สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

สารเคมีในผลิตภัณฑ์ – รู้ไปทำไม ตอน 2

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา ชินะจิตร
วันที่: 31 ก.ค. 2555
 สารเคมีในผลิตภัณฑ์ – รู้ไปทำไม  ตอน 2

           จากบทความตอนที่ 1 สารเคมีในผลิตภัณฑ์ – รู้ไปทำไม ที่เผยแพร่ไปแล้วในการจัดเวทีสาธารณะ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 และเผยแพร่ใน www.chemtrack.org หัวข้อนโยบายสาธารณะ ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของข้อมูลสารเคมีในผลิตภัณฑ์ ว่า สารเคมีนั้นมีส่วนคุกคามต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมแต่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยถ้ารู้ ข้อมูลสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (CiPs, Chemicals in Products) จึงช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เป็นเหตุให้มีการคิดถึงการใช้สารทดแทน ช่วยให้เกิดการใช้อย่างปลอดภัยระหว่างการใช้ผลิตภัณฑ์หรือการกำจัดปลายทาง บทความนี้จึงเป็นส่วนขยายความในรายละเอียดบางประเด็น เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า สารอันตรายในผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้นมีโอกาสพบเห็นหรือสัมผัสได้อย่างไร

กลุ่มของเล่น

            สารอันตรายในของเล่นนั้นมี 2 ชนิดที่เป็นปัญหามาก คือ ตะกั่ว และพาทาเลต (phthalates) ของเล่นเด็กอาจมีตะกั่วอยู่ในสีหรือดินสอสี และส่วนที่เป็นโลหะ เช่น คลิป สายสร้อย เครื่องประดับตุ้งติ้ง บางกรณีถูกใช้เป็น stabilize ในพลาสติกจำพวก PVC ที่นำมาทำเป็นของเล่น อันตรายของตะกั่วมีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ถ้าเด็กได้รับสารตะกั่ว เช่น หยิบสีที่หลุดร่อนออกมาใส่ปากหรือเคี้ยวสีแท่งที่มีตะกั่ว ก็เกิดพิษเฉียบพลัน การสะสมทีละเล็กละน้อยเป็นเวลานานจะเกิดพิษแบบเรื้อรัง เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทารก เด็กเล็ก หรือพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์  อันเนื่องมาจากระบบประสาทถูกกระทบอย่างถาวร นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อไต และความดันโลหิตด้วย ความจริงเรื่องอันตรายของตะกั่วและสารประกอบตะกั่วในของเล่นเป็นที่รับรู้ และตระหนักรู้มานานแล้ว แต่ในประเทศกำลังพัฒนา ยังคงเป็นปัญหาอยู่ เพราะตะกั่วเป็นวัตถุดิบราคาถูก ผู้ออกแบบอาจไม่ได้จงใจให้ใช้ตะกั่ว แต่เมื่อไม่มีการกำหนดชัดเจน จึงมีการใช้ตะกั่วในของเล่นและเครื่องประดับอย่างแพร่หลาย ในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งมีกฎระเบียบดูแลความปลอดภัยของของเล่น เช่น US Consumer Product Safety Improvement Act ที่กำหนดระดับตะกั่วในของเล่นให้น้อยลง และให้มีฉลากของผู้ผลิตรวมทั้งต้องมีคำเตือนในโฆษณาด้วย ส่วนของประเทศคานาดามี Hazardous Product Act and Children’s Jewelry Act หรือในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่นได้ใช้ประโยชน์จากมาตรฐาน ISO 8124 Toy Safety Standard เคยมีเหตุการณ์การเสียชีวิตของเด็กในสหรัฐอเมริกา ที่กลืนชิ้นส่วนเครื่องประดับของเล่น จนเกิดแรงกดดันให้มีการเรียกคืนของเล่นและเครื่องประดับเด็กยอดนิยมถึง 1.7 ล้านชิ้นในปี 2007

            ส่วน phthalate นั้นใช้เป็น plasticizer ในพลาสติกพวก PVC ซึ่งทำให้พลาสติกอ่อนตัว หักงอได้ ซึ่งอาจถูกปลดปล่อยออกมาจากของเล่นระหว่างการใช้ได้ อันตรายของสารชนิดนี้คือ ผลที่มีต่อพัฒนาการตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง


กลุ่มสิ่งทอ

            ในเสื้อผ้าหรือสิ่งทอ มักมีสารกลุ่ม Perfluorinate (PFC) เพื่อทำให้วัสดุนั้นๆ กันเปื้อนกันเปียกได้ นอกจากจะมีการใช้ PFC ในเสื้อผ้า วัสดุที่ใช้ทำรองเท้า เต็นท์ ผ้าปูโต๊ะแล้ว PFC ยังเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก  เช่น โฟมดับไฟ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ซักล้าง เป็นต้น สาร PFC เป็นสารย่อยสลายยากจึงตกค้างและเกิดการสะสมยาวนานในสิ่งแวดล้อมลงไปถึงน้ำใต้ดิน  มีการพบ PFC ในเลือดทั้งของคนและสัตว์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม แม้แต่ในท้องถิ่นที่ห่างไกลจากการผลิตหรือการใช้อย่างที่ขั้วโลก Canadian Arctic สาร PFC ที่ไม่ถูกยึดติดบนวัสดุจะหลุดออกมาได้ระหว่างการใช้ การซัก การทิ้ง การสะสมสารชนิดนี้ในเลือดมีผลต่อตับ ต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ทดลอง ยังมีหลักฐานเชื่อมโยงได้ว่าในปี ค.ศ.1980 ระดับ PFCO (สารอนุพันธ์ของ PFC)  0.1-8.13 ppm) ที่พบในเลือดของคนงานจากโรงงานผลิต PVC ทำให้คนงานมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และระดับคอเลสเตอรอลสูง ประเทศสหรัฐอเมริกา คานาดา และสหภาพยุโรปได้ริเริ่มมาตรการควบคุม PFC โดยมีการห้ามใช้สารบางตัวในกลุ่มนี้ในการผลิต การขาย และการนำเข้า สหภาพยุโรปเริ่มห้ามใช้ PFCO ในสิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ในปี ค.ศ.2007 หลังจากการมีมาตรการควบคุมต่างๆ ในประเทศเหล่านี้ ระดับ PFC ในเลือดของคนและสัตว์ ก็ดูเหมือนจะลดลงจากเดิม ในขณะที่ ระดับ PFC สูงขึ้นในตัวอย่างเลือดจากประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งที่ยังดำเนินการผลิตสารดังกล่าวอยู่

            ยังมีสารอันตรายอีกชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสิ่งทอ นั่นคือ NPE (Nonylphenol ethoxylates) เป็นสารลดแรงตึงผิวใช้ในการผลิตสิ่งทอ และในผลิตภัณฑ์ซักล้าง เนื่องจาก NPE เป็นสารย่อยสลายยาก จึงสะสมได้ในระยะยาวก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของสิ่งทอ NPE เป็นสารยับยั้งการทำงานของระบบเอนโดรไครน์ (endocrine disrupter) การที่มีการพบ NPE ในสิ่งแวดล้อมกระจายทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าการใช้สารนี้ในกระบวนการผลิตในซีกโลกหนึ่ง สารดังกล่าวยังคงตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์สุดท้ายระหว่างการใช้ การซักล้าง การทิ้ง สู่สิ่งแวดล้อมในอีกซีกโลกหนึ่งได้

กลุ่มยานยนต์

            สารประกอบของปรอทที่เป็นพิษสูง คือ เมทิลเมอร์คิวรี (Methylmercury) ซึ่งแปรสภาพมาจากปรอทที่ใช้ในสวิตช์ ต่างๆ ของยานยนต์  เมื่อเมทิลเมอร์คิวรี ลงสู่น้ำและสิ่งแวดล้อม เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร คนจึงอาจได้รับสารนี้จากการกินปลาที่อยู่ในน้ำซึ่งมีสารชนิดนี้สะสมอยู่ เหตุเดียวกับที่เกิดเป็นโรคมินามาตะ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาท ปรอทจากสวิตช์จะหลุดรอดออกมาเมื่อรถยนต์เก่าถูกทำลาย สารอีกกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ก็คือ PAHs (Polycyclic aromatic hydrocarbons) ซึ่งเติมเข้าไปในยางรถยนต์ เพื่อทำให้ยางอ่อนตัว ปลดปล่อยออกมาได้ระหว่างการใช้ PAHs สะสมได้ในสิ่งมีชีวิตและเป็นสารก่อมะเร็ง

            แบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ เรือ และเครื่องยนต์อื่นๆ เป็นชนิดตะกั่วกับกรดซัลฟูริก โดยเฉลี่ยแบตเตอรี่หนึ่งชิ้นมีสารประกอบตะกั่ว 17.5 ปอนด์ (7.94 กิโลกรัม) และกรดอีก 1.5 แกลลอน (5.68 ลิตร) มักมีการนำแบตเตอรี่ใช้แล้วมาเผาเพื่อนำตะกั่วกลับคืนมา การสูดควันตะกั่วทำให้เกิดพิษแบบเฉียบพลันถึงตายได้

 กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

            ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม แบริลเลียม และสารหน่วงการติดไฟประเภทโบรมิเนท ซึ่งถูกปลดปล่อยระหว่างการกำจัด การทิ้ง การนำกลับมาใช้ คอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างของการสร้างปัญหาอย่างกว้างขวาง เพราะประกอบด้วยชิ้นส่วนมากมาย ทั้งสวิตช์ ลวดทองแดง แผ่นพิมพ์วงจร (Printed circuit board PCB) แป้นพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ที่กระจายการผลิตอยู่ในที่ต่างๆ จึงมีผู้ผลิตรายย่อยๆ อยู่ทั่วโลก ในขั้นตอนการผลิตและการประกอบชิ้นส่วน คนงานมีโอกาสได้รับสารอันตรานเหล่านี้ หากไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม โดยเฉพาะในประเทศที่ขาดความเข้มงวดในการดูแล  ระหว่างการใช้ กลุ่มผู้ใช้รวมถึงผู้ซ่อมแซมอุปกรณ์มีโอกาสได้รับสารหน่วงการติดไฟที่ใช้ในกรอบพลาสติกและแป้นพิมพ์ สภาพที่น่าเป็นห่วงคือการแยกชิ้นส่วนในการนำกลับมาใช้และการกำจัดทิ้ง ซึ่งมักเกิดในประเทศกำลังพัฒนา เพราะมีการนำเข้าคอมพิวเตอร์ใช้แล้ว และทำโดยคนงานที่ไม่มีความรู้ในการป้องกัน เช่น การนำคืนตะกั่วที่ใช้เชื่อมวงจรในตัวแผ่นพิมพ์วงจรโดยการเผาให้ตะกั่วหลอมหล่นลงมาในถังน้ำรองรับ ตัวแผ่นพลาสติกที่เหลือจะถูกเผาหรือแช่ลงในอ่างน้ำกรดเพื่อแยกทองแดงออกมา สารพิษที่จะถูกปลดปล่อยจากแผ่นพลาสติก เมื่อถูกเผาก็คือไอกรดไฮโดรคลอริก คาร์บอนมอนอกไซด์ และฟิวแรน ส่วนพลาสติกที่ยังเหลือก็นำไปผสมกับวัสดุอื่น เพื่อนำกลับมาใช้เป็นพลาสติกราคาถูก ซึ่งมักนำไปทำเป็นของเล่นราคาถูกต่อไป เศษเหลือที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ก็เหลือเป็นกากที่นำไปฝังกลบ การที่มีผู้เกี่ยวข้องตลอดสายการผลิต การใช้ และการกำจัด กระจายตั้งแต่รายใหญ่ จนถึงรายย่อยระดับชุมชน ทำให้การติดตามดูแลสวัสดิภาพของผู้เกี่ยวข้องเป็นไปได้ยาก

            ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจึงหลากหลายในผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม พิษของโลหะหนักเป็นพิษเรื้อรัง เช่น ตะกั่วมีผลต่อระบบประสาท แคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็ง การสูดดมมีผลต่อปอดและไต ส่วนปรอทนั้นมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง และพัฒนาการของทารก หลายประเทศมีนโยบายและมาตรการควบคุมอันตรายในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สหภาพยุโรปมีระเบียบจำกัดการใช้สารอันตรายในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่รู้จักกันในชื่อ RoHs (Restriction on Hazardous Substances)

            นี่คือตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ไม่กี่ชนิดที่แสดงให้เห็นว่าความรู้และข้อมูลสารเคมีในผลิตภัณฑ์สำคัญอย่างไร เมื่อมีข้อมูลสารเคมีตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ภาคการผลิตก็ได้ประโยชน์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ลดความเสี่ยงจากปัญหาการเรียกคืน แสดงถึงความโปร่งใสในการจัดการ คนงานก็ปลอดภัย ในแง่ของผู้บริโภค ข้อมูลสารเคมีในผลิตภัณฑ์จะให้ทางเลือกและการดูแลตัวเองได้ ภาครัฐสามารถใช้ข้อมูล CiPs ในการกำกับดูแล จัดลำดับความสำคัญเชิงนโยบาย และยังใช้ในการจัดการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมภาคการผลิตไปด้วย การค้าขายเมื่อมีข้อมูลซึ่งโปร่งใส ย่อมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและบริการ

ที่มา; Norden: Toxic Substances in Articles: The Need for Information, Copenhagen 2008

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

0908973adasd


โดย:  farn  [14 ก.ย. 2555 10:56]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:5

ดีค่ะ บอกเกี่ยวกับความรู้เรื่องสารเคมีที่อยู่ในที่ต่างๆ

โดย:  คนคน นั้น  [22 พ.ย. 2555 14:20]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น