สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ความคืบหน้ากรณีมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่: 19 มี.ค. 2552

            หลังจากที่มติในที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.)หรือบอร์ดสิ่งแวดล้อมที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 มีมติไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองระยอง ที่ให้ประกาศพื้นที่ มาบตาพุด บ้านฉาง มาบข่า ทับมา เนินพระ เป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่ให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ไปอุทธรณ์ต่อศาลปกครองระยองในประเด็นที่ระบุว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดก่อนที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั่งเป็นประธานบอร์ดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่กรณีไม่ประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ

ส.อ.ท. เสนอตั้งองค์กรภาคีร่วม

            เมื่อผลออกมาเป็นแบบนี้ทำเอาผู้ประกอบการในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดยนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานส.อ.ท. เรียกประชุมบรรดาสมาชิกที่มีสถานประกอบการในพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง โดยด่วนในค่ำวันเดียวกัน (16 มีนาคม 2552) เพื่อหาข้อสรุปกรณีบอร์ดสวล. ไม่ยื่นอุทธรณ์การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งได้ข้อสรุปหลักๆ ว่า ภาครัฐควรตั้งองค์กรภาคีร่วม ทั้งจากภาครัฐ ชุมชน เอกชน ผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องมาวางกรอบการแก้ไขปัญหาและศึกษาผลกระทบให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน และรัฐต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพราะการประกาศเขตควบคุมมลพิษก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในหลายด้านที่อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้ รวมถึงภาครัฐจะต้องดูแลไม่ให้กระทบกับการลงทุนที่กำลังดำเนินการอยู่ เป็นต้น

            ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าขณะนี้ภาคเอกชนที่กระจายอยู่ในพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นเขตควบคุมมลพิษที่ตั้งอยู่ทั้งใน และนอกนิคมอุตสาหกรรมต่างก็รอดูกรอบของท้องถิ่นที่กำหนดเรื่องมลพิษว่า จะออกมาเป็นอย่างไร และสิ่งหนึ่งที่ต้องการให้รัฐดูแลอย่างรอบคอบคือการตัดสินใจด้วยข้อเท็จจริง โดยไม่ควรมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการวางแผนเรื่องลดและขจัดมลพิษเป็นเรื่องระยะยาว เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้วแผนงานและกฎกติกาที่มีอยู่แล้วจะต้องยังอยู่ได้ด้วย

ปตท. ชงบอร์ดดูผลกระทบ

            ด้านท่าทีของธุรกิจในกลุ่มปตท. นั้น ล่าสุดดร. จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ดบมจ.ปตท.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 มีนาคมนี้ บมจ.ปตท. จะมีการรายงานสถานการณ์ผลกระทบ จากการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษให้ที่ประชุมรับทราบ เนื่องจากเครือบมจ.ปตท. มีโครงการที่เข้าไปลงทุนแล้วและกำลังจะเกิดใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งในส่วนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

            โดยในส่วนของการลงทุนเกี่ยวกับโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6 ที่ป้อนวัตถุดิบให้กับปิโตรเคมีระยะที่ 3 เฟส 1 ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะผ่านขั้นตอนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ และใบอนุญาตต่างๆที่เกี่ยวข้องได้รับอนุญาตทั้งหมดแล้ว โดยอยู่ในระหว่างการก่อสร้างซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2553 นี้ แต่สำหรับโครงการที่คาดว่าอาจจะมีผลกระทบ จะอยู่ในส่วนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 7 และปิโตรเคมีระยะที่ 3 เฟส 2 ที่จะใช้วัตถุดิบจากโรงแยกก๊าซแห่งนี้ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนกว่าล้านบาท เพราะต้องขึ้นอยู่กับกฎกติกาที่จะถูกกำหนดออกมาภายใต้เขตควบคุมมลพิษว่าจะมีความเข้มงวดมากน้อยเพียงใด โดยหากมีการกำหนดออกมาเป็นไปตามมาตรฐานสากล ก็คาดว่าจะไม่มีปัญหาเนื่องจากที่ผ่านมาโครงการลงทุนต่างๆของบมจ.ปตท. มีการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว

            หากมีการกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดกว่านี้ จะทำให้ต้นทุนโครงการสูงขึ้นและใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้น ซึ่งบมจ.ปตท. จะต้องมีการปรับแผนการลงทุนในส่วนนี้ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนด และอาจจะกระทบกับผลตอบแทนการลงทุน ผลก็คืออาจจะจำเป็นต้องยกเลิกการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 7 และมีผลต่อไปยังปิโตรเคมีระยะที่ 3 เฟสที่ 2 ได้

สำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ

            ต่อเรื่องนี้ฐานเศรษฐกิจได้สอบถามถึงความพร้อมในการกำหนดกรอบการดูแลมลพิษของภาคท้องถิ่น ซึ่งนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า บทบาทของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นับจากนี้ไปจะต้องลงไปในกรอบของการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดออกมาเป็นแผนปฏิบัติ โดยเร็วๆ นี้จะต้องลงสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อติดตามผลในขณะนี้ว่าเป็นอย่างไร และลำดับต่อไป ก็จะลงไปสำรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โดยการลงสำรวจพื้นที่จะร่วมมือกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ โดยมองไปถึงประเด็นตรวจสอบปัญหามลพิษในพื้นที่โดยผ่านพิกัดดาวเทียม GPS (Global Positioning System) เพื่อให้เกิดความแม่นยำสูง มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดด้วย โดยกรอบการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ภาคท้องถิ่นเข้าไปดูแลนั้นจะทยอยออกมาหลังประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในพระราชกิจจานุเบกษาแล้ว

นักวิชาการลงพื้นที่สัปดาห์หน้า

            นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับการจัดทำแผนแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดนั้น ในสัปดาห์หน้าในฐานะนักวิชาการจะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีอยู่ เพื่อจัดทำให้เป็นระบบ ว่ามีอะไรบ้าง โดยจะอิงกับฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ และสิ่งไหนที่จะต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ฐานข้อมูลแน่นขึ้น อย่างกรณีน้ำบ่อตื้นที่มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก แม้ว่าจะไม่ทราบว่ามาจากแหล่งกำเนิดมลพิษที่ใด จะต้องหาวิธีแก้ไขให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างสะอาด เป็นต้น รวมถึงปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จะต้องดูจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กรมอนามัย ว่าเป็นอย่างไร จุดไหนที่ยังไม่ครอบคลุมก็จะขยายการเก็บข้อมูลออกไป หรือการเก็บข้อมูลสุขภาพของพนักงานในโรงงาน เพื่อให้มีการเชื่อมโยงของแหล่งกำเนิดมลพิษ

            นอกจากนี้ ส่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการ คงเป็นเรื่องของมาตรฐานการปล่อยมลพิษ ที่จะต้องดูว่ามาตรฐานที่มีอยู่เข้มงวดพอหรือยัง มีอะไรบ้างที่จะต้องทบทวนมาตรฐานใหม่ ซึ่งจะต้องไปเก็บข้อมูลมาเพิ่มเติม ที่สำคัญจะต้องนำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง 2550-2554 มาทบทวน ว่ายังมีจุดบกพร่องอะไรบ้างที่จะต้องศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะที่ทำมายังไม่มีความชัดเจน แต่ไม่จำเป็นต้องไปตัดทิ้ง เนื่องจากบางอย่างที่แผนกำหนดมาก็ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่จัดสรรลงไปที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที

ดึงประชาชนมีส่วนร่วม

            อีกทั้ง จะต้องไปดูในเรื่องของการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่กันชนระหว่างโรงงานและที่อยู่อาศัย เนื่องจากของเดิมมีการประกาศไว้อยู่แล้ว แต่ไม่มีการนำมาปฏิบัติ เพราะมีการขยายโรงงานไปเรื่อยๆ ซึ่งจะต้องไปดูว่าจะใช้พื้นที่ส่วนไหนเป็นพื้นที่กันชน ซึ่งจะต้องศึกษาควบคู่กับการจัดทำแผน ซึ่งการศึกษาและการเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อมาจัดทำแผนนั้นจะต้องรัดกุม เนื่องจากพ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ระบุไว้มีขั้นตอนในการจัดทำแผนจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม จึงต้องศึกษารายละเอียดค่อนข้างมาก เพื่อให้แผนนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้

            นายเดชรัต สุขกำเนิด กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจครั้งนี้ จะมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง 2550-2554 จะมาจากผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลนี้ จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำเป็นแผนให้ทันกับงบประมาณปี 2553 ที่จะมีการอนุมัติงบออกมา ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับงบเพิ่มเติมในส่วนของงบประมาณของภาครัฐ ในขณะที่งบของภาคเอกชนที่ใช้กว่า 17,000 ล้านบาทนั้น ต้องมาดูว่าในส่วนไหนที่ดำเนินการไปแล้ว และจุดไหนยังไม่ดำเนินการ

ประสานท้องถิ่นเก็บข้อมูล

            ขณะที่นายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เบื้องต้นเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกได้มีการหารือเพื่อให้ร่วมลงพื้นที่มาบตาพุดเพื่อศึกษาและวางกรอบตามการประกาศเขตควบคุมมลพิษในฐานะนักวิชาการ ซึ่งการดำเนินการลำดับแรกคงต้องเข้าไปประสานกับกลุ่มต่างๆ ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหามลพิษ แหล่งกำเนิดมลพิษ ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ โดยจะดูทั้งข้อมูลเก่าและใหม่ทุกด้าน เปิดให้บุคคลที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ประจำวันที่ 19 มีนาคม 2552

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ศาลระยองประกาศมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น