สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

พบสารเคมีปนเปื้อนน้ำบาดาลในพื้นที่ภาคกลาง

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์มติชน
วันที่: 18 ก.พ. 2552

            นักวิชาการจำนวนกว่า 500 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุมด้านทรัพยากรน้ำบาดาลระดับนานาชาติซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำบาดาลจากสถาบันสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา และประธานสมาคมอุทกธรณีวิทยาโลกซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานน้ำบาดาลของธนาคารโลก โดยการประชุมในครั้งนี้คาดหวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาการใช้น้ำบาดาลอย่างยั่งยืน ขณะที่อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นห่วงสารเคมีปนเปื้อนน้ำบาดาล ในพื้นที่เกษตรกรรมภาคกลาง

            ภายหลังจากการประชุม นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นระหว่างประเทศ สำหรับไทยซึ่งประสบปัญหาทั้งน้ำมากและน้ำน้อย จำเป็นที่จะต้องบริหารน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการนำน้ำจากใต้ดินมาใช้เพิ่มเติมก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง จึงให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำแผนที่น้ำใต้ดินให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อวางแผนการใช้น้ำอย่างบูรณาการ

            ทางด้าน น.ส. สมคิด บัวเพ็ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงการจัดทำแผนที่น้ำบาดาล ศักยภาพ 1:50,000 ว่า อยู่ระหว่างเตรียมเสนอนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขอใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ซึ่งคาดว่า พื้นที่นำร่องที่ต้องเร่งดำเนินการภายในปี พ.ศ.2552-2553 คือ ภาคกลางตอนใต้ ครอบคลุมตั้งแต่ จังหวัดสิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้เกษตรกรเริ่มสูบน้ำบาดาลไปใช้ทำนากันมากขึ้น แม้จะยังไม่ถึงขั้นวิกฤตแต่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุด

            ปัจจุบันปัญหาแผ่นดินทรุดจากการขุดเจาะน้ำบาดาลในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ถือว่าควบคุมสถานการณ์ได้ สามารถลดการใช้น้ำบาดาลเหลือเพียงวันละ 1.25 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน เท่านั้น สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด ยังไม่มีปัญหาแต่จะไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น และจะมีมาตรการกำกับดูแลและขออนุญาตให้เจาะตามศักยภาพที่เจาะ ขณะนี้ไม่ห่วงเรื่องปริมาณ แต่ห่วงเรื่องคุณภาพ เพราะเริ่มพบว่าน้ำบาดาลในหลายแห่งมีปัญหาการปนเปื้อนมากขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่ติดกับแหล่งเกษตรกรรม อาทิ การปนเปื้อนของสารไนเตรดในพื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่ที่มีการฝังกลบขยะที่ขาดคุณภาพ ซึ่งจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้ น.ส. สมคิด บัวเพ็ง กล่าวปิดท้าย

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - กรมควบคุมมลพิษเตือนคนกาญจน์งดดื่มน้ำบาดาล
บอกข่าวเล่าความ - สารไนเตรทรุกแหล่งน้ำ ผลพวงเกษตรกรโหมใส่ปุ๋ย
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น