สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

ไปให้ถึงฝัน อุตสาหกรรมต้องจัดการสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 19 ก.ค. 2549
 ไปให้ถึงฝัน อุตสาหกรรมต้องจัดการสิ่งแวดล้อม


          7 ฝันของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ในช่วงปีแรก ๆ ของการเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้น กล่าวไว้ว่า ฝันที่หนึ่ง คือ การมีรากฐานพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคง ฝันที่สอง คือ การมีบทบาทเชิงรุกในเวทีระหว่างประเทศ ฝันที่สาม คือ ความเป็นเลิศของกลุ่มสินค้าในตลาดโลก ฝันที่สี่อยากเห็นประเทศมีความสามารถทางนวัตกรรม ฝันที่ห้า คือ การเป็นสังคมผู้ประกอบการ ฝันที่หก คือ การเป็นสังคมที่มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม และฝันที่เจ็ด คือ การเป็นสังคมที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี

          หากวิเคราะห์ไปถึงยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ก็มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าจะลองนำฝันที่กล่าวข้างต้นมามองในมิติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยแล้ว ประเด็นสิ่งแวดล้อมจะแทรกตัวอยู่ในทุกฝันที่ไม่ควรมองข้าม ถ้าเราจะไปถึงฝันที่หนึ่งที่ประเทศมีรากฐานพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคง ก็ต้องแปลความว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงมีสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย และจะยั่งยืนได้ก็ควรอยู่บนฐานของการมีนโยบายแบบบูรณาการในมิติต่าง ๆ บนฐานความรู้ มิฉะนั้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจบางเรื่องอาจเป็นการย้ายที่ของปัญหามลภาวะมาลงที่ประเทศไทยก็ได้ การที่ประเทศจะมีบทบาทเชิงรุกในเวทีระหว่างประเทศตามฝันที่สอง เราคงต้องมีความรู้เท่าทันในพันธะกรณี ทั้งแบบพหุภาคีและทวิภาคีรวมทั้งนโยบายของประเทศคู่ค้า ประเด็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมกับการค้ายังคงต้องเดินคู่กันไป หากจะฝันให้ไทยมีความเป็นเลิศของกลุ่มสินค้าในตลาดโลก เราจะละเลยเสียมิได้เรื่องมาตรฐานคุณภาพด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาพูดกันถึงสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-product) ที่ต้องตั้งต้นตั้งแต่การออกแบบ (Eco-design) ส่วนฝันที่จะให้ไทยเป็นสังคมผู้ประกอบการคงไม่ได้มองแต่เพียงว่ารู้จักค้าขายสร้างรายได้เป็น แต่ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ตระหนักในปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายไทยจะเป็นสังคมที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี น่าจะรวมความว่าเป็นสังคมที่มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เป็นสังคมที่ผู้บริโภคมีความเข้มแข็งรู้จักเลือกการอุปโภคบริโภค

          บริบทโลกกำลังเปลี่ยนไป ตลาดโลกมีการแข่งขันอย่างเสรีทำให้เกิดกฎกติกาและมาตรฐานสากลขึ้นมามากมาย ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจไม่ใช่แค่การสร้างผลกำไร แต่กำลังมีแนวโน้มที่ธุรกิจจะหันมารับผิดชอบต่อประเด็นทางสังคมมากขึ้น ให้คุณค่าใหม่ ๆ เช่น ความเป็นธรรมาภิบาล ขณะที่ภาครัฐเองก็กำลังสนใจมากกว่ารายงานทางการเงิน ในหลายประเทศกำลังถามหารายงานผลการดำเนินธุรกิจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย แนวคิดของการจัดการสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปตามพัฒนาการและยุคสมัย 50 ปีก่อนหน้านี้เน้นการจัดการที่ปลายท่อ คือ ไปดูแลการปล่อยของเสีย ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือทางกฎหมาย การแก้ปัญหาในลักษณะนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงและอาจไม่ได้ผลถ้าการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ กระบวนทัศน์ของการจัดการในระยะต่อมาคือประมาณทศวรรษ 1990 แนวคิดเรื่องเทคโนโลยีสะอาดที่มีหลักคิดของการป้องกันการเกิดมลภาวะได้เข้ามาเป็นเครื่องมือในการจัดการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแทนการจัดการปลายท่อ เมื่อมาถึงทศวรรษ 2000 กระบวนทัศน์การจัดการเชิงระบบเข้ามาแทนที่ โดยมีหลักการดูแลตลอดวัฎจักรของผลิตภัณฑ์ภายใต้หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน เครื่องมือใหม่ ๆ ในการจัดการสิ่งแวดล้อมถูกพัฒนาขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรม เริ่มจากความสมัครใจจนบางเรื่องก็ได้กลายเป็นมาตรการบังคับในบางประเทศไปแล้ว

            อุตสาหกรรมในประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแก้ปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อมพร้อม ๆ กัน คือทั้ง 3 ยุคของการพัฒนาวิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศพัฒนาแล้วได้มารวมกันอยู่ในประเทศไทย ซึ่งยังไม่ทันได้เรียนรู้แนวคิดของแต่ละยุคสมัยของพัฒนาการ วิธีการใหม่ ๆ ก็เข้ามาแล้ว การจัดการจึงยังมีหลายระดับเดินหน้าอยู่แล้วเราจะก้าวกระโดดได้อย่างไร การจัดการด้านสารเคมีซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการผลิตก็เปลี่ยนจากบทบาทของภาครัฐเพื่อประเมินความเสี่ยง มาเป็นบทบาทความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมและบริการที่จะต้องลดความเสี่ยงทั้งในตัวสารเคมีและสารเคมีในผลิตภัณฑ์ ณ ปัจจุบันการจัดการจะอยู่ในรูปของการบูรณาการเพื่อความยั่งยืน ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญในการกำหนดซื้อสินค้า คำว่า การประเมินวัฎจักรชีวิตของสินค้า (Life Cycle Assessment: LCA) ไม่ได้ดูเฉพาะที่การผลิตแต่รวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง การใช้งาน การแปรรูปและการจัดการซากด้วย มิฉะนั้นภาระที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ของมลพิษ อุบัติภัย การฟื้นฟู ค่าใช้จ่ายในการบังคับใช้กฎหมาย ไกลไปถึงการสูญเสียคุณค่าของพื้นดิน และการเกิดภาวะโลกร้อน ก็จะยังเป็นภาระแฝงที่รัฐยังคงต้องแบกรับทั้งหมด ซึ่งก็เป็นที่มาของนโยบายใหม่ว่าด้วยสารเคมีของประชาคมยุโรป (EU) ที่ต้องการกำหนดระเบียบบังคับใช้กับสารเคมีทุกประเภทให้เป็นระบบเดียว (REACH) อุตสาหกรรมไทยที่ค้าขายกับ EU ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

            ได้มีความพยายามพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ของการจัดการสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมขึ้นหลายวิธี เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) หรือการผลิตที่สะอาด (Clean Productivity) เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถประหยัดการใช้ทรัพยากร ลดมลพิษและลดต้นทุนการผลิต แต่ถ้าจะหากลยุทธที่จะเร่งให้เกิดการจัดการได้เร็วและกว้างขวางขึ้น การจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านห่วงโซ่อุปทาน (Greening the Supply Chain) น่าจะช่วยได้ โดยให้องค์กรใหญ่ที่มีอำนาจในการซื้อช่วยยกระดับการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรเล็กที่เป็นคู่ค้าให้ดีขึ้น การจัดการแบบห่วงโซ่อุปทานนี้เป็นกลยุทธด้านการบริหารเชิงธุรกิจที่สามารถดำเนินควบคู่กับด้านสิ่งแวดล้อมได้ บริษัทข้ามชาติในต่างประเทศโดยเฉพาะในประชาคมยุโรปให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก โดยบริษัทผู้ซื้อต้องคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีหรือสามารถผลิตได้ตามสเปค เบนชมาร์กกิ้ง (Benchmarking) เป็นวิธีการจัดการอีกวิธีหนึ่งที่ใช้การเปรียบเทียบผลการจัดการธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศมาปรับปรุงองค์กรของตน LCA เป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์อย่างไม่มีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์และระยะเวลา LCA จึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการและผลิตภัณฑ์ และนำไปสู่การสร้าง “ฉลากเขียว หรือ ฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-label) ” ฯลฯ ใช้เป็นกลไกทางการตลาด ผลักดันให้ผู้ผลิตปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตในระยะยาวได้ การจัดทำรายงานผลการดำเนินธุรกิจต่อสาธารณะก็เป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่ธุรกิจอุตสาหกรรมใช้เพื่อรายงานต่อสาธารณะไม่เฉพาะการเงินเท่านั้น แต่รายงานผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ตามแนวทางของ Global Reporting Initiative : GRI นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาแนวทางประกอบธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม ( Corporate Social Responsibility : CSR) ซึ่งรวมเรื่องของการให้ความสำคัญต่อการทำธุรกิจที่มิใช่เพียงทำตามกฎหมายเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

           ตัวอย่างของวิธีการจัดการแนวใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นบ้างแล้วในประเทศไทย ส่วนใหญ่ริเริ่มโดยองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความสามารถและให้ความสำคัญในระดับนโยบาย การรวมตัวเป็นคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย เมื่อปี 2536 ตั้งเป้าไว้ว่าจะเสริมสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่องค์กรธุรกิจ กลุ่ม Responsible Care ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็มีผลการดำเนินงานเชิงรุก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องมือการจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ โดยสนับสนุนการวิจัยให้เป็นต้นแบบนำร่องไปก่อนแล้วหลายเรื่อง เช่น การสนับสนุนให้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยพัฒนาวิธีการจัดการห่วงโซ่อุปทานร่วมกับภาคเอกชนใหญ่ ๆ เช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนนครหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทแอ็ดวานซ์อะโกร จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โครงการนักรบสิ่งแวดล้อมก็เป็นโครงการที่น่าชื่นชมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมควบคุมมลพิษ ที่ให้อาสาสมัครนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากการเรียนรู้ของนักศึกษาแล้วก็เป็นการกระตุ้นให้โรงงานอุตสาหกรรมตื่นตัวรับผิดชอบกับมลพิษที่ปล่อยออกมาด้วย การดึงสถาบันการศึกษาเข้ามานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องควรทำ แต่การพัฒนาความรู้ที่ทันสมัยของสถาบันการศึกษาก็จำเป็น โครงการนี้เป็นการจัดการแบบปลายท่อ หากสามารถยกระดับการจัดการให้สูงขึ้นกว่านี้ด้วยแนวคิดและวิธีการดังตัวอย่างที่กล่าวถึง พลังของนักศึกษาและสถาบันการศึกษาน่าจะช่วยให้การจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมก้าวกระโดดไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืนได้เร็วขึ้น

           การพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนและแข่งขัน จะสัมฤทธิ์ผลได้ต้องขึ้นกับความมุ่งมั่นของผู้บริหารที่ทำด้วยความมีจิตสำนึกที่ดี มิใช่เพื่อภาพพจน์ของธุรกิจเท่านั้น การดำเนินการและการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมก็จะรวมเป็นเนื้อเดียวกับการดำเนินธุรกิจ การปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มสมรรถนะขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศภายใต้เงื่อนไขการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ทางเทคนิคพร้อมกับสร้างความเข้าใจและจิตสำนึกให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง มิฉะนั้นอุตสาหกรรมไทยจะไปไม่ถึงฝันหากละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

The ability to think like that is alywas a joy to behold

โดย:  Hugo  [24 ส.ค. 2555 22:05]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น