สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

สารเบนซีนกับสุขภาพประชาชนรอบมาบตาพุด

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันที่: 15 ก.พ. 2551

            เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นพ.กำจัด รามกูล ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักโรคฯได้ตรวจสุขภาพประชาชนที่อาศัยอยู่ 25 ชุมชน รอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง จำนวน 2,177 คน โดยตรวจหาสารประกอบอินทรีย์ระเหย (วีโอซี) ในปัสสาวะ แล้วนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ ได้ผลสรุปที่น่าสนใจว่า ประชาชน 329 คน มีค่าเบนซีนในปัสสาวะสูงมากอย่างมีนัยสำคัญ จึงได้นำชาวบ้านทั้ง 329 คน ไปตรวจทั้งเลือดและปัสสาวะซ้ำอีกครั้ง แต่ยังไม่ทราบผลตรวจ

            "เป็นห่วงว่ากลุ่มตัวอย่างจะป่วยเกี่ยวกับโรคทางสมอง โรคเลือด และไอคิวต่ำกรณีที่เกิดกับเด็ก แต่ที่กลัวมากที่สุดคือ มะเร็งในเม็ดเลือดขาว หากผลการตรวจออกมาจะได้วางแผนแก้ไขปัญหาต่อไป" นพ.กำจัดกล่าว และว่า เป็นที่น่ายินดีว่าในกฎหมายสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยเรื่องการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้กำหนดว่า การก่อสร้างและอุตสาหกรรม 22 ชนิด เช่น เหมืองแร่ โรงแรม โรงถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้า ฯลฯ จะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ทั้งก่อน หลัง และระหว่างดำเนินการกิจการนั้นๆ ด้วย โดยให้บริษัทที่ปรึกษาจัดทำเอชไอเอ และให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมควบคุมโรคพิจารณา

            นพ.กำจัด กล่าวว่า เบื้องต้นคือบริษัทจะต้องตรวจสุขภาพของประชาชนที่อยู่รอบบริเวณพื้นที่โรงงานที่ผ่านอีไอเอแล้ว และนำไปเปรียบเทียบระหว่างและหลังการก่อสร้างเป็นระยะ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์โดยตรง

            ความคืบหน้าวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นพ.กำจัด รามกุล ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องผลกระทบจากสุขภาพอนามัยของประชาชนจากมลพิษสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.ระยองว่า จากปัญหาผลกระทบทางด้านอนามัยของสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งมีหลายกรณี เช่น พื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ที่ยังอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหา และกรณีอื่นๆ

            ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทางด้านสุขภาพต่อการทำกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมจะต้องมีกลไกที่คอยดูแล และสร้างความมั่นใจเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพ

            กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดทำร่าง ระเบียบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Assessment) ขึ้น โดยจะบังคับใช้กับอุตสาห กรรม 22 ประเภท อาทิ ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า คมนาคมขนส่ง การสร้างโรงแรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก

            ร่างระเบียบดังกล่าวจะใช้เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการทำการประเมินรายงานวิเคราะห์ผลกระทบส่วนอื่นๆ โดยระเบียบที่คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมที่จะบังคับใช้ในปีนี้ คือรายละเอียดผลกระทบทางจากโครงการประเภทเหมืองแร่

            ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อบังคับนี้ กรมควบคุมโรคจะมีหน้าที่โดยตรง เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลกระทบต่อสุขภาพกับชุมชนใกล้เคียงและส่งความ เห็นไปยัง สผ. เพื่อเป็นแนวทางพิจารณา ร่วมกับการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งอยู่ในความรับผิด ชอบของทางสผ.อยู่แล้ว

            “เราพยายามจะให้เกิดความสมดุลระหว่างสุขภาพประชาชนกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มาตรฐานของเราคงไม่สามารถเทียบเท่าได้กับมาตรฐานของอเมริกาหรือยุโรป” น.พ.กำจัดกล่าว

            ล่าสุดได้ทำการตรวจซ้ำ พร้อมกันนี้จะศึกษาแนวบ่งชี้ว่าแหล่งกำเนิดที่ทำให้ตรวจพบวารอินทรีย์ระเหยง่าย โดยจะร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณีด้วย ส่วนสารโทลูอีน และสไตรีนที่พบปะปนอยู่ในปัสสาวะนั้นมีไม่มากนัก พบเพียงแค่ 1.4% และ 0.6% ตามลำดับ ซึ่งพบสาร Benzene มากที่ชุมชนมาบข่า ห้วยโป่ง

            ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้จัดการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ระยองมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่งการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมอย่างเดียว จะเห็นได้ว่าอัตรารายได้เฉลี่ยของชาวระยองอยู่ที่ 21,083 บาทต่อเดือน แต่กลับมีสัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้สิน คนจน และอัตราการว่างงานสูงกว่าจังหวัดอื่น

            ดังนั้นในดัชนีความก้าวหน้าของคนดัชนีด้านรายได้ในภาพรวมของจังหวัดรั้งไปอยู่ที่อันดับที่ 241 ทั้งที่มีรายได้ต่อหัวสูงสุดในประเทศ

            อย่างไรก็ตาม ขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาของระยองแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลักจึงไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาของภาคเศรษฐกิจอื่น ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น และความเข้มแข็งดังกล่าวไม่ได้หยั่งรากลึกไปในระดับชุมชนจึงทำให้อัตราหนี้สินต่อครัวเรือนค่อนข้างสูงมาก


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์  2551

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Benzene
Toluene
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:2

What a neat atircle. I had no inkling.

โดย:  Bessie  [28 ก.ย. 2555 02:07]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น