สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ปล่อยผีเหมืองแร่โปแตชชัยภูมิ ทุ่มพันล้านตั้ง 6 กองทุนดูแลผลกระทบ

ผู้เขียน: ฐานเศรษฐกิจ
วันที่: 19 ก.พ. 2558
          เหมืองแร่โปแตชอาเซียนเฮ รับประทานบัตรผลิตปุ๋ยรายแรกของไทย ทุ่มกว่า 1 พันล้านบาทตั้ง 6 กองทุนดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน คาดเริ่มผลิตได้ปี 2561 ด้วยงบกว่า 4 หมื่นล้านบาท ยันส่งขายในประเทศลดการนำเข้าปีละ 1 หมื่นล้านบาท เกษตรกรได้ปุ๋ยราคาถูก พร้อมเล็งขออาชญาบัตรสำรวจแร่เพิ่มเติม ขยายกำลังการผลิตเท่าตัวป้อนความต้องการตลาดโลก
          นายอภิชาต สายะสิญจน์ รองกรรมการผู้จัดการ สายปฏิบัติการ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา บริษัทได้รับมอบประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ 9.7 พันไร่ มีอายุประทาน บัตร 25 ปี อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งถือเป็นการรอคอยที่ยาวนานนับจากที่บริษัทได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2534 โดยหลังจากนี้ไปทางบริษัทจะแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิ เพื่อแจ้งการดำเนินการและเร่งจัดทำข้อตกลงการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดินให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากได้รับประทานบัตร ที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุนปีละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 25 ล้านบาท เพื่อเป็นการให้ชุมชนไปว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นคนกลางในการตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการ
          นอกจากนี้ บริษัทจะต้องไปทยอยจัดตั้งกองทุนเพิ่มอีก 5 กองทุน ประกอบด้วยกองทุนประกันความเสี่ยง รวมเป็นเงินที่ต้องจัดสรร 50 ล้านบาท กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ รวมเป็นเงิน 45 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูพื้นที่การทำเหมือง 600 ล้านบาท กองทุนเพื่อการศึกษาวิจัยโปแตช 75 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ 300 ล้านบาท คิดเป็นเงินที่ต้องจัดสรรเข้ากองทุนต่างๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ที่ต้องใช้ในการดูแลผลกระทบด้านต่างๆ
          ส่วนการก่อสร้างนั้นคาดว่าจะดำเนินการได้ช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่ได้ดำเนินการออกแบบโครงการเสร็จเรียบ ร้อยแล้ว และจะต้องทำการเปิดหน้าดินเพื่อขุดเจาะอุโมงค์ และการก่อสร้างโรง งานแต่งแร่เพื่อผลิตปุ๋ยโปแตช ซึ่งบริษัทจะต้องไปจัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้ง 28 ราย ในช่วงเดือนเมษายน 2558 เพื่อเพิ่มทุนอีก 1.1 พันล้านบาท  หลังจากที่ได้ชำระทุนจดทะเบียนไปแล้ว 1.7 พันล้านบาท รวมทั้งต้องรอสถาบันการเงินปล่อยกู้ในช่วงกลางปีนี้ ประกอบกับต้องสั่งเครื่องจักรจากเยอรมนี ซึ่งกินเวลานาน โดยการก่อสร้างทั้งหมดจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี หรือแล้วเสร็จภายในปี 2561 ใช้เงินลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ด้วยกำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี
          นายอภิชาตกล่าวอีกว่า สำหรับการผลิตในช่วงปีแรกนั้น คาดว่าจะอยู่ที่ 5.5 แสนตัน และในปีที่ 2 ประมาณ 8 แสนตัน และปีที่ 3 เต็มกำลังผลิตที่ 1.1 ล้านตัน โดยโปแตชที่ผลิตได้จะเป็นการป้อนความต้องการใช้ในประเทศทั้งหมดจากที่ต้องนำเข้ามาประมาณปีละ 7 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกกว่า 4 แสนตัน จะทำการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโด นีเซียที่มีความต้องการรวมกันกว่า 5 ล้านตันต่อปี ขณะที่ค่าภาคหลวงที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐ จะตกปีละ 1.1 หมื่นล้านบาท ภาษี 1.3 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1 พันคน และยังไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ อีก ทดแทนการนำเข้าได้ 7-9 พันล้านบาทต่อปี
          "ที่ผ่านมาบริษัทได้เจรจากับผู้นำเข้าปุ๋ยโปแตชรายใหญ่ไปแล้ว 6-7 ราย รวมทั้งรายย่อยกว่า 10 ราย ในการจำหน่ายปุ๋ยให้ ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนค่าขนส่งในการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศได้ประมาณ 10-15% เพราะโรงงานผลิตปุ๋ยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระยะห่างจากโครงการประมาณ 200 กิโลเมตรเท่านั้น ประกอบกับช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องสต๊อกวัตถุดิบครั้งละมากๆ และเป็นเวลานาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการได้ เมื่อผลิตปุ๋ยออกมาจะทำให้มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับการนำโปแตชเข้ามา
          นอกจากนี้ จากความต้องการโปแตชของตลาดโลกที่มีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ทำให้บริษัทต้องศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งประมาณไว้ว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าบริษัทจะยื่นขออาชญาบัตร เพื่อขอทำการสำรวจแร่โปแตชเพิ่มเติมที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยโครงการระยะที่ 2 นี้ คาดว่าจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 1.1 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับการเติบโตความต้องการใช้ปุ๋ยในประเทศที่เติบโตประ มาณปีละ 2- 4%
          นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบประทานบัตรให้กับโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนฉบับแรกของประเทศไปแล้วในปีนี้ คาดว่าจะมีการออกประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช ฉบับที่ 2 ออกมาอีก ซึ่งเป็นของบริษัท ไทยคาลิฯ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ประมาณ 9 พันไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจด้านเทคนิค
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Potassium carbonate
Potassium chlorate
Potassium chloride
Potassium hydroxide
Potassium nitrate
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น