สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

อุบัติภัยสารเคมี - เมื่อไรจะแก้ตรงจุด

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 23 ก.ค. 2553

            อุบัติภัยจากสารเคมีเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าภายใน 3-4 เดือน  ที่ผู้เขียนติดตามข่าวในสื่อต่างๆ ก็มีไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งควบคู่กับข่าวดังของมาบตาพุด  ดูเหมือนว่ามีเหตุเกิดบ่อยมากขึ้น  หรือว่าเป็นเพราะกระแสมาบตาพุดทำให้เป็นข่าวมากขึ้น  จึงทำให้มีรายงานเผยแพร่  อีกเหตุหนึ่งที่ละเลยเสียไม่ได้ก็คือ การใช้งานของโรงงานและเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ กำลังหมดอายุและกำลังเป็นระเบิดเวลาตามมาถี่ๆ  ล่าสุดรายงานข่าวเหตุการณ์ 2 วันซ้อนในโรงงานเดียวกัน คือ ที่โรงงานผลิตเครื่องประดับเพชรพลอยของ บริษัทแมริกอท จิวเวอรี่ (ประเทศไทย)  ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ถนนสายเอเชีย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 เป็นเหตุให้พนักงาน 300 คนถูกนำส่งโรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการผิดปกติ ช็อค หมดสติ ร่างกายเกร็งและกระตุก  อุตสาหกรรมจังหวัดระบุว่า  สาเหตุมาจากประกายไฟในการอ็อกเชื่อมไปถูกท่อในระบบบำบัดมลพิษของโรงงาน  จนเกิดการรั่วไหลของสารที่อยู่ในท่อบำบัด  หลังจากโรงงานเปิดสายพานการผลิตอีกครั้งประมาณ 2 ชั่วโมง  ก็เกิดสารเคมีรั่วอีกในวันที่ 16 กรกฎาคม  ทำให้พนักงานกว่า 50 คน ช็อค หมดสติ  คล้ายเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม  สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยืนยันว่าเหตุเกิดไม่เกี่ยวกับเรื่องอุบัติเหตุและอันตรายเนื่องจากการทำงานแต่อย่างใด  เป็นเพียงการซ่อมท่อพีวีซีเท่านั้น  ณ ปัจจุบัน (17 กรกฎาคม 2553 ) ได้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบอยู่

            บทความนี้ต้องการวิเคราะห์เหตุการณ์เท่าที่ผู้เขียนได้รับข้อมูลผ่านสื่อ  บางส่วนเป็นข้อเท็จจริง  บางส่วนเป็นข้อสันนิษฐานจากข้อมูลเท่าที่มี  จึงมิได้มุ่งหาความผิดของใคร   การค้นหาความจริงจะเป็นการให้ความรู้  วิธีคิดวิธีตั้งคำถามต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้อง  เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอในการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดมากขึ้น  ลำดับของการตั้งประเด็นจะเป็นไปตามลำดับจากต้นหรือถึงปลายทางใช้ความรู้อะไรได้บ้างระหว่างทาง

            ประเด็นแรก  เป็นประเด็นซ้ำๆจากเหตุเกิดที่ไม่สามารถบอกชื่อสารที่เป็นต้นเหตุหรือสารที่เกี่ยวข้องได้  ทำให้การแก้ปัญหาไม่ทันกาลหรือไม่เหมาะสม  การป้องกันก็ไม่รู้ว่าจะป้องกันอะไร  กรณีนี้อาจจะบอกว่าไม่ได้เกิดจากสารเคมีที่ใช้โดยตรง  แต่ต้องรู้ว่าสิ่งที่มากระทบคนจนเกิดอาการต่างๆ นั้นคืออะไร  โรงงานคงจะมีรายชื่อหรือสารบบสารเคมี (Chemical inventory) เพื่อให้รู้ว่าคนงานและผู้อาศัยอยู่รอบโรงงานต้องเสี่ยงกับสารใดหรือไม่ มิฉะนั้นทุกครั้งที่เกิดเหตุก็จะมีการมอบหมายสั่งการเป็นครั้งๆ เช่น ให้กระทรวงอุตสาหกรรมประสานกับการนิคมอุตสาหกรรมฯ และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อให้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่อยู่ในความครอบครองให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ดังเช่นครั้งที่สารบิวทีนรั่วไหลจากเรือขนถ่ายสินค้าบริเวณท่าเรืองมาบตามพุดตามที่กระทรวงสาธารณสุขร้องเรียนต่อคณะรัฐมนตรี (8 ธันวาคม 2552)
 
            ประเด็นที่สอง  ในกระบวนการผลิตของโรงงานประเภทนี้น่าจะมีทั้งการชุบ  การพ่น  การประกอบ ฯลฯ  ความรู้พื้นๆเกี่ยวกับกระบวนการเหล่านี้  ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่ามีสารเคมีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ในขั้นตอนใดบ้าง  เพราะเป็นกระบวนการทั่วไปที่ไม่ใช่ความลับ เช่น การชุบทองและเงิน  จะมีการใช้สารไซยาไนด์ที่อยู่ในรูปกรดหรือด่าง  การชุบนิกเกลหรือโครเมียมอาจจะไม่มีการใช้ไซยาไนด์  แต่ในกระบวนการเคลื่อบนิกเกลบนผิวเหล็ก  และในการกัดโลหะอาจมีการใช้กรดไนตริก  ซึ่งให้ควันไอของออกไซด์ของไนโตรเจนเป็นต้น  โรงงานน่าจะรู้ดีถึงรายละเอียดเหล่านี้  ตามรายงานข่าวโรงงานนี้ไม่อยู่ในกลุ่มโรงงานใช้สารเคมีอันตราย
 
            ประเด็นที่สาม  การเกิดประกายไฟจนท่อพีวีซีไหม้  คงจะเป็นลูกไฟมากกว่าประกายไฟที่จะทำให้วัสดุพีวีซีหลอมหรือลุกไหม้ไฟ  ที่สำคัญกว่านั้นคือคำถามว่าเป็นท่อลำเลียงอะไร  เดินผ่านอะไรมาบ้าง เมื่อท่อไหม้หรือรั่ว  ให้อะไรออกมาบ้าง ข่าวระบุว่าเป็นท่อที่ระบายมลพิษออกไปบำบัดหรือทำให้เจือจาง (Exhaust pipe) จึงเป็นข้อสังเกตว่า หากเป็นท่อที่ทำหน้าที่ดังกล่าว การระบายมลพิษออกจากปล่องนั้น   มีข้อกำหนดของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า ต้องรายงานผลการตรวจวัดปริมาณสิ่งที่ออกมาจากปล่องหรือท่อตามระยะเวลาที่กำหนด  ท่อแบบนี้จึงไม่น่าจะเดินผ่านห้องต่างๆที่มีคนทำงานอยู่  หรือถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีการห่อหุ้มเพื่อป้องกันการรั่วไหลไว้
 
            ประเด็นที่สี่  ระหว่างการซ่อมบำรุงใดๆ ต้องไม่ข้ามขั้นตอนหรือลดหย่อนมาตรการความปลอดภัย  เช่น ต้องมีการปิดกั้นบริเวณไม่ให้ส่งผลกระทบใดๆ  บางกรณีอาจดำเนินการตามปกติต่อไปได้  ประเด็นนี้ทำให้นึกถึงการซ่อมบำรุง หรือการตกแต่งภายในสถานที่อื่นๆ นอกเหนือจากโรงงานด้วย เช่นตามศูนย์การค้า มีข้อน่าเป็นห่วงว่าประกายไฟกับสารไวไฟอย่างทินเนอร์มักจะอยู่งานเดียวกัน  คำถามก็คือได้มีการเฝ้าระวังและป้องกันได้ดีเพียงใด
 
            ประเด็นที่ห้า  ใครคือผู้สั่งการปฏิบัติการเหตุฉุกเฉิน  ตามกฎหมายผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการตามแผนป้องกันอุบัติภัย  เจ้าของโรงงานมีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คนข้างนอกเข้าไปในโรงงานได้  โรงงานที่อยู่ในนิคมก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่ของการนิคมอุตสาหกรรมฯ  ซึ่งควรจะรู้ว่าในพื้นที่นิคมมีความเสี่ยงต่ออุบัติภัยเคมีอย่างไร  และควรจัดการอย่างไร
 
            ประเด็นที่หก  การตรวจสอบหลังเกิดเหตุที่ต้องทำทันที  กับทำเมื่อเวลาผ่านไปแล้วย่อมให้ผลต่างกัน  เช่น การรั่วไหลเมื่อเวลาผ่านไป  สารเคมีหรือมลพิษก็จะกระจายจางไปทำให้ค่าที่วัดได้ไม่สูงเท่าตอนที่รั่วออกมา  ไฟไหม้จากท่อพีวีซีน่าจะให้ไอของกรดไฮโดรคลอริกปนออกมากับไฮโดรคาร์บอนธรรมดาที่ตรวจพบ  การตรวจวัดทางเคมีต้องทำเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าจะตรวจหาอะไร  จึงจะพบหรือไม่พบสารตัวนั้น
 
            ประเด็นที่เจ็ด  การให้ข่าวจากโรงงานและหน่วยงานต่างๆ ชี้ไปในทางที่บอกว่าไม่เกี่ยวกับสารเคมี  แต่เกี่ยวกับท่อพีวีซี  โรงงานก็ไม่อยู่ในกลุ่มที่ใช้สารเคมีอันตราย  ควันไฟที่พบก็เป็นไฮโดรคาร์บอน  เหตุที่เกิดไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุและอันตรายเนื่องจากการทำงานแต่อย่างใด   คนงานที่เกี่ยวกับการทำงานนี้ก็คือคนงานที่มาต่อเติมอาคารเท่านั้น  คล้ายๆ กับจะบอกว่าคนอื่นๆ ที่เจ็บป่วยจากเหตุการณ์นี้ไม่เกี่ยวกับอันตรายเนื่องจากการทำงาน
 
            ทั้งหมดนี้นำไปสู่การรู้ข้อเท็จจริงได้ต้องอยู่บนพื้นฐานตั้งแต่ประเด็นแรก คือ ต้องรู้ว่าโรงงานใช้สารอะไร  มลพิษอะไรที่ออกมาจากท่อหรือปล่อง  ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยการสนับสนุนจาก สกว. ได้มีงานวิจัยด้านความปลอดภัยของสารเคมี  และพยายามชี้ประเด็นสำคัญมาโดยตลอดว่า  โรงงานต้องจัดทำสารบบสารเคมี (Chemical inventory) ในโรงงานว่าใช้สารอะไรที่เป็นอันตราย และไม่ใช่ความลับทางการผลิตหรือการค้า จากสารบบดังกล่าวจึงจะสามารถทำให้เห็นภาพของการกระจายของสารเคมีในพื้นที่ต่างๆ (Hazard map) ซึ่ง สกว.ได้เริ่มไว้แล้วเป็นตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรม (http://www.chemtrack.org/HazMap.asp
) จากนั้นการป้องกันภัยและการโต้ตอบเหตุฉุกเฉินจึงจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล  ไม่ใช่การโต้ตอบเหตุฉุกเฉินแบบทั่วไป  แต่เป็นภัยจากสารเคมีโดยเฉพาะ  หากโรงงานมีความสัมพันธ์ที่ดีกับป้องกันภัยจังหวัด (ปภ.) ก็จะร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที  ดีกว่าการมีทำทีแบบไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน  เวลาเกิดเหตุเจ้าหน้าที่กู้ภัยก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้
 
            ด้วยเครื่องมือทางกฎหมายที่มีอยู่รวมทั้งสิทธิการรับรู้ด้วย  ปัญหานี้น่าจะแก้ได้ตรงจุด คือ การทำให้จังหวัด  โดยเฉพาะที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากจัดทำแผนที่การกระจายสารเคมี  และทุกโรงงานจัดทำสารบบสารเคมี  ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย  เช่นนี้แผนป้องกันและโต้ตอบเหตุฉุกเฉินจะเป็นแผนจริง  ที่แตกต่างจากแผนอุบัติภัยอื่นๆ  หากสิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้แม้แต่ที่ระยอง  การทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ก็จะทำได้ยาก ความไว้วางใจที่จะอยู่ร่วมกันของภาคอุตสาหกรรมกับภาคประชาชน ก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่ว่าในพื้นที่ใดของประเทศ

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ดีมากๆค่ะเเต่น่าจะให้มันสั้นลงสักกระจิ๋วนึงนะคะ

โดย:  เกด  [11 ก.ย. 2553 14:45]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น