กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้ากำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายปีนี้ให้ได้ 1.5 ล้านตัน จากที่มีจำนวน 3.5 ล้านตันต่อปี ไล่เชือดรถขนส่งกากฯ ต้องติดระบบจีพีเอสเพื่อให้ กรอ.สามารถ ตรวจสอบ ได้ 24 ชั่วโมง ป้องกันลักลอบทิ้งกลางทาง จ่อเพิ่มโทษทั้งปรับ ทั้งจำ
นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังนำคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชน เดินทางไปศึกษาดูงาน การบริหารจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรมของบริษัท เคมิคอล เวส ทรีทเมนท์ เซ็นเตอร์ จำกัด (CWTC) ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งเป็นโรงงานในสังกัดรัฐบาลฮ่องกง แห่งเดียวที่ให้บริการกำจัดกากอุตสาหกรรม แบบครบวงจรที่สามารถตั้งกิจการ อยู่ร่วมกับชุมนุมชนที่มีการพักอาศัยของประชาชนอย่างหนาแน่นได้ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการจัดตั้งโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายของประเทศไทยในอนาคต
ทั้งนี้ เนื่องจาก รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้ความสำคัญในการกำจัดกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกากอุตสาหกรรมอันตราย ที่ปีนี้กระทรวงฯได้ตั้งเป้าหมาย ที่จะให้กากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบกำจัด เพิ่มขึ้นจาก 1.03 ล้านตันต่อปี เป็น 1.5 ล้านตันจากปริมาณกากอุตสาหกรรมอันตรายทั่วประเทศ ที่มีปริมาณรวมกันปีละ 3.35 ล้านตัน พร้อมกันนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ก็จะใช้มาตรการบังคับให้ รถบรรทุกที่ให้บริการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย แก่โรงงานอุตสาหกรรม ทุกคันต้องติดตั้งระบบติดตามยานพาหนะ โดยใช้เทคโนโลยีผ่านสัญญาณดาวเทียม (จีพีเอส) ให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้
นางอรรชกา กล่าวว่า ในข้อกำหนดของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย ได้บังคับให้รถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย ต้องติดตั้งระบบจีพีเอส เพื่อป้องกันการลักลอบขนไปทิ้งที่อื่น โดย กรอ.ได้แจ้งไปยังโรงงานอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรถขนส่งแล้ว จากปัจจุบันมีรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย 3,400 คัน แต่ที่ผ่านมากฎหมายดังกล่าว อาจจะยังไม่ได้บังคับจริงจัง เพราะกรอ. ยังไม่มีระบบรับสัญญาณจีพีเอสได้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะต้องรองบประมาณในการจัดซื้อ
“ล่าสุด กรอ.ได้รับงบในการดำเนินงานรวม 14 ล้านบาท ซึ่ง กรอ.ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อติดตั้งระบบจีพีเอส ที่ศูนย์ควบคุมการขนส่งของกรอ.จากนั้นได้แจ้งให้ผู้ประกอบการรถขนส่งกากฯทำการติดตั้งเพื่อเชื่อมสัญญาณร่วมกัน ระหว่างกรอ.กับรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป กรอ.จะสามารถตรวจสอบเส้นทางเดินรถได้ตลอด 24 ชั่วโมง และ ถ้ารถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย คันใดไม่ติด ตั้งระบบจีพีเอสให้สามารถเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมของกรอ. ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย”
ทั้งนี้ ตามแผน 5 ปีกรอ.จะเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย โดยเพิ่มบทลงโทษผู้ลักลอบทิ้งขยะหรือกากอุตสาหกรรมทั้งที่อันตรายและไม่อันตราย จากปัจจุบัน มีเพียงการปรับเป็นเงินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท อายุความ 1 ปี ไม่มีโทษจำคุก เป็นเพิ่มโทษจำคุกเป็น 2 ปี ปรับ 200,000 บาท และให้คดีความมีอายุความ 10 ปี และขณะนี้กรอ.กำลังศึกษาพื้นที่เพื่อใช้เป็นสถานที่กำจัดกากอุตสาหกรรม ใน 6 พื้นที่ คือภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้และภาคอีสาน เพื่อให้การกำจัดกากอุตสาหกรรมดำเนินการได้ในทุกพื้นที่ |
|