สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

ห้องปฏิบัติการกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม

ผู้เขียน: รดาวรรณ ศิลปโภชากุล
หน่วยงาน: สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ
วันที่: 26 พ.ค. 2549
 ห้องปฏิบัติการกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม

คำสำคัญ ห้องปฏิบัติการ, สารเคมี, นโยบายสารเคมี, คุ้มครองผู้บริโภค

            กระแสโลกาภิวัตน์และระบบการค้าเสรี กระตุ้นให้เกิดการบริโภคอย่างกว้างขวางและไร้ขอบเขต  ทำให้เกิดการแพร่กระจายและสะสมของสารเคมีในสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย  เนื่องจากสินค้าทุกอย่างมีสารเคมีเป็นองค์ประกอบ การผลิตและการใช้สารเคมีรวมทั้งขยะที่เกิดจากการบริโภคล้วนเป็นช่องทางที่ทำให้สารเคมีแพร่กระจาย  ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและมลภาวะของสิ่งแวดล้อม การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าเพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมี จึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของระบบการค้าเสรี อย่างไรก็ตามการกำหนดระเบียบ เพื่อการจัดการสารเคมีมักถูกมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้าเสมอ  โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ  เพราะขาดความพร้อมในเรื่องของบุคลากรข้อมูลความรู้เทคโนโลยีและทุน ที่จะผลิตสินค้าให้ได้ตามเงื่อนไข   ศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าจึงมีน้อย ทำให้โอกาสที่จะขายสินค้าลดลง  แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพิษของสารเคมีที่รั่วไหลหรือสะสมปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งที่เกิดจากอุบัติเหตุและความตั้งใจ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการสารเคมี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตและสิ่งแวดล้อม  โดยกำหนดให้มีการป้องกันอันตรายจากสารเคมีครอบคลุมทุกระยะของ วัฏจักรสินค้า (Product Lifecycle) เริ่มตั้งแต่ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การผลิต การขนส่ง การจำหน่ายจ่ายแจก การใช้ ไปจนถึงการกำจัดทิ้ง ดังจะเห็นได้จากการจัดระเบียบการจัดการสารเคมี การควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยของสินค้า ด้วยการห้ามหรือจำกัดการใช้สารอันตรายผลิตสินค้าบางชนิด การห้ามขนย้ายของเสียสารอันตรายข้ามแดน หรือการบังคับให้แจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าให้พิจารณาก่อนอนุญาตให้นำเข้า ดังที่ปรากฏในระเบียบว่าด้วยการจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็น มาตรการฝ่ายเดียว ซึ่งอาศัยข้อบังคับของประเทศตนเป็นเกณฑ์ บังคับอีกประเทศหนึ่งให้ปฏิบัติตามโดยมิได้ปรึกษาหารือเป็นการล่วงหน้า เช่น  ร่างระเบียบควบคุมสารเคมีของสหภาพยุโรป Proposal for a Regulation of the European Parliament and of the Council concerning the Registration, Evaluation Authorization and Restriction of Chemicals หรือ REACH ที่กำหนดให้ประเมินความปลอดภัยของสารเคมีก่อนการนำเข้าสู่ตลาด ระเบียบว่าด้วยเศษซากเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ (Directive on Waste Electrical and Electronic Equipment  หรือ WEEE ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางประเภทในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์  ( Directive on Restriction of the Use of Certain Hazardous Substances in Electrical and Electronic Equipment  หรือ RoHs และมาตรการหลายฝ่ายที่ประเทศสมาชิกยอมรับและปฏิบัติตามกัน เช่น อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการเคลื่อนย้ายของของเสียอันตรายและการกำจัด  อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้า สำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ  และอนุสัญญาสต๊อกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน  นอกจากระเบียบเหล่านี้แล้ว  ในแต่ละประเทศยังมีการกำหนดมาตรฐานสินค้า รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยของสินค้าเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ  กฎระเบียบและมาตรการที่กำหนดขึ้นล้วนมุ่งหวังให้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมปลอดภัย  แต่จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสารเคมี  จึงจะสามารถจัดการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

            ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าทดลองหาข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับสารเคมี จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่จำเป็นสำหรับระบบการจัดการสารเคมี เพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายของสารเคมีและผลิตภัณฑ์  เริ่มตั้งแต่การกำหนดแนวทางควบคุมกำกับดูแลสารเคมี  การกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อความปลอดภัยจากสารเคมี การติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามระเบียบและข้อกำหนด รวมทั้งการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับสารเคมี  การดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้ข้อมูลความรู้จากการศึกษาค้นคว้าทดลองและการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ  โดยมีห้องปฏิบัติการเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าทดลอง เช่น การกำหนดระเบียบควบคุมกำกับดูแลการผลิตและใช้สารเคมีต้องพิจารณาจากผลการประเมินความเสี่ยงของสารเคมีนั้น ๆ ด้วยข้อมูลที่บ่งชี้ความเป็นอันตรายของสารเคมี(Hazard identification) ซึ่งได้จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพ (Physico-chemical properties) ความเป็นพิษของสาร (Toxicity) และความเป็นพิษของสารต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-toxicology)  จึงจะกำหนดได้ว่าควรจะบริหารความเสี่ยงของสารนั้นอย่างไร  จึงจะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย คือ ประชาชนปลอดภัยและไม่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมและการค้า การบริหารจัดการสารเคมี โดยไม่มีข้อมูลหรือข้อมูลผิดพลาด    อาจทำให้มาตรการที่กำหนดขึ้นใช้กลายเป็นภาระและอุปสรรคทางการค้าได้ เช่น สร้างภาระให้ผู้ใช้สารต้องเตรียมการป้องกันอันตรายอย่างเข้มงวดสำหรับสารเคมีบางตัวโดยไม่จำเป็น หรือ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตสินค้าได้ เพราะการห้ามใช้สารเคมีที่จำเป็นต่อการผลิต เนื่องจากประเมินอันตรายของสารเคมีสูงกว่าความเป็นจริง หรือ ขาดข้อมูลบ่งชี้ความเป็นอันตรายจึงไม่ได้กำหนดมาตรการป้องกันอันตราย   เช่น   สารเคมีรั่วไหล เพราะไม่ได้บรรจุในภาชนะที่ทนต่อการกัดกร่อน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและสิ่งแวดล้อม 

ในการกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีก็เช่นเดียวกัน นอกจากจะกำหนดว่าสารใดต้องห้ามหรือจำกัดปริมาณเป็นจำนวนเท่าใดแล้ว  ยังต้องกำหนดวิธีตรวจสอบเพื่อป้องกันข้อโต้แย้งด้วย เพราะการตรวจสอบอาจทำได้หลายวิธีและได้ผลต่างกัน การกำหนดมาตรฐานสินค้าจึงจำเป็นต้องอาศัยการค้นคว้าทดลองหาวิธีการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือสำคัญสำหรับการเฝ้าระวังติดตามควบคุมกำกับดูแล มิให้มีการละเมิดกฎระเบียบเกี่ยวกับสารเคมีนั้น ก็คือผลการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ   นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ทดสอบทางห้องปฏิบัติการมียังใช้เป็นเครื่องมือในการยุติปัญหาและข้อขัดแย้งของสังคมด้วย  เช่น การตรวจพิสูจน์การปลอมปนสินค้าหรือการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับรองและยืนยันคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า  เพราะปัจจุบันทุกประเทศกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าอย่างเข้มงวด  ข้อมูลผลการวิเคราะห์ทดสอบทางห้องปฏิบัติการเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องมอบให้คู่ค้า เพื่อเป็นการรับรองและยืนยันคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า  ด้วยเหตุนี้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งนี้ห้องปฏิบัติต้องมีศักยภาพและประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะทำให้ผลการศึกษาทดลองและวิเคราะห์ทดสอบเป็นที่เชื่อถือและยอมรับได้

การยอมรับและเชื่อถือในผลการศึกษาทดลองและตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น มาตรฐานของวิธีวิเคราะห์ทดสอบและระบบประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการที่ทำการวิเคราะห์ เป็นต้น ระบบประกันคุณภาพที่ห้องปฏิบัติการใช้ อาจเป็นระบบประกันคุณภาพที่งานบริการทั่วไปใช้ เช่น ISO 9000 หรือระบบประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการโดยเฉพาะ เช่น  ISO 17025 ขององค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ  GLP (Good Laboratory Practice) ของ USEPA  USFDA หรือ OECD ห้องปฏิบัติการจะเลือกใช้ระบบประกันคุณภาพใดนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานการค้นคว้าทดลอง   ระบบประกันคุณภาพ ISO 17025   จะใช้สำหรับงานวิเคราะห์ทดสอบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำเป็นประจำ (routine)  เช่น การตรวจวิเคราะห์หาปริมาณตะกั่วในน้ำ  ส่วน GLP จะใช้สำหรับงานวิจัย เช่นการศึกษาค้นคว้าเพื่อประเมินความเป็นอันตรายของสารเคมี จำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี เพราะต้องทำการศึกษาทดลองหลายอย่างและใช้เวลานาน  เพื่อให้แน่ใจว่าได้มีการศึกษาทดลองอย่างเป็นระบบครบถ้วนและสามารถสอบทวนผลการทดลองได้ อย่างไรก็ตามการประกันคุณภาพของแต่ละระบบ จะมีหลักการรวมคล้ายกันแต่จุดเน้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขอบข่ายของงาน ดังนั้น ห้องปฏิบัติการจะต้องได้รับการรับรองความสามารถในระบบประกันคุณภาพที่สอดคล้องกับงาน ผลงานการศึกษาทดลองและตรวจสอบ จึงจะได้รับการยอมรับและเชื่อถือ

สำหรับสถานะภาพของห้องปฏิบัติการไทยในปัจจุบัน  มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองคุณภาพตามระบบประกันคุณภาพ ISO 17025 อยู่ประมาณ 200 ราย  แต่ไม่มีรายงานใดกล่าวว่าห้องปฏิบัติการของไทยมีระบบประกันคุณภาพตามมาตรฐาน GLP  ซึ่งหมายความว่า ศักยภาพของห้องปฏิบัติการไทย ในการตรวจลอบวิเคราะห์เพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และเฝ้าระวังรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมยังมีจำกัดอยู่มาก จำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วน  เพราะบทบาทหน้าที่ของห้องปฏิบัติการช่วยสร้างโอกาสทางการค้าโดยลดข้อโต้แย้งในเรื่องคุณภาพของสินค้า และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ด้วยการช่วยให้มีสินค้าปลอดภัย และการตรวจสอบมลภาวะของสิ่งแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพและความสามารถของห้องปฏิบัติการ จึงเท่ากับเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม   

ศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร 0 2201 7295

e-mail radawarn@dss.go.th

 

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

อยากทราบความแตกต่างของ GLP ที่ใช้กันอยู่กับ GLP-OECD มีความแตกต่างกันอย่างไร

โดย:  da  [7 ส.ค. 2550 16:35]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 1 ของผู้ทรงคุณวุฒิ :2

โปรดศึกษาจาก http://www.fda.gov/ora/compliance_ref/bimo/comparison_chart/scope_auth.html

โดย:  sos  [9 ส.ค. 2550 17:00]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:9

Wonderful explanation of facts availbale here.

โดย:  Yuda  [19 ม.ค. 2556 19:34]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:12

nmooEQ I loved your article. Fantastic.

โดย:  high quality backlinks  [18 ก.ค. 2557 19:05]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น