แสงแดดมีรังสี UV ที่มีผลต่อเซลผิวหนัง ทำให้เกิดการไหม้ ริ้วรอยก่อนวัย ตลอดจนเกิดมะเร็งผิวหนัง การป้องกันด้วยการปกปิดร่างกายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ส่วนที่ปกปิดไม่ได้ก็นิยมใช้ ครีมกันแดด (sunscreen) ซึ่งทำหน้าที่ สะท้อน หรือ ดูดซับรังสี เพื่อลดผลกระทบต่อผิวหนัง สารสำคัญที่ทำหน้าที่ในครีมกันแดด แบ่งตามกลไกการทำงาน ได้แก่ แบบสะท้อนกลับ แบบดูดรังสี หรือทั้งสองแบบรวมกัน
กลุ่มที่ทำหน้าที่สะท้อนหรือหักเหรังสี UV ออกไปจากผิว ที่นิยมใช้กันมีอยู่ 2 ตัว คือ Titanium dioxide (TiO2) และ Zinc oxide (ZnO) กลุ่มที่ดูดซับรังสี UV ให้เข้มข้นน้อยลงเมื่อผ่านเข้าสู่ผิวหนังส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ ใช้กันอยู่หลายตัว เช่น 2-Ethylhexyl methoxycinamate (Parsol ® MCX) Benzophenone-3 (Oxybenzone) และ Butylmethoxydibenzoylmethane (Avobenzone) เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ทำหน้าที่ทั้งสะท้อนและดูดซับ UV เป็นกลุ่มที่พัฒนาขึ้นใหม่ เรียกว่า กลุ่ม Hybrid ณ ปี 2008 มีสารตัวเดียว คือ Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol หรือ Tinosorb® M
เนื่องจากรังสี UV มีช่วงคลื่นยาว (280 - 400 nm) สารแต่ละชนิดจึงป้องกันรังสี UV ได้ไม่เท่ากัน บางตัวกันได้เฉพาะช่วงคลื่นของ UVA (320 - 400 nm) บางตัวกันได้ในช่วง UVB (280 - 320 nm) การเลือกซื้อครีมกันแดด ดูที่ประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV ซึ่งแสดงอยู่ในรูปของค่า SPF (Sun Protection Factor) ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB ได้มากขึ้น ตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่เราอาจพบ ส่วนใหญ่เป็นระบบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น ซึ่งแบ่งระดับการป้องกันรังสี UVA เพิ่มขึ้นตามลำดับจาก PA+ PA++ และ PA+++ อย่างไรก็ดี การใช้ครีมกันแดดระยะยาว ยังมีข้อสันนิษฐานว่าจะทำงาน DNA บนผิวหนังและเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนังต่อไป และยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน
|