สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

"โฟม"...ความตายใต้ความอร่อย ระวัง "ภัยเงียบ" ซุกมากับ "ข้าวกล่อง"

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
วันที่: 5 ก.พ. 2558

"โฟม"...ความตายใต้ความอร่อย ระวัง "ภัยเงียบ" ซุกมากับ "ข้าวกล่อง"

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันพุธ ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่ความสะดวกสบาย รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนถวิลหา ไม่เว้นกระทั่งเรื่องการกินที่จังหวะชีวิตของใครหลายคนทุกวันนี้ ไม่เปิดโอกาสให้มีทางเลือกมากนัก การจะหาของกินดีๆ“ปลอดภัยไร้สาร” เป็นเรื่องยาก เพราะเดี๋ยวนี้เน้น“อิ่ม-เร็ว-ถูก” ส่งผลให้อาหารจำพวก “แกงถุง ข้าวกล่อง” กลายเป็นพระเอกในชีวิตประจำวันที่ผู้คน “ยุคสังคมก้มหน้า” จำใจยอมรับ และชินอยู่กับมัน ทั้งๆที่บางคนก็รู้ว่าการแกล้งปิดตาข้างหนึ่งก่อนกลืนข้าวลงคอนำมาซึ่ง “ภัยเงียบ” อันเนื่องมาจาก.....“กล่องโฟม”!!!


# แง้ม“กล่อง”ส่องภัยจาก“โฟม”

ข้อมูลจาก “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” อธิบายถึงพิษภัยจากกล่องโฟมไว้ว่า โฟมเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีสไตรีน (Polystyrene: PS) ถ้าถูกนำไปใช้บรรจุอาหารที่ร้อนจัด และอาหารทอดที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ จะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้สารอันตรายแตกตัวออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ได้แก่ สารเบนซีน(Benzene) ที่หากดื่ม หรือกินอาหารที่มีสารเบนซีนปนเปื้อนสูงจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง เนื่องจากกระเพาะถูกกัดกร่อน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

แต่ที่เป็นอันตรายที่สุด คือ “สารสไตรีน”(Styrene) ที่มีพิษทำลายไขกระดูก ตับ และไต ทำให้ความจำเสื่อม มีผลต่อการเต้นของหัวใจ และเป็นสารก่อ “มะเร็ง” โดยอาจก่อให้เกิดมะเร็งเส้นเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้

สำหรับ “เส้นทางมะเร็ง” จากสารสไตรีนในกล่องโฟมจะเข้าสู่ร่างกายได้จาก 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลง ทำให้สไตรีนซึมเข้าสู่อาหารได้สูง 2.ถ้าปรุงอาหารโดยใส่น้ำมัน น้ำส้มสายชูแอลกอฮอล์ จะดูดสารสไตรีนจากกล่องโฟมได้มากกว่าปกติ 3.ถ้าชื้ออาหารใส่กล่องทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้รับประทาน อาหารจะดูดสารสไตรีนได้มาก 4.ถ้านำอาหารที่บรรจุในกล่องโฟมเข้าไมโครเวฟ สไตรีนจะไหลออกมาในปริมาณมาก และ 5.ถ้าอาหารสัมผัสพื้นที่ผิวกล่องโฟมมากๆ รวมถึงร้านใดที่ตัด “ถุงพลาสติกใส” รองอาหาร จะได้รับสารก่อมะเร็งถึง “2 เด้ง” ทั้งสไตรีน และไดออกซิน จากถุงพลาสติก

“หากรับประทานอาหารจากกล่องโฟม วันละอย่างน้อย 1 มื้อ ติดต่อกันนาน 10 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า ที่สำคัญกล่องโฟมทนความร้อนได้เพียง 70 องศาเซลเซียส แต่สิ่งที่เราทานกันเป็นประจำ เช่น ข้าวผัด หรือผัดกะเพรา เป็นต้น ล้วนมีความร้อนเกินมาตรฐานกำหนด ส่งผลให้สารอันตรายปนเปื้อนออกมากับอาหารในปริมาณสูง” ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ


# “ห้ามใช้”.....รู้หรือไม่?

เมื่ออันตรายทำไมเกือบทุกร้าน ไม่ว่าจะร้านข้างทาง หรือบางภัตตาคารใหญ่ จึงยังมีการใช้ “กล่องโฟม” ใส่อาหารกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจากข้อมูลของ “กรมควบคุมมลพิษ” พบว่า ตั้งแต่ปี 2552-2556 มีขยะประเภทโฟมเพิ่มขึ้นจาก 34 ล้านชิ้น เป็น 61 ล้านชิ้น ดังนั้นเฉลี่ยแล้วคนไทยใช้ภาชนะจากโฟมอย่างน้อย 1 ชิ้นต่อคนต่อวัน

“คำถาม” ต่อมา คือ แล้วทำไมภาครัฐไม่จัดการ.....???  

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ให้ “คำตอบ” ถึงคำถามข้างต้น ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข มาเป็นเวลา 10 ปี แล้วว่า “ห้ามใช้” กล่องโฟมที่ไม่ได้มาตรฐานมาใส่อาหารร้อน และอาหารมัน เพราะกระทบต่อสุขภาพ แต่ไม่ค่อยได้ผลนัก ปัจจุบันจึงยังพบเห็นได้เสมอตามท้องตลาด ที่ผ่านมาทางกรมอนามัยจึงใช้วิธีรณรงค์ให้ร้านค้าเปลี่ยนภาชนะบรรจุอาหารจากกล่องโฟม เป็นภาชนะที่ผลิตจากธรรมชาติ หรือ “ไบโอโฟม” แทน แต่การปรับเปลี่ยนให้ผู้บริโภคหันมาใช้ไบโอโฟมเป็นไปได้ยาก เพราะราคาสูงกว่าโฟม 2-4 เท่า

“กล่องโฟมเมื่อโดนความร้อน หรือของมัน จะละลายสารสไตรีนที่เร่งให้เกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายออกมา แต่ผู้ประกอบการก็เอาง่าย เอาถูกเข้าว่า เชื่อหรือไม่ที่มันกระจายได้เร็วเพราะถูกมาก อัดใส่ข้าวกล่องหนึ่งต้นทุนไม่ถึง 1 บาท แต่หารู้ไม่ว่ามันเพิ่มค่าใช้จ่ายมากมายถ้าป่วยเป็นมะเร็ง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเลิกใช้กันอย่างจริงจัง หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงการเอาภาชนะที่ปลอดภัยไปใส่อาหารเองจะดีที่สุด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

# “ไบโอโฟม”.....ตัวช่วยที่ถูกเมิน

ไล่เรียงตรวจสอบไปที่บรรดาพ่อค้าแม่ขาย พบว่า หลายๆแห่งรู้ถึงพิษภัยของ “กล่องโฟม” แต่ในมุมมองของผู้ลงทุนก็ต้องเลือกใช้ เพราะมัน “ถูก”.....

“ป้าเตือนใจ” แม่ค้าอาหารตามสั่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี กล่าวว่า ทราบพิษภัยของกล่องโฟมอยู่บ้าง ก็พยายามบอกนักศึกษาที่มาซื้ออาหารว่าคราวหน้าให้เอากล่องที่ใส่ข้าว หรือจานมาด้วย กลายเป็นว่านักศึกษาบางคนไม่เข้าใจ คิดว่าเรา “งก” กลัวเปลืองกล่องโฟมอีก อีกวิธีที่จะช่วยลดอันตรายจากกล่องโฟมได้ คือ เราจะพักอาหารให้เย็นลงหน่อยก่อนที่จะใส่ลงกล่องโฟม

ขณะที่ “ป้าไสว” แม่ค้าอาหารตามสั่งอีกแห่ง บอกว่า ไม่รู้เรื่องที่กฎหมาย “ห้ามใช้” แต่พอรู้ถึงเรื่องอันตรายบ้าง แต่จะให้ทำอย่างไร เพราะกล่องโฟมมีราคาถูก และใช้สะดวก ถ้าไม่ใช้กล่องโฟมก็ไม่รู้จะใช้อะไร จะให้ใช้พวกกล่องโฟมจากธรรมชาติที่เรียกว่า “ไบโอโฟม” ก็ไม่ไหว เพราะมันแพงกว่า อีกอย่างลูกค้าก็เต็มใจที่จะให้ใส่กล่องโฟมเพราะสะดวก ไม่เสียเวลาต้องล้างจานด้วย

กล่าวสำหรับ “ไบโอโฟม” ถูกยกให้เป็น “ตัวช่วย” ในเรื่องนี้ เพราะผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย เยื่อไผ่ มันสำปะหลัง เป็นต้น ทนทานต่อความร้อน ใช้กับอาหารมีไขมันได้ เข้ากับไมโครเวฟได้ การย่อยสลายดีมาก คือ ถ้าทิ้งไว้ 45 วันก็ย่อยสลายหมดแล้ว เพราะทำจากธรรมชาติ แตกต่างจากโฟมที่ต้องใช้เวลา 450-1,000 ปีขึ้นไปกว่าจะย่อยสลายหมด

อย่างไรก็ดีแม้ “บรรจุภัณฑ์สะอาด” อย่างไบโอโฟมจะเป็นมิตรกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในบ้านเรามากนัก เพราะราคาที่สูงกว่าโฟม ซึ่งคนทั่วไปจะมองว่าทำไมต้องซื้อแพงกว่าในเมื่อมีของราคาถูกกว่าให้ใช้ และประเทศไทยยังไม่มีการ “รณรงค์” ที่ชัดเจน จริงจัง ทั้งมาตรการสนับสนุนราคาวัสดุทดแทนโฟมให้ถูกลง การรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้วัสดุย่อยสลายได้

เหนือสิ่งอื่นใด.....ต้องอาศัย “พลังผู้บริโภค” ที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันงดใช้ “กล่องโฟม” ไม่เช่นนั้นก็คงต้องรับประทานเมนู “ข้าวคลุกสไตรีน” กันต่อไป ทั้งๆที่รู้ว่า “ความตาย” กำลังคืบคลานเข้ามาพร้อมๆกับความอร่อยที่วางอยู่ตรงหน้า!!!


ภาชนะบรรจุอาหารที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Styrene
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

[[ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข มาเป็นเวลา 10 ปี แล้วว่า “ห้ามใช้” กล่องโฟมที่ไม่ได้มาตรฐานมาใส่อาหารร้อน และอาหารมัน ]]

ประเด็น คือ  เมื่อ ห้ามใช้ กล่องโฟมที่ไม่ได้มาตรฐาน .... แต่ ถ้าได้มาตรฐาน ก็ใช้ได้ ( อย่างนั้น ใช่ไหม ? )

กล่องโฟม ที่ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีสไตรีน ( Polystyrene  :  PS ) จะถูกสังคมสรุปว่า มี การปลดปล่อย เบนซีน ( Benzene ) และ สไตรีน โมโนเมอร์ ( Styrene Monomer  :  SM )

แนวๆเดียวกับ
ขวด และ ภาชนะบรรจุของเหลว ที่ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีคาร์บอเนต ( Polycarbonate  :  PC ) จะถูกสังคมสรุปว่า มี การปลดปล่อย บิสฟีนอล เอ  ( Bisphenol A  :  BPA )

ขวด และ ภาชนะบรรจุของเหลว ที่ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีไวนิลคลอไรด์ ( Polyvinylchloride  :  PVC ) จะถูกสังคมสรุปว่า มี การปลดปล่อย ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์  ( Vinyl chloride monomer  :  VCM )

โดย:  ชนต่างชาติคลองโอ่งอ่าง  [8 ก.พ. 2558 22:11]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น