สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

กรมควบคุมโรครณรงค์ให้ความรู้ ผู้ป่วยโรคปอดหิน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 25 ก.พ. 2551
            นพ.เสรี หงส์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมชาย ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา เดินทางลงพื้นที่หมู่บ้านทำหินทรายขัด ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ป่วยโรคซิลิโคสิส หรือโรคปอดหินฝุ่นทราย หลังมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว 1 ราย
       
            นพ.เสรี หงส์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคซิลิโคสิส เป็นโรคจากการประกอบอาชีพ โดยเกิดจากการหายใจเอาฝุ่นขนาดเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 0.5 - 5 ไมโครเมตร ที่มีผลึกซิลิก้า หรือ ซิลิคอนไดออกไซด์ เข้าไปในปอด ฝุ่นจะเข้าสู่ถุงลมของปอดแล้วถูกเม็ดเลือดขาวในปอดจับกิน มีผลทำให้เกิดปฏิกิริยาทำให้เป็นผังผืดที่เนื้อเยื่อปอด
       
            จากนั้นปอดจะสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ เมื่อมีการหายใจเอาฝุ่นซิลิก้าเข้าไปมากขึ้นก็จะมีการทำลายเนื้อเยื่อปอดมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดปอดจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ทำให้หายใจหอบ เหนื่อยง่าย เกิดความพิการที่เนื้อเยื่อปอด ไม่สามารถรักษาให้หายได้
       
            ฉะนั้น ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อโรคซิลิโคสิส เช่น ทำงานในโรงโม่ บด ย่อย สกัด ระเบิดหิน, เหมืองแร่หิน, อุตสาหกรรมทำแก้ว เซรามิก ครก อิฐ, การขัดแต่งหิน, การทำซีเมนต์ และอุตสาหกรรมหล่อหลอมโลหะ เป็นต้น จะต้องมีความรู้ในการป้องกันโรคโดยหลีกเลี่ยงไม่ทำงานในสถานที่ที่มีฝุ่นซิลิก้าบริสุทธิ์ หากต้องทำงานในสถานที่มีฝุ่นซิลิก้าให้ใส่หน้ากากกรองฝุ่นที่ได้มาตรฐานตลอดระยะเวลาทำงาน หากทำงานติดต่อกันหลายปีให้ตรวจสมรรถภาพปอดและเอ็กซเรย์ปอดเพิ่มเติมจากการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี และถ้ามีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง หรือไอมีเสมหะ ให้ไปพบแพทย์ทันที
       
            นพ.เสรี กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยพบมีรายงานผู้ป่วยโรคซิลิโคสิสครั้งแรกที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ.2497 กองอาชีวอนามัย กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการติดตามเฝ้าระวังโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยงมาโดยตลอดและพบว่ามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2541 พบว่ามีผู้เสี่ยงต่อการเกิดโรคประมาณ 221,796 คน
       
            ในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับการตรวจสุขภาพจำนวน 8,146 คน และพบผู้มีอาการเข้ากันได้กับโรคซิลิโคสิสจำนวน 169 คน คิดเป็นอุบัติการณ์การเกิดโรคซิลิโคสิสรายใหม่ทั้งหมดต่อจำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคซิลิโคสิส คือ 4,393 คน
       
            สำหรับ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยโรคซิลิโคสิส เมื่อปี 2548 จำนวน 11 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.43 ต่อแสนประชากร, ปี 2549 พบผู้ป่วย 3 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.1 ต่อแสนประชากร, ปี 2550 พบผู้ป่วย 8 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.3 ต่อแสนประชากร และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 รายซึ่งประกอบอาชีพทำหินทรายขัดใน ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
       
            นพ.เสรี กล่าวต่อว่า วันนี้ได้สั่งการให้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา เข้าไปดูแลกลุ่มเสี่ยงที่ประกอบอาชีพหินทรายขัด โดยทำการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวไว้ทั้งหมด และให้ติดตามดูแลอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ให้ตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการจัดซื้อหน้ากากกรองฝุ่นละอองที่ได้มาตรฐาน และด้านอื่นๆ ที่สำคัญจะต้องให้ความรู้ในการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องแก่กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวด้วย
       
            “หากจะให้ประชาชนกลุ่มนี้เลิกประกอบอาชีพดังกล่าวคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นอาชีพที่เขาทำมานานแล้ว และเป็นรายได้หลักที่จะนำมาเลี้ยงครอบครัว ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันโรคจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด” นพ.เสรี กล่าว
ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Silicon Dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - อันตรายจากโรคปอดหิน เป็นแล้วเสียชีวิตภายใน 1 เดือน
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น