สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
สารเคมีที่เป็นข่าวระดับโลก

หายนะภัยโบพาล : ผลของการเลือก “เงิน” มากกว่า “ความปลอดภัย”

ผู้เขียน: วลัยพร มุขสุวรรณ
หน่วยงาน: หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย
วันที่: 2 ธ.ค. 2557


3 ธันวาคมปีนี้จะครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์โรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ อินเดีย ที่เมืองโบพาลระเบิด เหตุการณ์นี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหายนะภัยที่ร้ายแรงที่สุดของวงการอุตสาหกรรมโลกเลยทีเดียว

โรงงานของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ อินเดีย จำกัด ที่เมืองโบพาลแห่งนี้เป็นบริษัทลูกของบริษัทสหรัฐอเมริกาชื่อ ยูเนียนคาร์ไบด์ คอร์ปอเรชัน ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2512 ทำการผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เรียกว่า เซวิน (Sevin) โดยการผสมสารแอลฟาแนพทอล (alpha naphthol) กับเมทิลไอโซไซยาเนต (methyl isocyanate, MIC) การผลิตในช่วงแรกโรงงานนำเข้าสาร MIC จากสหรัฐอเมริกามาผสมในโบพาล ต่อมายูเนียนคาร์ไบด์ คอร์ปอเรชัน ตัดสินใจสร้างหน่วยผลิต MIC ในโรงงานแห่งนี้ โดยเทคโนโลยีและการควบคุมการผลิตอยู่ภายใต้การดูแลของยูเนียนคาร์ไบด์ คอร์ปอเรชันทั้งหมด เนื่องจากในอินเดียไม่มีเทคโนโลยีการผลิต MIC

ในปี พ.ศ. 2522 หน่วยผลิตใหม่นี้ได้ เริ่มต้นทำการผลิตสาร MIC และมาเกิดอุบัติภัยถังเก็บสาร MIC ระเบิดช่วงหลังเที่ยงคืนย่างเข้าสู่วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2527 ก๊าซพิษจำนวนมหาศาลฟุ้งกระจายปกคลุมไปทั่วเมือง องค์กรอิสระที่ทำงานในพื้นที่ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตสัปดาห์แรกประมาณ 8,000 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตในคืนแรก 2,259 คน และทยอยเสียชีวิตภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก โดยจากสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุสืบเนื่องจากผลกระทบของอุบัติภัยครั้งดังกล่าวของทางการท้องถิ่นนับจากวันเกิดเหตุจนถึงปี พ.ศ. 2542 มีจำนวนกว่า 22,000 คน จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีการประเมินว่าในช่วงเกิดเหตุนั้นมีผู้ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 500,000 คน

ปัจจุบันซากโรงงานยังคงถูกทิ้งร้างอยู่ที่เดิม และกลายเป็นแหล่งปล่อยสารพิษปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา

ถังเก็บ MIC ระเบิดได้อย่างไร?

โรงงานแห่งนี้มีถังเก็บ MIC 3 ถัง คือ E610 E611 และ E619 มีสารเก็บอยู่ในถัง E610 40 ตัน ถัง E611 15 ตัน ส่วนถัง E619 ไม่มีสารเก็บอยู่ ปรากฏว่าในคืนนั้นมีน้ำรั่วไหลผ่านวาล์วปรับความดันเข้าไปในถัง E610 แล้วทำปฏิกิริยากับ MIC คายความร้อนออกมาจนไม่สามารถควบคุมได้ (Runaway heat producing reaction) นำไปสู่การระเบิดอย่างรุนแรงในที่สุด และปล่อยม่านหมอกก๊าซพิษ MIC ไฮโดรเจนไซยาไนด์ โมโนเมทิลเอมีน ปกคลุมไปทั้งเมืองโบพาล

ย้อนหลังกลับไปในเดือนพฤษภาคม 2527 วิศวกรชาวอเมริกันที่ควบคุมดูแลหน่วยผลิตได้ปรับแก้ระบบความปลอดภัยในกระบวนการผลิตของโรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง โดยการต่อท่อเชื่อมหัววาล์วระบายแรงดัน (relief valve header) กับหัวระบายแรงดันทิ้ง (pressure vent header) และปล่อยให้น้ำที่ใช้ทำความสะอาดท่อประจำวันไหลผ่านวาล์วทั้งสอง เมื่อวาล์วระบายแรงดันเกิดรั่วขึ้นมาในคืนนั้นจึงทำให้น้ำไหลเข้าไปในถัง E610 ได้

แม้ว่าโรงงานแห่งนี้ได้ออกแบบระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันและเตือนภัยก๊าซรั่ว ซึ่งประกอบด้วย 6 มาตรการ แต่ในวันเกิดเหตุมาตรการเหล่านี้ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมทำงานได้ กล่าวคือ 1) หอเผาก๊าซทิ้ง (Flare) ไม่มีการต่อท่อเชื่อม 2) อุปกรณ์ดักจับก๊าซระบายทิ้ง (Vent Gas Scrubber) ไม่มีโซดาไฟและไม่มีถังเพียงพอเก็บก๊าซ MIC ปริมาณมหาศาลที่ออกมาได้ 3) ม่านน้ำไม่ทำงานและความสูงที่ออกแบบไว้ไม่เพียงพอ 4) วาล์วระบายแรงดันรั่ว 5) ถังเก็บก๊าซล้น (Run off tank) บรรจุสาร MIC ไว้แล้ว และ 6) ระบบหล่อเย็นถังเก็บ MIC อยู่ในช่วงหยุดการทำงาน 3 เดือนเพื่อประหยัดงบประมาณ อย่างไรก็ตาม แม้ระบบที่เตรียมไว้ทั้งหมดทำงานเต็มกำลังก็ยังพบว่ายังไม่มีความสามารถเพียงพอยับยั้งความรุนแรงของอุบัติภัยครั้งนี้ได้

ผลกำไรกับความปลอดภัย

ผลกำไรมักเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องความปลอดภัย เพราะถ้าผู้บริหารองค์กรเลือกให้ความสำคัญกับผลกำไรหรือตัวเงินมากกว่าเมื่อใด เรื่องความปลอดภัยจะเป็นเรื่องรองทันที รากเหง้าที่ทำให้เกิดหายนะภัยโบพาลเป็นเครื่องยืนยันในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี การออกแบบระบบความปลอดภัยเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินที่มีความสามารถไม่เพียงพอรองรับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ การบริหารจัดการระบบความปลอดภัยและระบบการผลิตไม่สอดคล้องกัน ในขณะที่มีการผลิตสาร MIC เก็บไว้ในถังจำนวนมาก แต่กลับไม่มีการเดินระบบป้องกันและเตือนภัยก๊าซรั่ว รวมทั้งการปล่อยให้น้ำไหลผ่านวาล์วระบายแรงดันที่ต่อกับถังเก็บ MIC ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นได้เมื่อผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ทำให้ละเลยในเรื่องเหล่านี้และคิดเข้าข้างตัวเองในทำนองเรื่องร้าย ๆ คงไม่เกิดขึ้น วาล์วคงไม่รั่วแน่นอน เหตุการณ์นี้จึงเป็นบทเรียนราคาแสนแพงสำหรับโลกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะของสหรัฐอเมริกา จนนำไปสู่การออกกฎหมาย Emergency Planning and Community Right-to-Know Act ในปี พ.ศ. 2529 ขึ้นมา

อันตรายต่อสุขภาพของสาร MIC

อันตรายสาร MIC ต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน (0-6 เดือนหลังจากได้รับสาร) คือ เยื่อบุตาบวมแดง น้ำตาไหล ตาเป็นแผลเปื่อย ตาสู้แสงไม่ได้ หายใจลำบาก ปอดบวมน้ำ ปอดอักเสบ มีอากาศหรือก๊าซขังในเยื่อหุ้มปอด ท้องเสียอย่างรุนแรง เบื่ออาหาร ปวดท้องอย่างรุนแรง โครโมโซมผิดปกติเพิ่มขึ้น มีอาการวิตกกังวล มีปัญหาในการปรับตัว การมองเห็นและการได้ยินบกพร่อง ความระมัดระวังลดลง การตอบสนองช้า ความสามารถในการใช้เหตุผลลดลง การเคลื่อนไหวผิดปกติ

สำหรับอันตรายในระยะยาวหรือแบบเรื้อรัง พบว่าจะมีอาการแก้วตาขุ่น เป็นโรคเยื่อตาขาวอักเสบเรื้อรัง โรคในกลุ่มโรคหลอดลมมีความไวผิดปกติ ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง ตั้งครรภ์ยาก เพิ่มอัตราการตายของทารก ทารกในครรภ์น้ำหนักน้อย โครโมโซมผิดปกติ ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง

เครดิตภาพ: The Bhopal Medical Appeal  และ International Campaign for Justice in Bhopal

ที่มาข้อมูล: Rangaprasad Sarangrajan and Brinda Mahadevan, Chronology of Events of the 1984 Bhopal Accident [online] 25 Nov 2014

International Campaign for Justice in Bhopal, www.bhopal.net

Andrew Johnson, Bhopal 30 years on: The women of India are battling the poisonous legacy of the world’s worst industrial accident, The Independent, 1 Dec 2014


โรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ อินเดีย ในเมืองโบพาล

ผังแสดงระบบป้องกันอุบัติภัยของหน่วยผลิตเมทิลไอโซไซยาเนต
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Hydrogen cyanide
Methylamine
Methyl isocyanate
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น