สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

พริกป่นจากประเทศเพื่อนบ้าน ปนเปื้อนเชื้อราอันตราย

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
วันที่: 22 เม.ย. 2551

            ศาสตราจารย์อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยขาดข้อมูลความเสี่ยงจากการบริโภคพริกและพริกป่น ประกอบกับขณะนี้มีพริกจากประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายแข่งขันกับตลาดภายในประเทศ ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้ยังขาดการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถระบุถึงความเสี่ยงของอะฟลาทอกซินจากการบริโภคอาหารได้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงสนับสนุนงบประมาณการวิจัยเรื่องการจัดการเพื่อลดการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในพริกแห้งและพริกป่น แก่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เพื่อประเมินสถานภาพการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซินในพริกและพริกป่น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ และส่งเสริมการผลิตพริกวัตถุดิบเกษตรของไทย

            ศาสตราจารย์อานนท์ กล่าวต่อว่า จากการวิจัยโดยประมวลข้อมูลแหล่งผลิต การเพาะปลูก โรงงานและกิจการที่เกี่ยวข้องกับพริกแห้งและพริกป่น จุดเสี่ยงที่ก่อเกิดการปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน ต้นห่วงโซ่อาหารตามเส้นทางการนำเข้าพริกแห้งและพริกป่นจากต่างประเทศ ได้แก่ ด่านเชียงแสน จ.เชียงราย และด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว และสำรวจและเก็บตัวอย่างพริกแห้ง พริกป่น และผลิตภัณฑ์จากพริก เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนรวม 75 ตัวอย่าง พบว่าผู้ผลิตระดับโรงงานที่มีกำลังการผลิตมาก สามารถควบคุมกระบวนการผลิตให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ได้ ส่วนการขายเฉพาะในท้องถิ่นมักขาดแรงจูงใจในการผลิตที่ดี ทำให้ขาดสุขลักษณะที่ดีของผู้ผลิตและสถานที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ มีผลทำให้โอกาสการปนเปื้อนอะฟลาทอกซินในพริกแห้งและพริกป่น ในขณะที่พริกแห้งนำเข้าจากตลาดชายแดนทั้ง 2 แห่ง ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพก่อนนำเข้า จึงมีโอกาสปนเปื้อนอะฟลาทอกซินในผลิตภัณฑ์และมีความเสี่ยงในการบริโภค

            ทั้งนี้ อะฟลาทอกซิน เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราในกลุ่มแอสเพอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flaves) พบได้ในผลผลิตทางการเกษตร ทั้งที่ยังไม่ได้แปรรูป และผ่านการแปรรูปมาแล้ว เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลัง พริกแห้ง พริกไทย งา ถั่วเหลือง เนย เต้าเจี้ยว นอกจากนี้ยังพบในผัก ผลไม้แห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง ไข่ นม เนยแข็ง ที่สำคัญสาร อะฟลาท็อกซินเป็นสารที่ทนต่อความร้อนได้สูงถึง 268 องศาเซลเซียส ความร้อนที่ใช้ประกอบอาหารประจำวันไม่สามารถทำลายพิษของมันได้ จะมีเพียงด่างและคลอรีนที่สามารถทำลายได้

            สำหรับพิษภัยของสารอันตรายตัวนี้ หากร่างกายได้รับจำนวนมาก จะทำให้เกิดการสะสมจนเกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย หัวใจและสมองบวม หากเป็น อะฟลาท็อกซิน บี 1 อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในตับได้


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ประจำวันที่ 22 เมษายน 2551

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - เจอสารก่อมะเร็งตับในถั่วลิสงและพริกป่น
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น