สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

วุฒิสภาแถลงสารพิษมาบตาพุดเสี่ยงเกิดมะเร็ง

ผู้เขียน: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่: 27 ต.ค. 2552

            ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ตัวแทนกมธ. 5 คณะ ที่ร่วมกันตรวจสอบปัญหา 76 โครงการในมาบตาพุด จังหวัดระยอง ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศและองค์กรเฝ้าระวังมลพิษ Global Community Monitor สหรัฐอเมริกา ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบค่ามลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

            เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ได้เข้าไปตรวจสอบสารมลพิษในอากาศบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2552 พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศบริเวณที่มีการตรวจสอบในปริมาณที่สูงเกินค่ามาตรฐานการเฝ้าระวังของกรมคุมมลพิษหลายเท่า อาทิ สาร 1,3 บิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ณ เวลา 18.49 น. มีค่าสูง 146 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บริเวณทิศใต้ลมระหว่างที่ตั้งของบริษัทไบเออร์และโรงงานกลั่นน้ำมันเออาร์ซีโรงใต้ และมีโรงงานเคมีของบริษัทบางกอกซินเทติกส์ตั้งอยู่ใกล้เคียง ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งสูงเกินค่าเฝ้าระวังของกรมคุมมลพิษที่กำหนดไว้ถึง 27.5 เท่า ของค่ามาตรฐานที่ 5.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังพบสารดังกล่าวสูง 179 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เวลา 22.50 น. ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ทางทิศใต้ลมบริเวณที่ตั้งของบริษัทชินเอ็ตสึ ซึ่งสูงกว่าค่าเฝ้าระวังของกรมควบคุมมลพิษ 33.7 เท่า

            เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังตรวจพบสารอื่นที่กรมควบคุมมลพิษไม่ได้กำหนดค่าเฝ้าระวังไว้ ได้แก่ พีไซลีน 93.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โทลลีน 77.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 69.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไนตริกออกไซด์ 29.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

            ทั้งนี้ อากาศในบริเวณมาบตาพุด ปนเปื้อนสารมลพิษหลายชนิด กระทบสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นพื้นที่มลพิษพิเศษระดับโลก ดังนั้นควรใช้มาตรการร่วมกันหลายด้านในการแก้ปัญหา และป้องกัน เช่น รัฐต้องสร้างระบบเปิดเผยข้อมูลพิษ โดยบังคับให้โรงงานเป็นผู้รายงานและรัฐเปิดเผย ให้ประชาชนเข้าถึง

            นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว. สรรหา กมธ. สาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เริ่มเมื่อปี 2525 ซึ่ง 5 กมธ.ได้ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า สารพิษที่ปล่อยออกมา ไปสะสมเรื้อรังในร่างกายของผู้ที่อยู่บริเวณนั้น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ ซึ่งพบความผิดปกติ โดยตั้งแต่ปี 2531 - 2541 กรมอนามัยตรวจพบอัตราการป่วยเป็นวัณโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเพิ่มมากขึ้น และยังพบอัตราเด็กพิการตั้งแต่กำเนิดเพิ่มสูงขึ้น 40 เท่า ปี 2542 - 2543 พบคนเทศบาลมาบตาพุด ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจและโรคเกี่ยวกับผิวหนัง เพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับพื้นที่ปกติ ส่วนผลกระทบแบบเฉียบพลัน ปี 2542 - 2552 พบสารเคมีรั่วไหล 10 ครั้ง ผู้ได้รับผลกระทบ 1,299 ราย เสียชีวิต 2 ราย

            นอกจากนี้ ประชากรผู้ใหญ่ร้อยละ 50 เซลล์มีการแบ่งตัวผิดปกติ หมายความว่า มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ส่วนสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานเมื่อปี 2541 - 2543 พบอัตราการป่วยเป็นมะเร็งในเขตเมืองระยอง สูงกว่าทุกจังหวัดและทุกเขตในประเทศ และตลอดมายังพบสารเคมีในบรรยากาศ ดิน และน้ำ ที่สะสมเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นการปล่อยสารพิษจึงเชื่อมโยงกับสุขภาพของประชาชนโดยตรง

            นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวปิดท้ายว่า 5 กมธ. จะนัดพิจารณาข้อมูลอีกครั้งโดยเฉพาะเรื่องสารพิษ เพราะตัวเลขมีนัยสำคัญมาก ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษต้องทบทวนค่ามาตรฐานสารพิษใหม่ เพราะรายงานการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ค่ามาตรฐานของไทยอ่อนมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมมลพิษ ที่ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบพบว่า มีการปล่อยในอัตราที่สูงกว่าค่ามาตรฐานมากเป็น 20 – 30 เท่า นอกจากนี้เหตุใด ผลการตรวจสอบขององค์กรเอกชน และผลสอบของส่วนราชการยังต่างกันมาก ขณะที่ส่วนราชการพยายามออกข่าวว่า ค่าที่ตรวจพบต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ค่าที่องค์กรเอกชนตรวจพบ กลับพบค่าสูงกว่ามาตรฐาน 30 เท่า ซึ่งกมธ. จะนัดประชุมและพิจารณาเสนอหนทางแก้ไขต่อไป

ที่มาของข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Butadiene
Sulfur dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - บุกตรวจมาบตาพุด พบชาวบ้านป่วยอีกเพียบ
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

วุฒิสภาแถลงสารพิษมาบตาพุดเสี่ยงเกิดมะเร็ง

โดย:  วุฒิสภาแถลงสารพิษมาบตาพุดเสี่ยงเกิดมะเร็ง  [27 ต.ค. 2552 11:00]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น