สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
สาระเคมีภัณฑ์

ความรู้เกี่ยวกับสารกันแดด (ตอนที่ 2)

ผู้เขียน: ธิตินันท์ กาพย์เกิด
หน่วยงาน: ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ
โทร 02 562 5555 ต่อ 2134 e-mail : fscitnm@ku.ac.th
วันที่: 1 ก.พ. 2553

            ในปัจจุบันมีรายงานการวิจัยพบว่า แสงแดดซึ่งมีรังสียูวีเป็นองค์ประกอบ เป็นสาเหตุสำคัญในการทำลายเซลล์ต่างๆในร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์ผิวหนัง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดการไหม้บนผิวหนัง การเกิดริ้วรอยก่อนวัย ตลอดจนการเกิดมะเร็งผิวหนัง การป้องกันที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันก็คือการใช้ครีมกันแดด (Sunscreens) มีประโยชน์ในการช่วยสะท้อนหรือดูดซับ (หรือทั้งสองอย่าง) เพื่อปกป้องผลกระทบจากรังสียูวีที่มีต่อผิวหนัง โดยสารสำคัญที่ใช้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทตามกลไกในการทำงาน ดังนี้

            1. สารกันแดดแบบกายภาพ (Physical Blockers) สารกันแดดกลุ่มนี้ทำหน้าที่สะท้อนหรือหักเหรังสียูวีออกไปจากผิว ที่นิยมใช้มีอยู่สองตัวคือ Titanium dioxide (TiO2) และ Zinc Oxide (ZnO)

            2. สารกันแดดแบบเคมี (Chemical Absorbers) ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีประเภทอินทรีย์ ทำหน้าที่ดูดซับรังสียูวีให้มีความเข้มน้อยลงเมื่อผ่านไปสู่ผิวหนัง สารกลุ่มนี้มีอยู่หลายตัว แต่ที่พบบ่อยจะเป็น 2-Ethylhexylmethoxycinnamate (Parsol MCX) Benzophenone-3 (Oxybenzone) และ Butylmethoxydibenzoylmethane (Avobenzone) เป็นต้น

            3. Hybrid (Organic Particulates) สารกลุ่มนี้ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่ เป็นสารกันแดดที่ทำหน้าที่ทั้งสะท้อนและดูดซับรังสียูวีได้ทั้งสองอย่างในตัวเอง ซึ่งปัจจุบัน (2008) มีสารตัวเดียวในกลุ่มนี้คือ Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol หรือ Tinosorb® M

            สารกันแดดแต่ละตัวสามารถปกป้องผิวจากรังสียูวีได้มากน้อยไม่เท่ากัน บางตัวกันแค่รังสียูวีเอ (320-400 nm) บางตัวก็กันแค่ยูวีบี (280-320 nm) การทราบว่าสารกันแดดตัวใดสามารถป้องกันรังสีได้มากน้อยแค่ไหนจะช่วยให้เราเลือกซื้อครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องผิวอย่างสูงสุด ประสิทธิภาพในการปกป้องรังสียูวีบี จะแสดงอยู่ในรูปของค่า SPF (Sun Protection Factor) หาได้จากอัตราส่วนของเวลาที่ถูกแสงแดดแล้วทำให้ผิวหนังอักเสบเมื่อทาครีมกันแดดต่อระยะเวลาดังกล่าวขณะที่ไม่มีครีมกันแดด ดังนั้นครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีบีได้มากขึ้น นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเอ แสดงอยู่ในรูปของค่า PA ส่วนใหญ่ระบบนี้ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ระดับการป้องกันรังสียูวีเอ แบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ PA+ PA++ และ PA+++  ซึ่งแสดงประสิทธิภาพของการป้องกันรังสียูวีเอเพิ่มขึ้นตามลำดับ

            สารกันแดดส่วนใหญ่ค่อนข้างเสถียรและมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีตราบใดที่สารเหล่านั้นยังติดอยู่บนผิว มีสารกันแดดบางชนิดเช่น Avobenzone และ Parsol MCX ที่สามารถเกิดการสลายตัวเมื่อถูกแสงยูวี อย่างไรก็ตามในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้ใช้ครีมกันแดดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และใช้ในปริมาณที่มากขึ้น สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF ที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันพบว่ามีรายงานถึงจำนวนผู้เป็นมะเร็งผิวหนัง มะเร็งทรวงอกในผู้ที่ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำเพิ่มขึ้นด้วย แต่ยังไม่มีรายงานการวิจัยที่แสดงว่าสารกันแดดเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง หรือมะเร็งชนิดอื่นๆ อย่างแน่ชัด เป็นเพียงข้อสันนิฐาน เนื่องจากสารดูดกลืนรังสียูวีในครีมกันแดดจะต้องสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีของสารเหล่านี้ได้ มีรายงานการวิจัยถึงสารดูดกลืนรังสียูวีบางชนิด เมื่อดูดกลืนรังสียูวีเอแล้วสามารถก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นมาซึ่งจะเป็นสาเหตุของการทำลายดีเอนเอบนผิวหนังและเกิดมะเร็งผิวหนังได้ต่อไป นอกจากนี้สารเคมีที่ใช้ในครีมกันแดดส่วนใหญ่สามารถซึมผ่านชั้นผิวหนังของคนได้ ทำให้เกิดการสะสมอยู่ภายใต้ชั้นผิวหนัง เมื่อผิวหนังโดนแสงแดดก็จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันแสงแดดลดลง จึงต้องทาซ้ำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเป็นพิษหรือเกิดการแพ้ได้ง่ายขึ้น เมื่อมีปริมาณสารมากขึ้น

            สารกันแดดที่พบในปัจจุบันมีมากกว่า 30 ชนิด แต่ที่นิยมใช้ตามท้องตลาดมีอยู่ประมาณ 15-20 ชนิดเท่านั้น จึงขอเลือกเฉพาะตัวที่พบได้บ่อย นิยมใช้ น่าสนใจ ซึ่งอยู่ในตารางด้านล่างนี้ โดยจะแสดงชื่อมาตรฐานของสาร (International Nomenclature of Cosmetic Ingredients: INCI) และให้รายละเอียดคร่าวๆว่าสามารถป้องกันรังสีช่วงไหนได้บ้าง

 

  • Titanium Dioxide ขนาดปกติประมาณ 150-300 nm มีคุณสมบัติสามารถสะท้อนรังสีที่มีช่วงความยาวคลื่น 290-700 nm ได้เป็นอย่างดี ซื่งรังสีช่วง 400-700 nm เป็นช่วงที่ตามองเห็นได้ ทำให้พบว่าผิวบริเวณที่ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นสีขาว หรือทำให้หน้าขาวเกินไป จึงมีการพัฒนาปัญหาดังกล่าวโดยการลดขนาดของอนุภาคให้เล็กลงเพื่อให้สะท้อนแสงได้น้อยลง สารกันแดดชนิดนี้มีความเสถียรมากเมื่อเปรียบเทียบกับสารกันแดดแบบเคมี แต่มีรายงานงานวิจัยพบว่าสามารถทำให้เกิดอนุมูลอิสระได้เมื่อถูกแสง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแพ้ และทำลายดีเอนเอได้ในระยะยาว

  • Benzophenone-3 (oxybenzone) เป็นสารกันแดดที่ค่อนข้างเสถียรแต่ประสิทธิภาพการดูดกลืนรังสีต่ำหรือกันแดดได้ไม่ดีนัก จึงต้องใช้สารเคมีชนิดนี้ในความเข้มข้นมากขึ้นจึงจะปกป้องผิวได้ดี แต่ก็ยังพบปัญหาคือสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดี ดังนั้นเมื่อใช้ที่ความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้ มีรายงานพบการแพ้ในบางราย นอกจากนี้สารกลุ่มนี้เมื่อโดนแสงแล้วสามารถทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้

  • Bis-Ethylhexyloxyphenolmethoxytriazine เป็นสารกันแดดที่ปกป้องได้ทั้งรังสียูวีเอและบี อีกทั้งมีความเสถียรมากและช่วยเป็น stabilizer ให้กับสารกลุ่ม Avobenzone ได้เป็นอย่างดี

  • Butyl Methoxydibenzoylmethane (Avobenzone) นิยมใช้เป็นสารกรองรังสียูวีเอกันอย่างแพร่หลาย แต่มีข้อเสียคือสามารถทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่ทำร้ายผิวได้ นอกจากนี้ยังถูกดูดซืมลงสู่ชั้นผิวหนังชั้นบน และสลายตัวเมื่อถูกรังสียูวีเอ ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันลดลงกว่า 50% เมื่อเผชิญกับรังสียูวีเพียง 30 นาที แก้ไขได้โดยการผสมเข้ากับสารเคมีตัวอื่นที่ช่วยปกป้อง Avobenzone ได้

  • Drometrizole TriSiloxane (Mexoryl ® XL) เป็นสารกันแดดที่สามารถปกป้องได้ทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี เป็นสารที่ค่อนข้างเสถียร แต่ก็ยังพบปัญหาสามารถก่อการระคายเคืองได้ในผู้ใช้บางราย

  • Ethylhexyl Dimethyl PABA (Padimate O) เป็นอนุพันธ์ของ para-aminobenzoic acid (PABA) เป็นสารกันแดดที่ถูกยกเลิกใช้ในปัจจุบันแล้ว เนื่องจากมีอันตรายต่อผิวค่อนข้างมาก ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่า PABA-free แต่มีส่วนผสมของ Padimate O ก็สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายเหมือนกัน ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่ทำร้ายผิวเมื่อโดดแดด และไม่เสถียรอีกด้วย

  • Homomenthyl Salicylate (Homosalate) จัดเป็นสารกลุ่ม Salicylate ดังนั้นผู้ที่มีประวัติการแพ้ยา Aspirin หรือ Salicylic Acid ก็จะสามารถเกิดอาการแพ้ Homosalate ได้เช่นกัน และอาจก่อการระคายเคืองผิวได้ในบางราย

  • Menthyl Anthranilate เป็นสารป้องกันรังสียูวีเอ แต่พบว่าสามารถทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อผิวได้เมื่อได้รับแสงแดด

  • 2-EthylhexylMethoxycinnamate เป็นสารกันแดดที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการเครื่องสำอางค์แต่ก็ยังพบปัญหาคือสามารถซึมผ่านลงในผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้ ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระและไม่เสถียรเมื่อโดนแสง

  • Terephthalylidene Dicamphor Sulfonic Acid (Mexoryl ® SX) เป็นสารกันแดดที่ป้องกันได้ทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี แต่เป็นสารกันแดดที่ไม่เสถียร มีรายงานว่าสารตัวนี้จะสลายตัว 40% เมื่อโดนแสงแดด 2 ชั่วโมง

  • Methylene Bis-Benzotriazilyl Tetramethylbutylphenol  (Tinosorb ® M) เป็นสารกันแดดที่ดูดซับรังสีได้เหมือน Chemical Absorbers และสะท้อนหักเหแสงได้เหมือน Physical Blockers ทางบริษัท Ciba เป็นผู้พัฒนา ข้อมูลทางด้านความปลอดภัยกล่าวว่าสารตัวนี้ซึมลงผิวได้น้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ แต่ยังไม่มีข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ มายืนยัน ดังนั้นในปัจจุบัน Tinosorb ® M ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีในการปกป้องผิวจากรังสียูวี

            ดังนั้นการเลือกซื้อสารกันแดดในท้องตลาดควรศึกษาส่วนประกอบของสารกันแดดว่าสามารถป้องกันรังสียูวีได้ตลอดทั้งช่วงหรือไม่ โดยดูฉลากและส่วนประกอบที่ระบุเอาไว้ สารกันแดดในอุดมคติควรจะสามารถกันแดดได้ดีครอบคลุมตลอดทั้งช่วงยูวี ไม่ทำให้แพ้ เสถียร กันน้ำได้ ติดทนนาน ซึ่งยากที่จะพบได้ในความเป็นจริง จากบทความที่กล่าวมานี้การเลือกใช้ครีมกันแดดจึงเป็นเรื่องที่ผู้ใช้ต้องทดลองด้วยตนเองเนื่องจากสภาพผิวที่แตกต่างกัน มีการแพ้หรือระคายเคืองไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะเหมาะสมกับครีมกันแดดที่มีส่วนผสมต่างกันได้

เอกสารอ้างอิง :

1. http://www.mywomenstuff.com/2008/06/17/mexoryl-and-tinosorb-s-sunscreen/

2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/E/088/17.PDF

3. http://ec.europa.eu/health/index_en.htm

4. http://drdingle.com/docs/sunsreens_final1.pdf

5. http://www.smartskincare.com/skinprotection/

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Titanium(IV) oxide
Zinc oxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
สาระเคมีภัณฑ์ - ความรู้เกี่ยวกับสารกันแดด (ตอนที่ 1)
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ขอบคุณเนื้อหาค่ะ

โดย:  กาญจน์  [6 ก.ค. 2553 15:35]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

เนื้อหาสาระดีมากจริงจริงขอบคุณคะ

โดย:  นทสรวง โพธิพงศา  [7 ส.ค. 2553 17:13]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

แล้วในครีมกันแดดที่เราใช้กันอยู่นี้ก็มีสารชนิดที่นิยมใช้กันใช้ไหมค่ะ

โดย:  นิวนิว  [29 ต.ค. 2553 16:14]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:4

http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=21&Pin=        

โดย:  นักเคมี  [6 ก.พ. 2554 09:47]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:5

http://en.wikipedia.org/wiki/International_Nomenclature_of_Cosmetic_Ingredients        International Nomenclature of Cosmetic Ingredients        
http://www.makingcosmetics.com/INCI-63.html        
http://www.specialchem4cosmetics.com/services/inci/index.aspx        
http://www.hc-sc.gc.ca/cps-spc/person/cosmet/ingredient/compliance-inci-conformite-eng.php        
http://www.lubrizol.com/personalcare/incinames/default.html        
http://www.cosmeticsandtoiletries.com/research/chemistry/9565177.html        
http://www.fda.gov/Cosmetics/InternationalActivities/default.htm        
http://ezinearticles.com/?International-Nomenclature-of-Cosmetic-Ingredients---How-to-Know-Whats-in-Your-Beauty-Products&id=4328337        International-Nomenclature-of-Cosmetic-Ingredients  - -  How to Know Whats in Your Beauty Products        
http://ec.europa.eu/consumers/sectors/cosmetics/cosing/index_en.htm        

โดย:  นักเคมี  [6 ก.พ. 2554 10:00]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 6:6

ทำอยู่บริษัทเครื่องสำอางแห่งหนึ่งเรียนจบด้านการตลาด แต่สนใจผลิตเครื่องสำอางที่บริษัทรับผลิตและผลิตขายเองด้วยเป็นคนขอจดแจ้งอย.เอง(เพิ่งเริ่มทำ)เลยรู้สึกว่าการทำเครื่องสำอางไม่น่าจะยากเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับตัวเคมีผสมเครื่องสำอางเท่าไหร่ ตอนนี้อาศัยครูพักลักจำเอา เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้ดีใจจังที่่เปิดมาเจอหน้านี้วันหน้าจะแวะมาใช้บริการนะคะ

โดย:  จิ  [7 ก.พ. 2554 00:00]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 7:14

ตอนนี้ใช้ครีมกันแดด SPF50+ PA+++ เทคโนโลยี Tinosorb รู้สึกว่าไม่มัน อ่านข้อมูลนี้ทำให้มั่นใจที่จะใช้ต่อเยอะเลย ขอบคุณข้อมูลดีๆค่ะ

โดย:  noonini@hotmail.com  [24 พ.ค. 2557 14:05]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 8:16

ตอนนี้แพ้ครีมกันแดดแตงกวายี่ห้อthe Richone ค่ะ แต่คนอื่นหลายๆคนใช้ไม่เป็นรัย
แต่ปกติเป็นคนผิวแพ้ง่ายค่ะ ขอคำแนะนำหน่อยค่ะ

โดย:  Diw-Diw  [31 พ.ค. 2557 16:40]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 9:17

ตอนี้ผมหัดทำจำพวก ครีมกันแดดอยู่ครัมแตก็ไม่คอย่รู้เรืองเคมีมากเท่าไรบังเออผมเปิดเขามาดูและได้อาน่ดูผมได้ความรู้ดีมากครับ

โดย:  Phornphan Ochsner  [3 ก.ค. 2562 22:45]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 10:18

อยากสอบถามผู้รู้ค่ะ ว่าถ้าหากว่าเราจะซื้อสารกันแดดมาใส่เพิ่มเข้าไปในครีมบำรุงของเราเพื่อเพื่อช่วยกันแดด  ได้เป็นทั้งบำรุงและกันแดด แบบนี้จะเลือกสารกันแดดยี่ห้อไหน แต่ต้องใส่ปริมาณเท่าไหร่ถึงจะพอเหมาะค่ะ

โดย:  ืืืOrn  [19 พ.ค. 2563 13:40]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น