สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

อันตรายจากโรคปอดหิน เป็นแล้วเสียชีวิตภายใน 1 เดือน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 22 ม.ค. 2551

            นายกำจัด รามกุล ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพที่น่าวิตกอยู่ในขณะนี้เนื่องจากไม่เคยได้รับรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต คือ โรคปอดหิน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเจียหินทราย เพื่อเป็นของตกแต่งบ้าน อาทิ รูปเด็ก รูปพระ ฯลฯ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาได้พบว่ามีผู้ป่วยถนนมิตรภาพ บริเวณเชิงเขายายเที่ยง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว 1 ราย และยังมีผู้ป่วยอีกหลายสิบราย นับว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกที่เสียชีวิตจากการประกอบอาชีพอุตสาหกรรมเจียรหินที่เป็นครัวเรือน ทั้งที่ปกติแล้วจะพบในสถานประกอบการที่เป็นระดับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างโรงโม่หินประมาณปีละ 10 ราย แต่ไม่เคยพบในระดับครัวเรือน
       
            นายกำจัด กล่าวต่อว่า การเจียหินทำให้เกิดฝุ่นขนาด 0.5 ไมครอน ซึ่งอันตรายต่อร่างกายเนื่องจากร่างกายไม่สามารถกรองหรือขับออกจากร่างกายได้ ซึ่งฝุ่นเหล่านี้มีส่วนผสมของซิลิกา เมื่อสูดดมเข้าไปเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปี ขึ้นไป ฝุ่นหินจะเข้าไปจับที่บริเวณปอดจนทำให้ปอดแข็งจากฝุ่นหินไม่สามารถขยายตัวรับออกซิเจนได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย
       
            “โรคนี้ไม่มีอาการบ่งชี้เบื้องต้น อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย  ๆ จะทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยหอบง่าย ผอม และจะทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ดี ทำให้ร่างกายซีด ถึงขั้นทำงานไม่ได้ สุดท้ายทำให้ภาวะหายใจล้มเหลว เป็นที่น่าห่วงว่าโรคนี้เมื่อเป็นแล้วไม่มีทางรักษาหาย เสียชีวิตอย่างเดียว และระยะอาการตั้งแต่เริ่มแสดงอาการจนถึงเสียชีวิตมีระยะเวลาเพียง 1เดือน” นายกำจัด กล่าว
       
            นายกำจัด กล่าวด้วยว่า เหตุที่ทำให้ทราบว่าผู้เสียชีวิตรายนี้ตายด้วยโรคปอดหินเนื่องจากแพทย์ที่ทำการรักษามีความสงสัยพร้อมกับซักประวัติผู้ป่วย จนในที่สุดทราบว่าเป็นโรคดังกล่าว ทั้งนี้ การวินิจฉัยทั่วไปแพทย์จะเอกซเรย์ปอดคนไข้ แต่จะพบจุดบ่งชี้คล้ายวัณโรค ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยโรคผิดพลาด หากไม่มีการสอบถามประวัติการทำงานของผู้ป่วย
       
            นายกำจัด กล่าวต่ออีกว่า วิธีการป้องกัน คือ ต้องใช้หน้ากากที่มีระดับการป้องกันระดับสูง อาทิ รุ่นพี 1 ซึ่งสามารถป้องกันฝุ่นได้ 80% ที่ผ่านมาประชาชนป้องกันโดยใช้หน้ากากที่เป็นผ้าบางหรือไม่ใช้หน้ากากเลย ซึ่งป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 0.1 - 0.5 ไมครอนได้เพียง 20% เท่านั้น หรือใช้วิธีการเจียหินที่มีระบบละอองฝอยของน้ำเข้ามาทำให้ฝุ่นหินไม่ฟุ้งกระจาย
       
            “ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวประกอบธุรกิจเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน จึงไม่มีกฎหมายและหน่วยงานของรัฐแห่งใดเข้ามาคุ้มครองดูแลอย่างจริงจัง ทั้งกระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้รับผิดชอบ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรน้อยกว่า 7 แรงคน ขณะนี้จึงทำได้เพียงการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนให้ป้องกันตนเอง” นายกำจัดกล่าว


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 22 มกราคม 2551 

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Silicon Dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - กรมควบคุมโรครณรงค์ให้ความรู้ ผู้ป่วยโรคปอดหิน
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น