สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ศาลปกครองสูงสุดสั่งกฟผ.แก้มลพิษแม่เมาะใน 90 วัน

ผู้เขียน: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
วันที่: 11 ก.พ. 2558
          ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ กฟผ.ดำเนิน การแก้ปัญหา 5 ด้านเพื่อลดผลกระทบมลพิษจากเหมืองลิกไนต์แม่เมาะภายใน 90 วัน พร้อมสั่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ดูแล กฟผ. ให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ด้าน กฟผ.รับปฏิบัติตามคำสั่งศาล
          ที่ ศาลปกครองเชียงใหม่ วานนี้ (10 ก.พ.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีที่ นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวกรวม 318 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 11 ราย เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.16-31/2553 กรณี กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ที่เป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร
          รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองแร่ แผนผังโครงการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 กระทั่งก่อให้เกิดมลพิษทำให้ผู้ฟ้องได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและทรัพย์สิน โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการทำเหมืองแร่ของ กฟผ. กลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และ อธิบดี คพ. ผู้ถูกฟ้องที่ 5-6 ควบคุมมลพิษ รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจาก กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7
          ขณะที่ผู้ถูกฟ้องที่ 8-11 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ไม่มีคำสั่งให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ยุติหรือระงับการกระทำดังกล่าว ผู้ฟ้องทั้งหมด จึงขอให้ศาลปกครอง มีคำพิพากษา สั่งผู้ถูกฟ้องทั้ง 11 รายเพิกถอนประทานบัตรของ กฟผ. ดังกล่าว โดยให้ผู้ถูกฟ้องที่ 8-11 ร่วมกันแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับฟื้นคืนสู่ธรรมชาติ และให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 หยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษ รวมทั้งให้กรมควบคุมมลพิษ และ อธิบดี คพ. ผู้ถูกฟ้องที่ 5-6  เรียกค่าเสียหายจาก กฟผ. และอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง โดยให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ชดใช้ค่าเสียหายกับผู้ฟ้องด้วย
          ต่อมา ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาว่า กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ละเลยต่อหน้าที่ จึงให้ กฟผ. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมี, ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติด้วยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและปลูกป่าทดแทน รวมทั้งให้ยื่นแก้ไข มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อ 2.6 ที่กำหนดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (สผ.) จากเดิมที่ให้นำพืชที่ปลูกใน WETLAND ไปกำจัด ให้เปลี่ยนเป็นใช้ระบบ ANAEROBIC BACTERIA และการกำหนดพื้นที่ BUFFER ZONE ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และให้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อมทุก 2 ปี โดยจะต้องมีรายงานตรวจสอบทุก ผลกระทบที่เกิดขึ้นที่เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทราบ และให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ตรวจสอบ กำกับดูแลการประกอบกิจการ กฟผ. ทำตามเงื่อนไขประทานบัตร ขณะที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ และกฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และที่ 7 ยื่นอุทธรณ์คดี
          ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 รื้อม่านน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นมาตรการป้องกันฝุ่นละอองในบรรยากาศที่ให้มีความยาว 800 เมตร บริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ทิ้งดินกับบ้านหัวฝายออกและได้ทำการปลูกต้นสนประดิพัทธ์เป็นแนวกำบังแทน โดยยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 จากการที่มีแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่
          เช่นเดียวกับการที่ กฟผ. ไม่ดำเนินการอพยพราษฎรบ้านห้วยคิงทั้งหมดออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร และการไม่จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาการอพยพที่เป็นการกำหนดมาตรการป้องกันโดย สผ. จึงถือว่า กฟผ.ยังปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามมาตรการ รวมทั้งการที่ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ไม่ได้นำพืชที่ปลูกใน WETLAND ไปกำจัดและปลูกเสริมทุก 18 เดือน และไม่ขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน WETLAND และการไม่วางแผนจุดปล่อยดินตามฤดูกาล และการไม่กำหนดพื้นที่ BUFFER ZONE รวมทั้งบังเกอร์ ก็เป็นการละเลยต่อหน้าที่ อย่างไรก็ดีในการเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ได้ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงบางข้อให้ถูกต้องตรงกับที่ กฟผ.ได้เปลี่ยนวิธีการทำเหมืองจากเดิมที่กำหนดไว้โดยได้รับความเห็นชอบจาก สผ. แล้ว เพียงแต่การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ และกฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ประกอบกับการใช้อำนาจเพิกถอนประทานบัตร ย่อมส่งผลกระทบ ต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่จะเกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนมากกว่าผลดีที่จะได้รับ ดังนั้นการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่ออกคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรจึงยังไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ แต่ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ และกฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ได้ทราบถึงการกระทำ ของ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 แล้วไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 138 เป็นการละเลยต่อหน้าที่
          ศาลปกครองสูงสุด จึงแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยสั่งให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ดำเนินการ 1.ติดตั้งม่านน้ำ ความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้ เพื่อลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ
          2.ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สิน โดยให้อพยพออกนอกรัศมี ผลกระทบ 5 กิโลเมตร
          3.ให้ฟื้นฟูขุมเหมือง ให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติด้วยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ. นำพื้นที่ ที่ต้องฟื้นขุมเหมืองไปทำสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ
          4.ให้นำพืชที่ปลูกใน WETLAND ไปกำจัด และปลูกเสริมทุก 18 เดือนขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน WETLAND  5.ให้ทำการขนส่งเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน และให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ, ให้กำหนดพื้นที่ BUFFER ZONE ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็นบังเกอร์ โดยให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของบังเกอร์
          ขณะที่การปล่อยดินจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอนโดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่ต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด และให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตร หาก กฟผ. ไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.แร่ฯ โดยเคร่งครัด
          ทั้งนี้ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ และกฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และที่ 7 ดำเนินการตามคำพิพากษาภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
          วันเดียวกัน นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วย ผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดกรณีให้จัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมการทำเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าต้องลงทุนมากน้อยเพียงใด แต่ที่ผ่านมา กฟผ.ก็ดำเนินโครงการต่างๆ ในการดูแลผลกระทบ สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง

--------------
ลำดับเหตุการณ์  http://www.ppvoice.org/?p=5048

@chenbin.exteen.com

@peoplevoice
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น