สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ภาวะโลกร้อน : จะรุนแรงกว่าที่คาดคิดไว้

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
วันที่: 17 ก.พ. 2552

            สำนักข่าวต่างประเทศทั้งเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์ มีรายงานว่า ภาวะโลกร้อนอาจส่งผลเสียหายรุนแรงและจะเกิดเร็วกว่าที่คาดไว้ แถมระดับน้ำทะเลยังเพิ่มสูงขึ้นเร็ว อันเป็นอันตรายต่อพื้นที่ต่ำและยังพบชาติกำลังพัฒนาอย่างจีนและอินเดีย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

            เรื่องข้างต้นถูกนำมาเปิดเผยในที่ประชุมของสมาคมวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าของอเมริกัน (AAAS) ซึ่งจัดขึ้นที่นครชิคาโก รัฐอิลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ รวมทั้งจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหประชาชาติ (IPCC) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2550 ร่วมกับนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จากผลงานรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อน ร่วมเวทีถกเถียงปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

            โดยนายคริสโตเฟอร์ ฟิลด์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกีในสหรัฐอเมริกา สมาชิกของ IPCC เผยต่อที่ประชุมของ AAAS ว่า การเกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้น จะรุนแรงและเกิดเร็วกว่าที่เคยระบุไว้ในรายงานคาดการณ์เรื่องสภาพอากาศ ฉบับที่ 4 ของ IPCC ที่ชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปี 2007 อยู่มาก และจากผลการศึกษาวิจัยในปัจจุบัน พบว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนอันก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน สู่ชั้นบรรยากาศยังพบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจากไฟป่าในแถบป่าฝนเขตร้อน ธารน้ำแข็งแถบขั้วโลกเหนือละลายและสาเหตุอื่นๆ งานวิจัยยังชี้ชัดว่าข้อมูลจากปี 2000 - 2007 พบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี สูงกว่าตัวเลข 0.9% ต่อปี ที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงทศวรรษปี 1990 ส่วนชาติกำลังพัฒนาอย่างจีนและอินเดีย ต่างเร่งผลิตไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเกือบทั้งหมดผลิตจากถ่านหิน โดยแนวโน้มตรงนี้จะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องถ้าหลายชาติยังคงใช้ถ่านหินหรือพลังงานอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง

            ส่วนนางแอน คาเซเนวา จากศูนย์ศึกษาด้านอวกาศแห่งชาติของฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลอุ่นขึ้น ประกอบกับการที่ธารน้ำแข็งละลาย ทำให้ปริมาณน้ำในทะเลเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการกระทบพื้นที่ชายฝั่งที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้จากการศึกษาโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าพื้นที่ที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเร็วที่สุด คือ มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกและมหาสมุทรทางใต้รอบพื้นที่ขั้วโลกใต้ โดยเพิ่มสูงขึ้นราว 1 ชั่วโมง ต่อ 0.39 นิ้วต่อปี

            เวทีประชุมของ AAAS ยังมีการกล่าวถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย อาทิเช่น ความพยายามปรับลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมพลังงานชีวภาพ อาจก่อให้เกิดผลร้ายที่ไม่พึงประสงค์ คือ แทนที่จะยืดระยะเวลาเกิดภาวะโลกร้อนออกไป แต่อาจเป็นการกระตุ้นให้มันเกิดเร็วขึ้น

            ข้อนี้นายไมเคิล โค จากศูนย์วิจัยวู้ดสโฮล กล่าวว่า ความต้องการพลังงานชีวภาพนำไปสู่การขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา และทำให้พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองซึ่งยังเป็นที่ต้องการในตลาดโลกลดลง นั่นหมายถึงชาติอื่นๆ อย่างบราซิล ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองเพื่อทดแทน ซึ่งอาจต้องเผาเคลียร์พื้นที่ป่าเพื่อใช้เป็นที่เพาะปลูกและเป็นการเพิ่มตัวเลขก๊าซเรือนกระจกในท้ายที่สุด

            ขณะที่นางฮอลลี กิ๊บส์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เสริมประเด็นข้างต้นว่า หากมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชพลังงานชีวภาพบนพื้นดินเสื่อมโทรมอาจส่งผลดีด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหากใช้พื้นดินเสื่อมโทรมมาปลูกป่าทดแทนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้น จะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ภัยเงียบจากคาร์บอนส่งผลให้เกิดทะเลกรดคุกคามโลก
บอกข่าวเล่าความ - ปลูกพืชเชื้อเพลิงชีวภาพ กลับทำให้โลกร้อนขึ้น
บอกข่าวเล่าความ - UN ระบุก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มสูงขึ้น
บอกข่าวเล่าความ - ยูเอ็นวอนประเทศพัฒนาแล้วประกาศเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

อยากให้ทุกคนช่วยกันรักโลกรักชีวิต

โดย:  โรงเรียนบ้านกุดชุมพัฒนา  [25 พ.ย. 2552 11:10]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ขอให้ทุกคนอย่าทำลายป่าอีกเลย

โดย:  เด็กห่วงโลกอนาคต  [1 ก.ย. 2553 11:06]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น