สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

สถานการณ์ระบบข้อมูลสารเคมีและของเสียอันตรายของประเทศไทย พ.ศ. 2545 - 2548

ผู้เขียน: วลัยพร มุขสุวรรณ  และวราพรรณ ด่านอุตรา
หน่วยงาน: หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 12 มี.ค. 2550

สถานการณ์ระบบข้อมูลสารเคมีและของเสียอันตรายของประเทศไทย พ.ศ. 2545 - 2548


[รายงานนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ระบบข้อมูลสารเคมีและของเสียอันตราย ส่วนที่ 2 สถานการณ์การเคลื่อนไหวของสารเคมีและของเสียในประเทศไทย และส่วนที่ 3 บทส่งท้าย ส่วนที่นำเสนอต่อจากนี้เป็นรายงานในส่วนที่ 3]

                จากระบบติดตามข้อมูลสารเคมีเชิงปริมาณที่ได้นำเสนอไว้ในส่วนที่ 1 หากนำมาเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมของสถานภาพหรือความเป็นไปได้ของระบบในการติดตามปริมาณสารอันตรายชนิดใดชนิดหนึ่งตั้งแต่ต้นทางที่ปรากฏ ตลอดไปจนถึงปลายทางของสารนี้ในขอบเขตประเทศไทย

                คำถาม ปีนี้มีการใช้สาร ก ปริมาณเท่าใดในประเทศไทย ใช้ที่ใด? โดยใคร? อย่างไร?

                โดยหลักการปริมาณสารอันตรายชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ จะเท่ากับปริมาณสารนั้นที่นำเข้ารวมกับปริมาณที่ผลิตขึ้นในประเทศลบออกด้วยปริมาณส่งออก (รูปที่ 3-1)

                                                                         รูปที่ 3-1 การเคลื่อนไหวสารเคมีเข้า - ออก และสะสมในประเทศ

               
ปริมาณสะสมในประเทศ = ปริมาณนำเข้า + ปริมาณที่ผลิตในประเทศ ปริมาณส่งออก

               

                เนื่องจากการประกอบการเกี่ยวกับสารเคมีมีทั้งในรูปของสารเดี่ยว ๆ และสารที่ผสมรวมไปในเคมีภัณฑ์ผสม และสารที่เจือปนไปกับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (ผลิตภัณฑ์สุดท้ายเพื่อการใช้งานของผู้บริโภคทั่วไป) ดังนั้นในส่วนของการนำเข้าและส่งออกสารชนิดใดจึงต้องรวมปริมาณสารนั้นที่ผสมหรือเจือปนอยู่กับสินค้าที่ส่งออกไปหรือนำเข้ามาด้วย ปริมาณสารที่สะสมในประเทศยังจำแนกต่อได้เป็นปริมาณสารที่ถูกครอบครองเพื่อรอการใช้งาน ปริมาณสารที่เจือปนอยู่ในของเสีย (น้ำเสีย อากาศเสีย และกากของเสีย) และปริมาณที่เจือปนอยู่ในผลิตภัณฑ์

                เมื่อเชื่อมโยงเข้ากับระบบติดตามข้อมูลสารเคมีที่มีข้อกำหนดไว้ตามกฎหมายและมีการดำเนินการในปัจจุบัน สรุปได้ดังตารางที่ 3-1

 

ตารางที่ 3-1 ระบบติดตามข้อมูลสารเคมีที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

 

ข้อมูล

ลักษณะข้อมูล

หน่วยงานและรายการสารเคมีที่มีข้อมูล

ปริมาณนำเข้า

ข้อมูลประมาณการต่อปีจากการขออนุญาตและแจ้งดำเนินการ

หน่วยควบคุมตาม พรบ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

วัตถุอันตรายชนิดที่ 2,3

 

ข้อมูลจริง

กรมศุลกากร ทั้งสารเดี่ยว ในสารผสม และ

ในผลิตภัณฑ์ (น้ำหนักสินค้า)

กรมวิชาการเกษตร วัตถุอันตรายชนิดที่ 2,3

ปริมาณผลิตในประเทศ

ข้อมูลประมาณการต่อปีจากการขออนุญาตและแจ้งดำเนินการ

หน่วยควบคุมตาม พรบ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

วัตถุอันตรายชนิดที่ 2,3

 

ข้อมูลจริง

กรมโรงงานอุตสาหกรรม - 53 รายการ

กรมวิชาการเกษตร - วัตถุอันตรายชนิดที่ 2,3

ปริมาณส่งออก

ข้อมูลประมาณการต่อปีจากการขออนุญาตและแจ้งดำเนินการ

หน่วยควบคุมตาม พรบ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

วัตถุอันตรายชนิดที่ 2,3

 

ข้อมูลจริง

กรมศุลกากร ทั้งสารเดี่ยว ในสารผสม และ

ในผลิตภัณฑ์  (น้ำหนักสินค้า)

ปริมาณครอบครอง

ข้อมูลประมาณการต่อปีจากการขออนุญาตและแจ้งดำเนินการ

หน่วยควบคุมตาม พรบ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

วัตถุอันตรายชนิดที่ 2,3

 

 

ข้อมูลจริง

กรมโรงงานอุตสาหกรรม - 53 รายการ

กรมวิชาการเกษตร - วัตถุอันตรายชนิดที่ 3

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 1,653 รายการ

ปริมาณเจือปนในของเสีย

 

กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีข้อมูลชนิดและปริมาณของเสีย แต่ไม่มีข้อมูลองค์ประกอบสารในของเสีย

ปริมาณเจือปนในผลิตภัณฑ์
ที่อยู่ในประเทศ

 

ไม่มีระบบติดตาม


                จากตารางที่ 3-1 จะเห็นว่าการติดตามข้อมูลปริมาณของสารหนึ่งสารใดพอจะกระทำได้ที่ต้นทางคือ การนำเข้าและการผลิตในประเทศ ตลอดมาจนถึงกลางทางคือการครอบครอง ตามระบบที่มีอยู่แต่จะไม่สมบูรณ์ ส่วนปลายทางคือส่วนที่เจือปนในของเสียและผลิตภัณฑ์จะติดตามได้อย่างจำกัดมาก

                สรุปการติดตามปริมาณความเคลื่อนไหวสารเคมีด้วยระบบที่มีในปัจจุบันและข้อจำกัดมีดังนี้

                1. การติดตามข้อมูลสารที่นำเข้า/ส่งออก

                กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานสำคัญซึ่งดำเนินการติดตามชนิดและปริมาณสินค้าที่นำเข้าและส่งออกด้วยระบบฮาร์โมไนซ์ การรายงานสามารถจะระบุได้ชัดเจนหากพิกัดรหัสสถิติสินค้าเป็นสารเดี่ยว ระบบปัจจุบันมีการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกวัตถุอันตรายโดยรวมมากกว่า 2,000 รายการที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ เช่น พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย และพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดการควบคุมเฉพาะกิจ เช่น กรณีสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด สำหรับการติดตามรายการที่เป็นสารกลุ่มแม้ระบบฮาร์โมไนซ์จะไม่เอื้อ แต่หน่วยงานที่ควบคุมก็สามารถประสานงานกับกรมศุลกากรเพื่อปรับปรุงระบบประสานงานข้อมูลการนำเข้าสารเคมีและวัตถุอันตรายที่ร่วมกันพัฒนาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เพื่อติดตามข้อมูลปริมาณสารหนึ่ง ๆ ที่นำเข้าจริง หน่วยงานควบคุมสามารถนำข้อมูลการนำเข้าจากกรมศุลกากรซึ่งเป็นน้ำหนักรวมของเคมีภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ มาเปรียบเทียบกับข้อมูลการอนุญาตและแจ้งดำเนินการ และเชื่อมโยงไปยังข้อมูลสัดส่วนองค์ประกอบเคมีภัณฑ์ผ่านทะเบียนวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งจะคำนวณปริมาณสารเคมีองค์ประกอบแต่ละชนิดที่นำเข้ามาจริงได้ การดำเนินงานส่วนนี้หน่วยงานควบคุมอาจยังไม่มีระบบปฏิบัติการรองรับในทันที แต่ก็สามารถพิจารณาจากหน้าที่รับผิดชอบได้ว่า ควรมีการพัฒนาเพิ่มเติมอย่างไรทั้งในแง่เทคนิคและกฎหมายรองรับ

                โดยที่การติดตามวัตถุอันตรายมีหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน การดำเนินงานจำเป็นต้องทำให้เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจกล่าวได้ว่ามีกฎหมายรองรับการดำเนินงานอยู่แล้ว กล่าวคือในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องอยู่หลายมาตรา ได้แก่

                          มาตรา 6 กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ

                          มาตรา 7 กำหนดอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

                          มาตรา 13 ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้

                          มาตรา 17 ให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานในเรื่องข้อมูลของวัตถุอันตรายกับส่วนราชการต่าง ๆ รวมทั้งจากภาคเอกชน เพื่อรวบรวมและให้บริการข้อมูลทุกชนิดเกี่ยวกับวัตถุอันตรายตั้งแต่การมีอยู่ในต่างประเทศ การนำเข้าหรือการผลิตภายในประเทศ การเคลื่อนย้าย การใช้สอย และการอื่นใดอันเกี่ยวเนื่อง
                
               
หากพิจารณาพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายจะเห็นว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติไว้กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งตามมาตรา 6, 7 และ 13 กล่าวได้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจและหน้าที่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด ติดตามการนำเข้า การส่งออก การผลิต และการครอบครองวัตถุอันตราย นอกจากนี้ยังมีศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายที่เป็นศูนย์กลางประสานงานในเรื่องข้อมูลวัตถุอันตราย ในส่วนนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีความพยายามในการประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยในปี พ.ศ. 2549 ได้จัดทำโครงการการพัฒนาฐานข้อมูลและเครือข่ายข้อมูลสารเคมีแห่งชาติขึ้นภายใต้แผนแม่บทความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการประชาชนด้านข้อมูลวัตถุอันตรายและสารเคมี เป็นศูนย์กลางข้อมูลและศูนย์กลางเครือข่ายข้อมูลวัตถุอันตรายภาครัฐและเอกชน สนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสารเคมีวัตถุอันตรายของภาครัฐ และสนับสนุนงานแบบรัฐอิเล็กทรอนิกส์ โครงการนี้ประกอบด้วย 4 กลุ่มงานคือ 1) ประสานเครือข่ายเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลสารเคมี 2) นำเสนอเครือข่ายแหล่งข้อมูลสารเคมีผ่านระบบอินเตอร์เน็ต 3) พัฒนาระบบกำกับการขนส่งวัตถุอันตรายและของเสียเคมีวัตถุ และ 4) พัฒนาข้อมูลความปลอดภัยวัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรม โครงการนี้จะใช้เวลาดำเนินงาน 10 เดือน คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จต้นปี พ.ศ. 2550 ผลจากโครงการดังกล่าวอาจเป็นก้าวที่สำคัญที่จะช่วยให้การเชื่อมโยงข้อมูลสารเคมีระหว่างหน่วยงานควบคุมผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นจริงขึ้นได้

                อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งคือ ในปี พ.ศ. 2547[1] โดยการเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสารเคมีของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรรี คณะที่ 2.2 (คกก. 2.2) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2547 คกก. 2.2 ได้มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณามาตรการดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาทบทวนแผนแม่บทต่าง ๆ ต่อมาจากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายและการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุญาต การติดตาม เฝ้าระวัง เกี่ยวกับสารเคมีและวัตถุอันตราย พบว่ายังมีปัญหาอุปสรรคบางประการในการบูรณาการภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมติ คกก. 2.2 คณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการติดตามผลการนำเข้า ผลิต ครอบครอง และใช้วัตถุอันตราย ตามคำสั่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ 5/2548 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2548 และคำสั่งที่ 8/2548 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยมีอำนาจหน้าที่ คือ

                          1.   ดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำแผนการประสานงานเฉพาะในการติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากวัตถุอันตรายตั้งแต่การผลิต การนำเข้า ส่งออก การมีไว้ในครอบครอง และการกำจัด ทำลาย

                          2.   ติดตามประเมินแผนงาน โครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบเฝ้าระวังปัญหาผลกระทบจากวัตถุอันตรายที่มีต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

                          3.   รายงานสถานการณ์ปัญหา และเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากวัตถุอันตรายต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง

                          4.   ปฏิบัติการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมอบหมาย

                คณะอนุกรรมการติดตามผลการนำเข้า ผลิต ครอบครอง และใช้วัตถุอันตรายได้จัดทำ แผนประสานและติดตามผลการนำเข้า ผลิต ครอบครอง และใช้วัตถุอันตราย พ.ศ. 2549 – 2551 ซึ่งได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2550[2] แผนดังกล่าวได้กำหนดการดำเนินการ รวม 2 ยุทธศาตร์ คือ 

                          1.   ยุทธศาสตร์บูรณาการมาตรการ กำกับ ดูแล ติตาม เฝ้าระวัง และเชื่อมโยงข้อมูล มีมาตรการดำเนินการรวม 7 มาตรการ และมีแผนงาน / โครงการในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ รวม 40 แผนงาน

                          2.   ยุทธศาสตร์การให้ความรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ มีมาตรการดำเนินการ จำนวน 2 มาตรการและมีแผนงาน / โครงการ รวม 17 แผนงาน / โครงการ

ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ ในแผนประสานและติดตามฯ ที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีส่วนใดที่กล่าวถึงการติดตามข้อมูลการส่งออก ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้เกิดภาพที่สมบูรณ์ว่าความเคลื่อนไหวของวัตถุอันตรายเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดี ผู้จัดทำรายงานเห็นว่า หากมีระบบการติดตามข้อมูลการนำเข้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็อยู่ในวิสัยที่จะติดตามข้อมูลการส่งออกได้ด้วยระบบเดียวกัน อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลการนำเข้าและส่งออกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ การที่กรมศุลกากรประกาศให้มีการใช้ Harmonized Codes 2007 ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งจะกระทบกระเทือนกับพิกัดรหัสสถิติของเคมีภัณฑ์อันตราย และจำเป็นต้องมีการทำข้อมูลเปรียบเทียบต่อไป

นอกจากทีประชุมคณะรัฐมนตรีจะรับทราบให้มีการดำเนินงานตามแผน ฯ ที่เสนอแล้ว ที่ประชุมยังกำหนดให้มีการติดตามการดำเนินงานทุก 3 เดือน โดยจะมีการประชุมเพื่อประเมินผลการดำเนินการ และรายงานคณะกรรมการวัตถุอันตราย รวมทั้งจัดทำรายงานประจำปี เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไปด้วย แต่จากการสืบค้นเบื้องต้น ณ เดือนมกราคม พ.ศ. 2550 ผู้จัดทำรายงานยังไม่พบว่ามีการเผยแพร่รายงานผลการดำเนินงานจากแผนฯ ข้างต้น

                2. การติดตามข้อมูลการผลิต

                ข้อมูลการผลิตสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์เป็นข้อมูลที่ต้องดำเนินงานโดยหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานหลักคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมวิชาการเกษตร แต่ปัจจุบันอาจมีข้อมูลบางส่วน เช่น ข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ขออนุญาตตั้งโรงงานซึ่งต้องกรอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายและการผลิต แต่ไม่ปรากฎว่ามีรายงานเผยแพร่ในส่วนนี้ นอกจากนี้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งให้มีการแจ้งการผลิตวัตถุอันตราย 53 รายการทุก 6 เดือน ก็ไม่มีรายงานเผยแพร่เช่นเดียวกัน สำหรับกรมวิชาการเกษตรมีการติดตามการผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และ 3 แต่ไม่สมบูรณ์

                3. การติดตามปริมาณสารเคมีที่เก็บรวบรวมอยู่ (ครอบครอง) ในประเทศ

                สำหรับข้อมูลประมาณการสามารถหาได้ในลักษณะเดียวกับที่กล่าวข้างต้น ส่วนข้อมูลปริมาณการครอบครองจริงมีระบบติดตามข้อมูลที่ดำเนินการโดย 3 หน่วยงาน ได้แก่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีระบบติดตามการครอบครองวัตถุอันตราย 53 รายการ กรมวิชาการเกษตร ติดตามเฉพาะวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ติดตามสารเคมีที่เก็บอยู่ในสถานประกอบการ 1,653 รายการ ซึ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองแรงงานหรือลูกจ้างในสถานประกอบการภายใต้ประกาศกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ไม่มีรายงานเผยแพร่เช่นเดียวกัน

                4. การติดตามปริมาณสารเคมีที่เจือปนไปกับของเสีย

                พบว่าปัจจุบันยังไม่มีระบบติดตามข้อมูลสารเคมีที่เจือปนไปกับของเสียโดยตรง มีเพียงระบบติดตามชนิดและปริมาณของเสีย ซึ่งขาดในส่วนของการติดตามองค์ประกอบที่เป็นสารอันตรายที่เจือปนในของเสียโดยเฉพาะในกากของเสีย แม้ในน้ำเสียและอากาศเสียมีข้อกำหนดในเรื่องของพารามิเตอร์หรือองค์ประกอบสารมลพิษที่ต้องรายงานความเข้มข้น แต่ก็จำกัดอยู่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น เช่นโลหะหนักบางชนิด เป็นต้น

                5. การติดตามปริมาณสารเคมีที่เจือปนไปกับผลิตภัณฑ์สุดท้ายสำหรับผู้บริโภคทั่วไป

                ผู้ประกอบการน่าจะเป็นผู้ที่มีข้อมูลปริมาณสารเคมีที่เจือปนไปกับผลิตภัณฑ์ แต่ก็เฉพาะผู้ประกอบการที่มีความพร้อมพอสมควรเท่านั้น เนื่องจากการหาปริมาณสารเคมีที่เจือปนไปในผลิตภัณฑ์ทำได้จากการคำนวณทางเคมีวิศวกรรมหรือจากการวิเคราะห์ทดสอบในห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ดี ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้ดูแลจะสามารถทำได้เพียงข้อมูลประมาณการจากปริมาณต่อปี ที่ผู้ประกอบการขออนุญาตหรือแจ้งดำเนินการเท่านั้น

                ปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์เป็นส่วนที่ยังไม่สามารถกระทำได้ด้วยระบบติดตามข้อมูลปัจจุบัน ทั้งในส่วนผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า ส่งออก และที่วางจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ

                กล่าวโดยสรุป ระบบติดตามข้อมูลระดับประมาณการสามารถตอบคำถามได้ว่ามีสาร ก อยู่ในประเทศเท่าใด โดยติดตามได้เฉพาะสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และ 3 ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลเป็นการเฉพาะกิจได้จากข้อมูลดิบที่รวบรวมจากการปฏิบัติงานปกติของหน่วยงานควบคุมทั้ง 7 หน่วย อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีหน่วยงานใดเผยแพร่ข้อมูลความเคลื่อนไหวสารเคมีรายชนิดที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนต่อสาธารณะ ส่วนข้อมูลปริมาณสารเคมีที่ประกอบการจริงเฉพาะที่อยู่ในขอบข่ายข้อบังคับการติดตามซึ่งมีความเหลื่อมล้ำและทับซ้อนกัน จึงอาจทำให้การติดตามข้อมูลปริมาณจริงของสารชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ต่อเนื่องตลอดเส้นทาง


                ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องกับสารเคมี เพื่อร่วมกันพิจารณาและสรรสร้างกลไกสู่การจัดการข้อมูลสารเคมีที่ส่งเสริมการจัดการสารเคมีที่ดีดังนี้

หน่วยงานควบคุมตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย

                          ·       ถือเป็นหน้าที่ในการสังเคราะห์ข้อมูลสารเคมีชนิดต่าง ๆ ทั้งในลักษณะประมาณการและข้อมูลจริง

                          ·       เผยแพร่ข้อมูลที่เหมาะสมและทันสมัยให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการสารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ

                          ·       พัฒนาระบบที่ใช้ได้จริงสำหรับการเชื่อมโยงและติดตามข้อมูลสารเคมีให้ครบวงจรตั้งแต่การผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครอง โดยเฉพาะการติดตามสารเคมีที่เจือปนไปในของเสียที่ปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม

                          ·       กำหนดและลำดับความสำคัญของสารเคมีที่ต้องติดตาม

                          ·       จริงจังในการบังคับใช้ข้อบังคับตามกฎหมาย รวมไปถึงการใช้มาตรการลงโทษ ซึ่งอาจเป็นมาตรการทางกฎหมายหรือทางสังคมที่เหมาะสม

                          ·      พัฒนากระบวนการหรือกลไกเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงเทคนิคของสารเคมีที่ใช้อยู่ในประเทศทุกชนิดหรือมากที่สุด เนื่องจากข้อมูลเทคนิคของสารเคมีชนิดหนึ่งคือข้อมูลที่จะทำให้รู้จักสารเคมีชนิดนั้น ซึ่งนำไปสู่การประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีได้อย่างปลอดภัย

                ผู้ประกอบการวัตถุอันตราย

                          ·       ถือเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบที่นำไปสู่การได้ข้อมูลจริงที่เป็นประโยชน์กับการจัดการสารเคมีอย่างครบวงจร

                          ·       ร่วมกับหน่วยงานควบคุมเพื่อพิจารณารูปแบบการตรวจสอบข้อมูลซึ่งกันและกัน

                ภาควิชาการ

 

                          ·       ให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านสารเคมี โดยเฉพาะในระดับนโยบาย รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพในด้านการเก็บ การวิเคราะห์ และการใช้ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานควบคุม ผู้ประกอบการ แรงงาน และผู้บริโภคทั่วไป

ดูรายงานฉบับเต็ม

[1]
  ที่มา : แผนประสานและติดตามผลการนำเข้า ผลิต ครอบครอง และใช้วัตถุอันตราย พ.ศ. 2549 - 2551
[2]  สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ไฟล์ดาวน์โหลด 230150.doc); www.thaigov.go.th/News, 18/2/50       

 

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ขอความกรุณาข้อมูลสารเคมี MSD เพื่อทำระบบสิ่งแวดล้อม14001
ขอบคุณ

โดย:  ต้องการข้อมูล MSD  [24 พ.ค. 2550 10:12]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

สาร MSD คือสารอะไรค่ะ มีข้อมูลมากกว่านี้ไหมค่ะ

โดย:  admin  [6 มิ.ย. 2550 18:28]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

เนื่องจากตอนนี้ทำความเข้าใจและต้องทำเป็นคู่มือ แต่ยังวนไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ขอให้ช่วยแนะนำด้วยด่วน (ด้านสารเคมี) เป็นโรงงานทำเกี่ยวกับการ์เมนท์ มีสารเคมีไม่มากนัก เพราะว่าต้องทำให้พนง.ได้ทราบแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรที่ถูกต้อง  ซึ่งอ่านข้อกำหนดลูกค้าก็ไม่สามารถทำได้ ช่วยแนะด่วน


โดย:  ผู้ขอข้อมูล  [11 ม.ค. 2551 15:49]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:4

เนื่องจากยังไม่ค่อยเข้าใจคำถามสักเท่าไหร่นักนะคะ จึงขอตอบแบบนี้ก่อนนะคะ
ถ้าสิ่งที่คุณต้องทำให้พนักงานทราบเป็นเรื่อง การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ควรเริ่มจากการศึกษา Safety data sheet,SDS  ของสารเคมีที่ใช้ในโรงงานทุกตัว รวมถึงสอนให้พนักงานในโรงงานเข้าใจถึงข้อความต่างๆ ที่อยู่ใน SDS เพื่อทำให้พนักงานสามารถใช้สารเคมีได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการปฏิบัติต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินตามคำแนะนำใน SDS และควรมี SDS ของสารเคมีที่ใช้ทั้งหมดอยู่ในสถานที่ทำงาน เพื่อว่าเมื่อการเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุต่างๆ จะได้สามารถดูและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและทันการณ์ ซึ่ง SDS ที่มีอยู่สถานที่ทำงานนี้พนักงานทุกคนควรจะสามารถอ่านเข้าใจจนสามารถนำไปปฏิบัติได้

ไม่แน่ใจว่าตอบเรื่องเดียวกันกับที่คุณผู้ขอข้อมูลต้องการหรือเปล่า ยังงัยเพื่อจะได้ให้คำแนะนำที่ถูกประเด็นรบกวนขอถามเพิ่มเติม คุณผู้ขอข้อมูล นิดนึงนะคะ
1. คู่มือที่ว่านี้ หมายถึงคู่มือการใช้สารเคมีให้ปลอดภัยสำหรับพนักงานที่ทำงานในโรงานหรือเปล่าค่ะ หรือเป็นคู่มือ.....?
2. ข้อกำหนดของลูกค้า หมายถึงข้อกำหนดอะไรคะ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือ...?

โดย:  ขวัญ ทีมงาน ChemTrack  [12 ม.ค. 2551 16:36]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 1 ของผู้ทรงคุณวุฒิ :5

ก่อนอื่นคุณต้องมีรายชื่อสารเคมีที่เกี่ยวข้อง แล้วนำชื่อมาค้นหาจากเว็บนี้ ก็จะได้ SDS หรือ MSDA ก็คือเอกสารข้อมูลความปลอดภัย   เท่าที่ทราบจากงานวิจัยสกว.อุตสาหกรรมสิ่งทอมีการใช้สารเคมีหลายตัวในขั้นตอนต่างๆ อีกทางหนึ่งคือคุณควรจะขอเอกสารดังกล่าวจากผู้ขายสารนั้นๆ ยังมีความรู้อีกมากมายที่คุณน่าจะใช้ประโยชน์เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นได้

โดย:  สุชาตา ชินะจิตร  [2 พ.ค. 2551 08:05]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:6

เนื่องจากตอนนี้ผมต้องทำคู่มือการใช้สารเคมีให้ปลอดภัยสำหรับพนักงานที่ทำงานในโรงงานแต่ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร โรงงานผมทำธุรกิจอาหารสัตว์ มีสารเคมีบางชนิดที่ต้องใช้ในกระบวนการครับ เช่น Sorbic Acid,Citric Acid,Formic Acid ครับและต้องการทราบว่าต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลใดบ้างครับที่ต้องมี

โดย:  พิทักษ์พงษ์  [22 ก.ค. 2551 12:43]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 6:7

ดูข้อมูลได้จากเอกสาร (M)SDS ของสารค่ะ เอกสารนี้สามารถขอได้จากผู้ที่ขายสารเคมีค่ะ ถ้าไม่มีอาจดูจากฐานของ chemtrack ก็ได้ค่ะ แต่ต้องดูว่าความเข้มข้นใกล้เคียงกับที่ใช้หรือไม่ สืบค้นเอกสารได้ที่เมนู ค้นหา ค่ะ

โดย:  วลัยพร  [2 ส.ค. 2551 18:05]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 7:8

ดีมากครับ

โดย:  tom  [9 ธ.ค. 2551 13:03]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 8:10

http://en.wikipedia.org/wiki/UN_number        UN Number        

http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_UN_Numbers        ( List of UN Numbers )

โดย:  นักเคมี  [1 ส.ค. 2552 07:40]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 9:11

http://en.wikipedia.org/wiki/CAS_registry_number        CAS Registry Number        
http://www.cas.org/expertise/cascontent/registry/regsys.html        
http://en.wikipedia.org/wiki/EC_number_(chemistry)        EC Number  ( Chemistry )        
http://msds.chem.ox.ac.uk/eu_to_cas_converter.html        Cross-Referencing List of EU Numbers and CAS Numbers

โดย:  นักเคมี  [1 ส.ค. 2552 08:43]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 10:15

I feel so much happier now I udenrsatnd all this. Thanks!

โดย:  Ferdous  [27 ต.ค. 2555 07:30]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น