สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ประกาศ!! พืชสมุนไพรไทยจัดเป็นวัตถุอันตราย

ผู้เขียน: สำนักข่าวไทย
วันที่: 11 ก.พ. 2552

            วงการสมุนไพรสะเทือน กระทรวงอุตสาหกรรมจัดพริก ขึ้นฉ่าย ตะไคร้ ขมิ้นชัน เป็นวัตถุอันตราย ส่วนกรมวิชาการเกษตรยืนยันคุมสมุนไพรอันตรายเฉพาะแปรรูปเป็นยาฆ่าแมลงเท่านั้น ไม่กระทบกับการบริโภคหรือปลูกแต่อย่างใด ทางด้านเอ็นจีโอกังขาหวังกีดกันทางการค้า ส่งเสริมสารเคมีมาใช้ในงานเกษตร  แนะถ้าให้ดียกเลิกไปเลย

สาธารณสุขเตือนประกาศฉบับนี้กระทบต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล

            นพ. ประพจน์ เภตรากาศ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ประกาศฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล เพราะพืชทั้ง 13 ชนิด เป็นพืชที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมานาน ชาวบ้านปลูกไว้ภายในบ้าน ซึ่งมีทั้งผลิตในระดับอุตสาหกรรมครัวเรือน และผลิตในระดับอุตสาหกรรมส่งออกอีกด้วย

            เมื่อกำหนดเป็นวัตถุอันตรายแล้ว ต่อไปนี้หากใครมีครอบครองหรือครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย จะต้องมีการจดแจ้งหรือขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะต่อชาวบ้านที่ปลูกหรือขายพืชเหล่านี้ตามตลาดสด หรือแม้แต่ในภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม นพ. ประพจน์ เภตรากาศ กล่าว

            นพ. ประพจน์ เภตรากาศ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมไม่เคยแจ้งมาก่อนว่าจะออกประกาศควบคุมพืชสมุนไพรเหล่านี้ และไม่มีการเปิดรับฟังความคิดใดๆ เลย ทำให้สงสัยอย่างมากว่ามีเหตุผลอะไรที่ต้องควบคุมไปเพื่ออะไร มีนัยแอบแฝงอะไรหรือไม่

            ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 13 ก.พ.นี้ เพื่อรายงานผลให้รมว.สธ. ทราบก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนหรือยกเลิกการออกประกาศนี้เสีย

            นพ. ประพจน์ เภตรากาศ กล่าวว่า ต้องมีการทบทวนประกาศดังกล่าวแน่ เพราะสวนทางกับนโยบายหลักของประเทศของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย หรือแม้แต่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ส่งเสริมให้คนไทยใช้พืชสมุนไพรพื้นบ้าน รวมทั้งขัดต่อพ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542

กรมวิชาการเกษตรชี้ประโยชน์เพื่อคุ้มครองเกษตรกร

            ทางด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายและกรมวิชาการเกษตร  ได้ขึ้นทะเบียนพืชสมุนไพรไทย 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย  ว่าที่จริงประกาศฉบับนี้ควบคุมเฉพาะการนำสมุนไพรเหล่านี้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการกำจัดแมลง หรือยาฆ่าแมลง และต้องทำเพื่อการค้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการปลูก การจำหน่าย หรือนำมาเป็นยาสมุนไพรรักษาโรค และไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทย ที่ใช้สมุนไพรเหล่านี้ในการประกอบอาหาร โดยประกาศฉบับนี้ ได้ย้ายสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดจากบัญชี 2 ซึ่งสมุนไพรไทยทุกตัวอยู่ในบัญชีนี้  คือต้องมีการบังคับให้ขึ้นทะเบียน แต่ไม่ต้องขออนุญาตผลิต โดยย้ายมาอยู่ในบัญชี 1 ซึ่งง่ายขึ้นกว่าเดิม คือเพียงแค่แจ้งให้ทราบว่าจะผลิต โดยไม่ต้องขออนุญาต หรือขึ้นทะเบียนใด ๆ

            ดังนั้น ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนักกับข่าวนี้ เพราะวัตถุประสงค์สำคัญของการขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตราย เพื่อคุ้มครองเกษตรกร ให้รอดพ้นจากการถูกการหลอกขายยาฆ่าแมลงและปุ๋ยชีวภาพที่ไม่มีคุณภาพที่ผลิตจากสมุนไพรเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหามากในช่วงที่ผ่านมา

เอ็นจีโอคัดค้านประกาศเต็มที่

            นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ไม่สามารถยอมรับประกาศดังกล่าวได้ เพราะทำให้สถานะของพืชสมุนไพรกลายเป็นวัตถุอันตรายและกระทบวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย ที่นำพืชสมุนไพรเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ เพื่อทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนำเข้าราคาแพง เพราะการควบคุมผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่จะออกมา หมายความว่า ต่อไปเกษตรกรจะไม่สามารถใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำพืชสมุนไพรมาหมัก จนเป็นสารอินทรีย์กำจัดศัตรูพืชได้เอง แต่ต้องไปขึ้นทะเบียนการผลิตซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและน่าสังเกตว่าเป็นประกาศที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไม่ แต่กลับทำให้เกษตรกรไม่สามารถพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

            ขณะที่ น.ส. ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การจัดแถลงข่าวคัดค้านการขึ้นทะเบียนพืช 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย ลงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ความเห็นว่า ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเป็นวัตุอันตราย ซึ่งประกอบด้วย สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คื่นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก  เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข. 

            น.ส. ทัศนีย์ กล่าวว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการจัดประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 เพื่อเสนอให้ขึ้นทะเบียนพืชทั้ง 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย และในวันที่ 3 กุมภาพันธุ์ มีการขึ้นทะเบียน ซึ่งการขึ้นทะเบียนพืชทั้ง 13 ชนิดนี้ทำให้เกิดความสับสนกับทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรที่นำพืชบางตัวมาใช้ในการกำจัดศัตรูพืช ยังมีบางชนิดที่นำมาทำสมุนไพร  การประกาศเช่นนี้ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าพืชเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้ได้อีกหรือไม่ 

            ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวอีกว่า  การประกาศเช่นนี้จะกระทบกับประชาชนโดยตรง ต่อไปจะมีการเข้ามาควบคุมพืชทั้ง 13 ชนิด ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และทำลายระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ดังนั้นคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องออกมีชี้แจงและระบุว่าสารตัวใดบ้างที่เป็นอันตราย

            นางสุมาลี ธัญญเจริญ จากโรงเรียนชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า เกษตรกรจำนวนมากในพื้นที่ใช้เกษตรอินทรีย์และเกษตรชีวภาพที่ไม่เป็นอันตราย โดยนำพืชสมุนไพรมาทำใช้ในครัวเรือนและเหลือขายในชุมชน แต่เมื่อถูกควบคุมให้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

            ด้านนายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ  ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวเรื่องเดียวกันนี้ ว่า  รู้สึกแปลกใจกับประกาศดังกล่าวมาก จริงๆ ไม่ควรที่จะมีออกมาด้วยซ้ำ เป็นเรื่องตลก และคิดว่าน่าจะมีวาระซ่อนเร้น ถึงความไม่ชอบมาพากล  และไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คนในกรมวิชาการเกษตรกำลังรับใช้ใครอยู่หรือเปล่า ตนก็ไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายหมอพื้นบ้าน เครือข่ายด้านการเกษตร และเครือข่ายฐานทรัพยากรอาหาร ก็จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาประมวลสถานการณ์ ความรู้ความเข้าใจ และองค์ประกอบต่างๆ มาหารือกันก่อนที่จำนำเสนอ ตั้งข้อสังเกตผ่านสื่อมวลชนต่อไป

            ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวต่อว่า ประกาศดังกล่าว สร้างความตกใจ หวาดวิตก ต่อสังคมมาก โดยส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร และผู้บริโภค การที่ออกมาบอกเช่นนี้ น่าจะมีการชี้แจงให้ชัดเจนว่า ในพืชแต่ละชนิดที่ระบุไปนั้น  มีสารประกอบตัวไหนเป็นสารอันตราย ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ยึดหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีเกษตรแบบพึ่งตนเองมาใช้ในการเพาะปลูก พืชต่างๆ เหล่านี้ มีส่วนไปควบคุมแมลง และกำจัดศัตรูพืชซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อคนต่อพืชด้วยซ้ำ จึงคิดว่าควรยกเลิกประกาศไปเลย

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฉบับใหม่ ยึดความปลอดภัยและประโยชน์เป็นหลัก
บอกข่าวเล่าความ - พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฉบับใหม่บังคับใช้ 23 ส.ค. นี้
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

น่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติม

โดย:  โบอิ้ง  [19 ก.พ. 2552 10:47]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:3

ข้อมูลดีมากเลย

โดย:  เมย์  [19 ก.พ. 2552 12:56]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:9

น่าจะแจกแจงเล่าแจ้งแถลงไขให้ชัดเจนนะขอรับ ท่าน

โดย:  ฅนขายฃวด  [24 ก.พ. 2552 06:45]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:12

สนับสนุนความคิดเห็นที่ 4 +พืช 13 ชนิดนี้ใช้ประกอบอาหารมานานแล้ว ปัจจุบันก็ใช้

โดย:  คนกินผักเป็นอาหาร  [19 ก.ค. 2552 19:32]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:13

ข้อมูลดีมากคัพ

โดย:  ninja team  [28 ก.ค. 2552 15:41]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 6:14

แล้วเราจะกินอะไร

โดย:  แพรว  [20 ส.ค. 2552 21:30]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 7:16

คนที่ชอบกินผักกูดยำ ทางใต้ ที่คนชอบนำมายำ  ต้นกูดจะมีตัวถากมาก คนจะฉีดยาฆ่าตัวถากก่อน  คนกินยาเข้าไปด้วย


โดย:  ปองหทัย ทองคุปต์  [15 ก.ย. 2552 12:54]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 8:17

จะมีเยาวชนกี่คนมาสนใจรายละเอียดของ พรบ แค่ได้ยินว่าเป็นวัตถุอันตรายก็ไม่กล้ากินแล้ว อีกหน่อยสมุนไพรดีๆเหล่านี้คงต้องถูกลืมไปแหงเลยทั้งๆที่เป็นภูมิปัญญาดีๆของคนรุ่นก่อนที่ตกทอดกันมาแท้ๆ

โดย:  นศ เกษตร  [9 ธ.ค. 2552 13:49]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 9:19

สมุนไพรอะไรบ้างหล่ะ?
13ชนิดเนี่ย
เห็นแก่กิน ( ตะกละ ) อยู่ด้วยชี - o -

โดย:  คนกินเก่ง  [6 มิ.ย. 2553 16:18]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 10:23

ขยันออกกดหมายโดยไม่ถามคนไทยแต่เอาใจต่างชาติ

โดย:  คนไม่โกง  [21 มี.ค. 2555 12:40]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น