สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ศาลระยองประกาศมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

ผู้เขียน: สำนักข่าวไทย
วันที่: 3 มี.ค. 2552

            ศาลปกครองระยองพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศท้องที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษภายใน 60 วัน ทางด้านเอกชนหวั่นกระทบการลงทุนในระยะยาว ขณะที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เตรียมหารือฟ้องอาญาและแพ่งกับบอร์ดสิ่งแวดล้อมชุดเดิม

            เมื่อเวลา 11:00 น. วันนี้ (3 มีนาคม 2552) คณะตุลาการศาลปกครองระยอง อ่านคำพิพากษาคดีที่นายเจริญ เดชคุ้ม พร้อมชาวบ้านเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง รวม 27 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยไม่ประกาศให้พื้นที่ตำบลมาบตาพุด และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งศาลพิเคราะห์ตามหลักฐานเอกสารการรายงานของกรมควบคุมมลพิษในการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2548 และเอกสารทางวิชาการอีกหลายรายการ ล้วนระบุว่า ปัญหามลพิษในท้องที่มาบตาพุดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ศาลจึงรับฟังว่าเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นพื้นที่มีปัญหามลพิษ มีแนวโน้มร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน หรือก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงสมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด ขจัดมลพิษ ซึ่งเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ยังครอบคลุมบางตำบลที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองระยอง คือ ตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า ตำบลทับมา และที่ผ่านมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ได้ประกาศกำหนดเขตควบคุมมลพิษไปแล้ว 17 พื้นที่ ใน 12 จังหวัด แต่ไม่เคยประกาศให้ส่วนหนึ่งส่วนใดเพียงบางส่วนของอำเภอหรือตำบลเป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงสมควรให้ส่วนที่เหลือของตำบลที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย

            นอกจากนี้ ยังมีนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ตั้งอยู่ในตำบลบ้านฉาง อ.บ้านฉาง พบว่าคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งที่สถานีหาดพยูน มีแบคทีเรียและเหล็กมีค่าเกินมาตรฐาน ศาลจึงมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้งตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า และตำบลทับมา อ.เมือง ตลอดจนตำบลบ้านฉาง ทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด ขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา

เอกชนหวั่นกระทบลงทุนระยะยาว

            นายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อศาลตัดสินออกมาให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ผลกระทบต่อการลงทุนระยะสั้นคงไม่มี เพราะโครงการใหม่ชะลอไปตามภาวะเศรษฐกิจ และโครงการที่อยู่ระหว่างการลงทุนก็คงต้องดำเนินการต่อไป เพราะได้ผ่านความเห็นชอบจากอีไอเอแล้ว

            สิ่งที่เป็นห่วงคือการลงทุนในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการขยายกำลังการผลิตหรือโครงการลงทุนใหม่  เพราะหากมีการใช้คำสั่งศาลฯเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาจะทำให้การลงทุนใหม่ในไทยเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นภาครัฐควรต้องเข้ามามีบทบาทในการวางกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้อีไอเอชัดเจน นอกจากนี้ คำสั่งศาลฯดังกล่าวอาจกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากระยองเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ

            อย่างไรก็ตาม  การประกาศเขตควบคุมจะกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ซึ่งขณะนี้เองประเทศเพื่อนบ้านของไทยพยายามดึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไปลงทุนยังประเทศของตน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อาจจะต้องชะลอออกไป หรือย้ายฐานไปลงทุนในประเทศอื่นแทน  ดังนั้นทางส.อ.ท.จะมีการประชุมสมาชิกในเร็วๆนี้เพื่อหารือในเรื่องดังกล่าวรวมทั้งเตรียมชี้แจงข้อมูลให้นักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับการประกาศดังกล่าวให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าไม่ได้ส่งผลเลวร้ายแต่อย่างใด

ยันเอกชนเข้มงวดสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

            นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด(มหาชน)  โรงงานตั้งอยู่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง กล่าวว่า กำลังศึกษาคำตัดสินของศาลฯที่ออกมาว่าจะมีผลกระทบต่อการอย่างไรบ้าง และต้องดูในเรื่องของกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตาม แต่ก่อนหน้านี้ การลงทุนโครงการใหม่ๆ ในเขตมาบตาพุดต้องลดมลพิษในเขตดังกล่าวให้ได้ก่อนจึงจะลงทุนได้ หากลดมลพิษได้ 100% จะสามารถลงทุนได้เพียง 80% โครงการที่จะลงทุนต้องผ่านแผนการรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วย ที่ผ่านมากลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ๆ ได้ลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก เพื่อปฏิบัติกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องของการอุทธรณ์คงเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการพิจารณา

            แหล่งข่าวระดับสูงจากบมจ.ปตท.เคมิคอล กล่าวว่า การประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆของบริษัทในมาบตาพุด เนื่องจากได้ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการลงทุนโครงการใหม่ๆซึ่งทยอยแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ ส่วนโครงการลงทุนใหม่ๆนั้น บริษัทไม่ได้มองการลงทุนเฉพาะในไทยแต่มองไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจากเข้าใจดีกว่าการลงทุนในไทยนับจากนี้ไปจะทำได้ยากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องมลภาวะ

เครือข่ายฯ เตรียมฟ้องอาญาและแพ่ง

            นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เผยภายหลังร่วมรับฟังคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง ร่วมกับชาวบ้านประมาณ 100 คน ว่า ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาตัดสินให้ประกาศเขตพื้นที่เทศบาลมาบตาพุดทั้งเทศบาลเป็นเขตควบคุมมลพิษ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ ต.ทับมา ต.เนินพระ ต.มาบข่า อ.เมือง และ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นพื้นที่เขตควบคุมมลพิษด้วย ทั้งนี้ ให้ดำเนินการประกาศเขตภายใน 60 วัน หลังจากมีคำสั่งศาลปกครอง 
    
            นายสุทธิ กล่าวว่า นอกจากนี้กำลังหารือกับนักกฎหมายว่าจะสามารถฟ้องร้องทางอาญาและทางแพ่งกับบอร์ดสิ่งแวดล้อมชุดเดิมด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การที่ชาวบ้านชนะคดีครั้งนี้ ถือเป็นแค่ก้าวแรกของความสำเร็จ และต่อไปเครือข่ายภาคประชาชนจะเดินหน้าเรื่องการปฏิบัติตามแผนลดและขจัดมลพิษ และจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมทบทวนแผนขยายปิโตรเคมีเฟส 3 และกิจกรรมการพัฒนาในพื้นที่ว่าทำให้เกิดมลพิษเพิ่มหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวระยองและชุมชนใกล้เคียงต้องแบกรับภาวะสุขภาพ การเจ็บป่วยมานานกว่า 20ปี

ที่มาของข้อมูล : สำนักข่าวไทย ประจำวันที่ 3 มีนาคม 2552

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - คพ.สรุปผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด
บอกข่าวเล่าความ - สารเบนซีนกับสุขภาพประชาชนรอบมาบตาพุด
บอกข่าวเล่าความ - พื้นที่มาบตาพุดยังพบสารก่อมะเร็งเกินมาตรฐาน
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

สำนวน ที่น่าจะใช้  คือ        

ศาลปกครองระยอง พิพากษา ให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ประกาศท้องที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง  เป็นเขตควบคุมมลพิษ  ภายใน 60 วัน        

หรือ        

ศาลฯ  พิพากษา ให้  ประกาศท้องที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง  เป็นเขตควบคุมมลพิษ  ภายใน 60 วัน        

( ซึ่ง  หมายความว่า  ศาลฯ  มิได้ ประกาศเอง  แต่ พิพากษา ให้  หน่วยงานรัฐ ที่รับผิดชอบ ต้องทำการ ประกาศ )

โดย:  นักเคมี  [5 มี.ค. 2552 09:58]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ระยองแตกแล้ว

โดย:  น้องจ๋อง  [13 มี.ค. 2552 02:32]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

ถ้าเป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบการลงทุน ก็ต้องให้ชาวบ้าน เจ็บป่วยล้มตาย หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง กันไปอย่างนั้นหรือ ท่านทั้งหลาย ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ พวกเราก็อยู่กันได้นะตามประสาชาวบ้าน มีน้ำ มีปลา มีนาข้าว มีไร่ มีสวน เหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน


โดย:  คนระยอง  [13 มี.ค. 2552 11:47]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:4

แล้วก็อย่ามาอ้างว่า จะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะ เขตมาบตาพุด หรือ หาดพลา หาดพยูน น่ะลงเล่นน้ำไม่ได้แล้ว คันไปทั้งตัวไม่เชื่อก็ลองพาท่านทั้งหลายลงไปเล่นน้ำดูนะ  (คำอ้างที่เห็นแก่ได้)

โดย:  คนระยอง  [13 มี.ค. 2552 11:53]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:5

เราต้องช่วยกันรักษาสุขภาพกันนะคะ

โดย:  เด็กคร  [13 มี.ค. 2552 16:02]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 6:6

คนที่อื่นที่รับจ้างมาก่อม๊อบสนับสนุนให้อุธรรณ์น่ะระวังนะเวรกรรมมีจริง แล้วลูกหลานพวกท่านจะได้รับผลกรรมเหมือนกับที่ชาวระยองต้องเผชิญชะตากรรมอยู่ในขณะนี้

โดย:  คนระยองขอสาปแช่งท่าน  [15 มี.ค. 2552 17:38]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 7:8

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 53 เวลา 08.30 –12.30 น. ณ. ห้องสายน้ำผึ้ง  สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดระยอง ปตท. จัดให้มีการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการวิจัยการประเมินผลกระทบทางสุขภาพตามหลักแนวคิดและหลักเกณฑ์ของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ (Public scoping) หรือ HIA โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6(การเพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่)  และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยัง บริษัท พีทีที ยูลิตี้ จำกัด อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท มาบตาพุด โอเลเนฟินส์ จำกัด  โดยมีคณะทำงานจาก ม. มหิดล บริษัท NPC และ บริษัท Entic  เป็นผู้จัดทำโครงการวิจัย
                  เป็นที่สังเกตว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นของแกนนำชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ส่วนใหญ่จะกล่าวโจมตีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของทั้งสามโครงการว่าลักลั่นไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่จะต้องประกาศ และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทราบก่อนไร้ความสง่างามเพราะ คณะผู้จัดทำรับใช้ทุนหรือประชาชนกันแน่ เวทีการรับฟังความคิดเห็นแทนที่จะเป็นการสร้างความกระจ่างแต่กลับสร้างความสับสนแก่ประชาชน
                   สำหรับควันหลงในการจัดเวทีดังกล่าวมีผู้สังเกตการณ์หลายคนตั้งวงวิพากษณ์วิจารณ์เวทีดังกล่าวว่า ขาดความโปร่งใสไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นการกระทำแบบสุกเอาเผากินลักลั่นทั้ง ๆ ที่องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่เกิด และทั้ง 3 โครงการก็อยู่ในช่วงที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับโครงการฯ ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกังวลที่มีการแสดงความไม่สบายใจ      


โดย:  เชื่อฉัน  [15 ม.ค. 2553 20:42]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น