ปรับปรุงตามที่กำหนด หรือเกิดเหตุเพลิงไหม้จนอาจก่อให้เกิดอันตราย โดยสถิติการตรวจจับโรงงานที่ปล่อยมลพิษในปี 2557 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ได้สั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขตามมาตรตรา 37 จำนวน 164 ราย และถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการ 13 ราย

           ทั้งนี้ มั่นใจว่าปัญหาโรงงานปล่อยมลพิษจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงเป็นตัวกดดันให้โรงงานต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย และปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ ทำให้มีการปล่อยมลพิษ และขยะอุตสาหกรรมลดลง จนถึงขั้นไม่ปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมเลย เพื่อลดต้นทุน และปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานขั้นสูงที่ประเทศคู่ค้ากำหนด รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ให้ความสำคัญ เพิ่มความเข้มงวดในการจัดการปัญหาเหล่านี้และอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษกับโรงงานที่ทำผิด

           นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้กนอ.ได้กำชับไปยังผู้ประกอบการแต่ละนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศ เตรียมพร้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีหากเกิดภาวะฉุกเฉินในด้านต่างๆ โดยเฉพาะแผนการป้องกันด้านอัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เนื่องจากขณะนี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้อากาศแห้ง ลมแรง อาจเกิดอัคคีภัยได้ง่าย

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น