สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

Myth... เรื่องโลกร้อน

ผู้เขียน: วรากรณ์ สามโกเศศ
วันที่: 4 ก.ย. 2552

            ในเรื่องโลกร้อนยังมี Myth (ความเข้าใจว่าเป็นอย่างหนึ่งทั้งที่จริงแล้วไม่ถูกต้อง หรืออาจเรียกว่ามายาคติ) อยู่หลายประการในปัจจุบันที่สมควรหักล้าง เพราะภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งบั่นทอนมนุษยชาติอย่างยิ่ง

            Myth ประการแรกก็คือ ยังไม่มีความเห็นพ้องกันว่าภาวะโลกร้อนมีจริงในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ความเชื่อเช่นนี้นับได้ว่าผิดอย่างแน่นอนเพราะนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดของโลกจำนวนท่วมท้นเห็นตรงกันในเรื่องพื้นฐาน 3 เรื่อง คือ

            (ก) โลกอุ่นขึ้นและจะยังคงอุ่นต่อไปในอนาคต

            (ข) การอุ่นขึ้นเป็นผลพวงจากการกระทำของมนุษย์ เช่น เผาไหม้น้ำมัน ก๊าช และทำลายป่าเป็นส่วนใหญ่ และ

            (ค) ผลจากการที่อุณหภูมิสูงขึ้นในอนาคตก่อให้เกิดผลเสียอย่างฉกรรจ์เพียงพอที่ผู้คนทั้งโลกต้องช่วยกัน (เป็นไปไม่ได้ที่นักวิทยาศาสตร์จะเห็นพ้องกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเสียทั้งหมด)

            ที่เชื่อได้เช่นนี้เพราะในปี 1988 สหประชาชาติตั้งคณะทำงานชื่อ The Inter Governmental Panel on Climate Change (IPCC) ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดของโลกกว่า 2,000 คน และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก คนเหล่านี้ได้หารือพบปะกันเพื่อทบทวน ศึกษาบทความ และงานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสำคัญของศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

            นักวิทยาศาสตร์ที่เดิมไม่เชื่อว่ามีโลกร้อนก็เป็นสมาชิกของ IPCC ด้วย บทสรุปของรายงานมีการตรวจสอบกันคำต่อคำโดยสมาชิกที่เห็นด้วยและเดิมไม่เห็นด้วย วิธีการของ IPCC ยุติธรรมและได้รับการยอมรับจากสาธารณชนเป็นอย่างดี ข้อสรุปทั้ง 3 ข้อข้างต้นออกสู่ประชาชนตั้งแต่ปี 1995 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาข้อสรุป IPCC ก็ยิ่งได้รับการยืนยันมากขึ้นทุกที

            ต่อมาการศึกษา IPCC ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากองค์กรของนักวิทยาศาสตร์ 16 ชาติทั่วโลกอย่างแข็งขัน ทีมงาน IPCC ยอมรับคำพยากรณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของโลกอาจไม่ถูกต้องบ้างเพราะโลกเป็นระบบที่ซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนสูง แต่องค์กรเหล่านี้มั่นใจไม่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ว่าอุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นต่อไป โดยอุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกก่อน ปี 2100 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 ถึง 5.8 ?C กว่าระดับปี 1990 ซึ่งการเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ฝนตกมากขึ้นในบางประเทศและแล้งมากขึ้นในบางประเทศ โดยก่อให้เกิดผลด้านลบแก่สุขภาพ การเกษตร และทรัพยากรน้ำ

            Myth ประการที่สองก็คือ การผันแปรของอุณหภูมิเป็นเรื่องปกติและอยู่ในขอบเขตที่เป็นไปตามธรรมชาติ ความจริงในเรื่องนี้ก็คือสถิติเกี่ยวกับความร้อนบนผิวโลกวัดโดยเทอโมมิเตอร์ มีการเก็บย้อนหลังขึ้นไปเพียง 140 ปีเท่านั้น การประมาณอุณหภูมิของโลกทางอ้อมโดยพิจารณาแกนน้ำแข็งที่เจาะขึ้นมาจากใต้พื้นขั้วโลกและวงแหวนในเนื้อไม้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับอุณหภูมิในสมัยเก่าก่อน

            ข้อมูลอุณหภูมิที่ได้มาบอกว่าโลกเราไม่เคยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเช่นนี้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1,000 ปี และความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศซึ่งเป็นตัวชี้สภาวะ โลกร้อนไม่เคยสูงเช่นนี้เป็นเวลา 420,000 ปี และมีความเป็นไปได้ว่าไม่เคยสูงถึงระดับนี้กว่า 20 ล้านปีที่ผ่านมา

            ข้อเท็จจริงเช่นนี้จึงไม่อาจบอกได้ว่าเป็นการผันแปรที่อยู่ในขอบเขตของธรรมชาติอย่างแน่นอน นักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดของโลก 2,000 คน ไม่มีทางยอมรับข้อมูลข้างต้นอย่างไม่มีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุน

            Myth ประการที่สามก็คือ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกี่ยวข้องกับการสูงขึ้นของอุณหภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยปริมาณที่หลงเหลืออยู่ในบรรยากาศ ความจริงก็คือก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์มีผลโดยทั่วไปทำให้บรรยากาศอุ่นขึ้น ในบางครั้งระดับของอุณหภูมิและระดับความเข้มข้นของก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์มิได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างเหมาะเจาะ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์มิใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ก๊าชเรือนกระจกอื่นๆ เช่น มีเทน ไนตรัสออกไซด์ โอโซน ฯลฯ มีผลต่ออุณหภูมิเช่นเดียวกัน

            หลักง่ายๆ ก็คือยิ่งเอาก๊าซอะไรลอยขึ้นไปบนฟ้ามากเพียงใดก็ยิ่งทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเพียงนั้น สภาวการณ์นี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้

            ด้วยความจริงทั้งหมดนี้ มายาคติในเรื่องโลกร้อนควรถูกกำจัดไปให้หมดและชาวโลกทั้งมวลหันหน้ามาช่วยกันรักษาบ้านหลังนี้ให้อยู่สงบ มิฉะนั้นจะเท่ากับว่าเราปล่อยให้ไฟไหม้บ้านอย่างนิ่งดูดาย ทั้งๆ ที่สามารถช่วยกันดับไฟตั้งแต่ไฟเริ่มไหม้

            เมื่อเร็วๆ นี้นักดาราศาสตร์ชื่อ Dr.Roger Angel ได้เสนอความคิดที่ดูหลุดโลกแต่สามารถแก้ไขภาวะโลกร้อนได้ชะงัด วิธีการก็คือสร้างโลกให้เย็นลงแทนที่จะไปคอยแก้ปัญหาโลกร้อน ด้วยการสร้างฉาก กั้นแสงแดดในบรรยากาศชั้น stratosphere โดยการยิงแผ่นวัสดุสะท้อนแสง เช่น วัสดุที่ทำจากซัลเฟตขึ้นไปในท้องฟ้า

            ระยะทางจากพระอาทิตย์ถึงโลก 92 ล้านไมล์ ให้แผ่นวัสดุเล็กๆ จากโลกไปโคจรอยู่นอกโลกในรัศมีไกลจากโลก 1 ล้านไมล์ วางตัวเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 60,000 ไมล์ และกว้าง 4,500 ไมล์ วัสดุเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นฉากกั้นแสงแดดจากดวงอาทิตย์ได้ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ เงาที่เกิดขึ้นบนผิวโลกจะช่วยให้โลกเย็นขึ้น เมื่อโลกหมุนไปเงาก็จะทาบไปทุกส่วนของโลก

            ความคิดที่เป็นการหลุดโลก (แผ่นวัสดุหลุดไปจากโลก) เช่นนี้สะท้อนให้เห็นความพยายามของผู้คนที่จะแก้ไขภาวะโลกร้อน ถึงแม้จะดูหลุดโลกแต่ก็ดีกว่าที่จะไม่ทำอะไรเลยนอกจากเผาน้ำมันและก๊าซไปวันๆ

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 3 กันยายน 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ภาวะโลกร้อน : จะรุนแรงกว่าที่คาดคิดไว้
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ดีนะ

โดย:  hjh  [21 ก.ย. 2552 13:21]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ดีคับ

โดย:  คนดี  [21 ก.ย. 2552 13:22]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

เราต้องช่วยกันค่ะ

โดย:  เนย  [25 ส.ค. 2553 18:02]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:4

มนุษย์ทำตัวของมนุษย์เอง

โดย:  555  [10 เม.ย. 2554 13:29]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น