สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

กรมวิชาการเกษตรยอมถอนประกาศรายชื่อพืชทั้ง 13 ชนิด

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์มติชน
วันที่: 13 ก.พ. 2552

            กรมวิชาการเกษตรยอมถอนประกาศพืชทั้ง 13 ชนิด ออกจากรายชื่อวัตถุอันตราย โดยที่ขอปรับเนื้อหาใหม่ รับทำสังคมสับสน ยันหวังดี ป้องกันเกษตรกรถูกหลอกใช้สารสกัดปราบศัตรูพืชไม่มีคุณภาพ ส.ส. ปชป. เรียกร้องให้ยกเลิก เผยอภิสิทธิ์และสุเทพ หนุนให้ทบทวน

            กรณีที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552 ที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กลากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดอกดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตราย ประเภทที่ 1 ตามพ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 สร้างความสับสนให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปนั้น

            เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่กรมวิชาการเกษตร นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แถลงชี้แจงว่า กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานต้นเรื่องของการออกประกาศฉบับนี้ รู้สึกไม่สบายใจและขอโทษที่ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคมเป็นอย่างมาก อาทิเช่น คนที่มีพริกอยู่ในครอบครองและจะนำไปขาย เกรงว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะการออกประกาศเพื่อควบคุมสารบางชนิดในพืชสมุนไพร ที่นำไปสกัดเป็นสารปราบศัตรูพืชเพื่อการค้า ต้องแจ้งต่อราชการเท่านั้น

            ดังนั้น ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ผมจะทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อขอให้ถอนประกาศฉบับนี้ แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขข้อความบางส่วน อาทิเช่น เพิ่มเติมชื่อสารนำหน้าชื่อพืชสมุนไพร พร้อมระบุว่าใช้สำหรับการผลิตสารปราบศัตรูพืชไว้ด้านหลัง เพื่อให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และจะถอนร่างประกาศของกรมวิชาการเกษตร ที่ระบุถึงรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกันด้วย นายสมชาย ชาญณรงค์กุล กล่าว

            นายสมชาย กล่าวต่ออีกว่า เหตุผลที่กรมวิชาการเกษตรผลักดันประกาศฉบับนี้ เพราะปัจจุบันมีผู้ผลิตสารปราบศัตรูพืชที่สกัดมาจากสมุนไพรเป็นจำนวนมาก แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ พบว่ามากกว่า 90% เป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงจำเป็นต้องควบคุมโดยด่วน เพื่อไม่ให้เกษตรกรถูกหลอก

            ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรอักษรย่อชื่อ อ. และนักการเมืองภาคอีสานชื่อ น. ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทสารเคมีข้ามขาติ เป็นผู้ผลักดันให้ออกประกาศฉบับนี้นั้น นายสมชายกล่าวยืนยันว่า การดำเนินการเรื่องนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบริษัทสารเคมีข้ามชาติ ตามที่มีการตั้งข้อสังเกต เพราะวัตถุประสงค์ที่เสนอออกประกาศฉบับนี้ คือ การควบคุมการผลิตสารจำกัดแมลงศัตรูพืชที่สกัดมาจากพืชสมุนไพรของผู้ประกอบการ ให้มีระบบชัดเจน โดยเฉพาะการตรวจสอบแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ เพื่อไม่ให้นำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาหลอกขายเกษตรกร นายสมชาย กล่าวปิดท้าย

            ทางด้านนายอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชื่อย่อ อ. ผลักดันให้ออกประกาศดังกล่าวว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใด และไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบนั้น เพราะไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัทสารเคมีข้ามชาติ และหลังจากทราบข่าวได้โทรศัพท์ไปสอบถามอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และยืนยันว่าตนไม่เห็นด้วยที่ประกาศให้พืช 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย เพราะทำให้ประชาชนแตกตื่น แต่นักวิชาการอาจไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่จะตามมา

            เป็นเรื่องไร้สาระมาก ถ้าจะบอกว่าผมอยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้ เข้าใจว่ากลุ่มเอ็นจีโอที่ออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ เป็นกลุ่มที่มีปัญหากับตน จึงพยายามให้ร้าย นายอนันต์กล่าว

            นายอนันต์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนที่ระบุว่าตนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองชื่อย่อ น. นั้น เป็นเพียงความสัมพันธ์ในการทำงาน เพราะช่วงที่ตนเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นักการเมืองคนดังกล่าวก็เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่หลังตนพ้นตำแหน่ง ส.ว. ก็ไม่ได้พบนักการเมืองคนดังกล่าวอีกเลย

            นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกรณีการออกประกาศให้สมุนไพรไทย 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายว่า ประกาศดังกล่าวมีจุดประสงค์ที่จะควบคุมการนำสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด เป็นส่วนผสมในสารกำจัดแมลง วัชพืชและศัตรูพืช ที่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายเท่านั้น ส่วนเกษตรกรที่ผลิตใช้เองหรือนำไปผสมในอาหาร ยาและเครื่องสำอางไม่เข้าข่ายต้องแจ้ง เพราะมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควบคุมดูแลอยู่แล้ว ส่วนการปลูกและการบริโภคยังทำได้เช่นเดิม

            ด้านนายรัชดา สิงคาลวณิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ และเปิดโอกาสให้เสนอแก้ไขได้ แต่ต้องหารือในที่ประชุมร่วม 9 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง หากยกเลิกจะทำให้สมุนไพร 13 ชนิด ไปอยู่ในหมวดวัตถุอันตราย ประเภทที่ 2 ซึ่งผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายจะยุ่งยากในการขึ้นทะเบียน เพราะต้องวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์ และต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 5,000 บาท

            นายรัชดา กล่าวต่ออีกว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เกิดจากเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมวิชาการเกษตรให้ปลูกหนอนตายหยาก พบว่ามีความยุ่งยากในการนำไปใช้ เพราะอยู่ในหมวดวัตถุอันตราย ประเภทที่ 2 จึงร้องขอให้ปรับเป็นประเภท 1 ที่ทำเพียงแจ้งการผลิตเท่านั้น จึงเห็นว่าเป็นผลดีในแง่การคุ้มครองเกษตรกรที่ซื้อสารกำจัดแมลงไปใช้ และคุ้มครองการนำเข้าสารกำจัดแมลงจากต่างประเทศที่อาจมีการปนเปื้อนได้ และการให้สมุนไพรทั้ง 13 ชนิด อยู่ในหมวดวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 ไม่น่าจะสกัดกั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพราะคุมแค่สารกำจัดแมลงและวัชพืชเท่านั้น

            ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ให้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีไปพูดคุยกับกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนที่จะชี้แจงให้ตนรับทราบ เพราะค่อนข้างกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชเหล่านี้

            วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ พ.อ. วินัย สมพงษ์ นางรัชดาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส. สัดส่วน และนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส. นครนายก ร่วมกันแถลงว่า ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนและยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้พืชทั้ง 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย เนื่องจากเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 ว่าด้วยสิทธิชุมชน มาตรา 79 ว่าด้วยการอนุรักษ์ปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่น มาตรา 82 ว่าด้วยแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมาตรา 85 ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา และรักษาพัฒนาถูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งส่งผลกระทบต่อวิถีการผลิตทางเกษตร อุตสาหกรรมครัวเรือน และอุตสาหกรรมการส่งออก ทำลายและตัดตอนองค์ความรู้ในวิถีชาวบ้าน แต่ในทางกลับกันประกาศดังกล่าวส่งผลดีต่อเกษตรเคมี และระบบทุนเกษตรผูกขาดแบบครบวงจร

            พ.อ. วินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนในเรื่องดังกล่าว นายกรัฐมนตรีและนายสุเทพก็เห็นด้วย และได้โทรศัพท์ถึงรัฐมนตรีอุตสาหกรรม เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว

          &n

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ประกาศ!! พืชสมุนไพรไทยจัดเป็นวัตถุอันตราย
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ทำไมไม่มีชื่อพืชน้ำ

โดย:  เท่ 2/2  [26 พ.ค. 2552 17:44]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:5

น่าจะแสดงรายละเอียดด้วย

โดย:  .........  [11 มิ.ย. 2552 19:14]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:6

ทำไมไม่ไปคุมตัวผลิตภัณฑ์และผู้ผลิตให้มีมาตรฐานและมีคุณาภาพ มีบทลงโทษที่เด็ดขาดสำหรับผู้หลอกลวง อย่าลงไปเล่นกับชาวเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ค้า พวกนี้ไม่มีอะไรมาต่อกรกับคุณ หรือคุณกลัวนายทุน

โดย:  แพร่พันธ์  [31 ก.ค. 2552 14:49]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:10

ทำไมไม่ค่อยมีใครเขียนชื่อพืชที่จะปลูกในฤดูหนาวและฤดูร้อนให้เลยอ่ะ

              อยากร้องไห้

โดย:  แนน 210 52  [15 พ.ย. 2552 09:41]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:13

น่าจะ มี รูป ภาพ ประ กอบ และ ชื่อ

โดย:  เด็กคิด  [18 ต.ค. 2553 11:28]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 6:14

น่าจะมีรายชื่อเยอะ


โดย:  เด็ก B.M.  [12 ม.ค. 2554 14:00]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 7:15

ภาพประกอบพร้อมชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องโปรดติดต่อคุณวินัย สมประสงค์ พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ กองคุ้มครองพันธุพืช กรมวิชาการเกษตร 02-9405628


โดย:  กลุ่มเพื่อน 5.63 โรงเรียนอุตรดิตถ์  [19 ก.ย. 2554 17:22]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น