สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
สาระเคมีภัณฑ์

สีทาบ้านที่ขายใน 10 ประเทศกำลังพัฒนายังมีตะกั่วสูง

ผู้เขียน: วลัยพร มุขสุวรรณ
หน่วยงาน: หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 21 ก.ย. 2552

            มูลนิธิบูรณะนิเวศได้เข้าร่วมโครงการทดสอบสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่ดำเนินการโดยองค์กร Toxics Link ประเทศอินเดียและ International POPs Elimination Network (IPEN) ซึ่งในช่วง พฤศจิกายน 2551 – กุมภาพันธ์ 2552 ได้ทำการเก็บตัวอย่างสีทาอาคารที่วางขายอยู่ใน 10 ประเทศ คือ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ไทย แทนซาเนีย แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย เซเนกัล เบรารุส เม็กซิโก บราซิล และอินเดีย โดยส่งไปวิเคราะห์ปริมาณสารตะกั่วที่ห้องปฏิบัติการในประเทศอินเดีย ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างในส่วนของประเทศไทยซึ่งมีตัวอย่างสีพลาสติก 10 ตัวอย่าง และสีน้ำมัน 17 ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างสีน้ำมัน 47% มีตะกั่วผสมอยู่เกิน 600 ppm (ค่ามาตรฐานปริมาณตะกั่วสูงสุดที่มีได้ในสีตกแต่งของสหรัฐอเมริกาตามกฎหมายเก่า)  ส่วนสีพลาสติกไม่พบตัวอย่างที่มีตะกั่วเกินกว่า 90 ppm (ค่ามาตรฐานปริมาณตะกั่วสูงสุดที่มีได้ในสีตกแต่งของสหรัฐอเมริกาตามกฎหมายใหม่) 

            ส่วนผลสรุปในภาพรวมทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งมีตัวอย่างสีทั้งหมด 317 ตัวอย่าง เป็นสีพลาสิก 78 ตัวอย่าง สีน้ำมัน 232 ตัวอย่าง และวานิช 7 ตัวอย่าง พบว่า 68.5 % ของตัวอย่างสีน้ำมันมีปริมาณตะกั่วมากกว่า 90 ppm และ 64.6 % มีตะกั่วสูงกว่า 600 ppm ส่วนสีพลาสิกพบว่ามีเพียง 10 % เท่านั้นที่มีตะกั่วมากกว่า 90 ppm

            การศึกษานี้ของ Toxic Links และ IPEN เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวระดับสากลในเรื่องการปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากสารตะกั่วโดยเฉพาะเด็กและหญิงมีครรภ์ ซึ่งพบว่าแหล่งที่มาหลักของสารตะกั่วแหล่งหนึ่งคือแพร่กระจายจากสีทาอาคาร แม้จะมีการห้ามใช้หรือจำกัดการใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารในหลายประเทศแล้ว แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ก็ยังมีการใช้เม็ดสีที่มีสารตะกั่วอยู่ เนื่องจากหลายประเทศยังไม่ห้ามหรือจำกัดการใช้สารตะกั่วในสีทาอาคาร นอกจากนี้ความตระหนักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนต่อความปลอดภัยจากตะกั่วในสีทาอาคารยังอยู่ในระดับต่ำ ด้วยเหตุนี้จึงมีความเคลื่อนไหวที่จะห้ามการใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารในระดับสากล

            สำหรับการดูแลในประเทศไทยพบว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับสีทาอาคารบางประเภทเอาไว้แล้ว โดยกำหนดเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ ตัวอย่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น

            - มาตรฐาน มอก. 272-2549 Emulsion paint for general purposes ให้มีตะกั่วได้ไม่เกิน 0.01% โดยน้ำหนักของสารที่ไม่ระเหย (100 ppm)

            - มาตรฐาน มอก. 1406-2540 Flat enamel ให้มีตะกั่วได้ไม่เกิน 0.06% โดยน้ำหนักของสารที่ไม่ระเหย (600 ppm)

            - มาตรฐาน มอก. 1005-2548 Semi gloss enamel ให้มีตะกั่วได้ไม่เกิน 0.06% โดยน้ำหนักของสารที่ไม่ระเหย (600 ppm)

            เนื่องจากมาตรฐานข้างต้นเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจนั่นหมายความว่าไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ผู้ประกอบการรายใดจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดการใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารและสีตกแต่ง ประเทศไทยต้องกำกับดูแลการใช้ให้เข้มงวดขึ้น เช่น การปรับมาตรฐานปริมาณตะกั่วที่ให้มีได้ในสีให้น้อยลง และควรประกาศเป็นมาตรฐานบังคับเพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ยังควรมีกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบคุณภาพสีที่วางขายในท้องตลาดภายหลังจากที่ได้รับมาตรฐานไปแล้วอย่างต่อ เนื่อง หรือหากไม่บังคับมาตรฐานที่เข้มขึ้นก็ควรบังคับให้มีการติดฉลากที่ภาชนะบรรจุ เพื่อเปิดเผยปริมาณตะกั่วที่มีในสีทาบ้านนั้นๆ ให้ผู้บริโภคทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อ

หมายเหตุ

Lead

เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพรบ. วัตถุอันตราย ควบคุมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Lead
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
สาระเคมีภัณฑ์ - รู้จักของใช้อันตรายในบ้าน
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น