สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ปิดฉากประชุมโลกร้อน... โลกยังเสี่ยงต่อหายนะ

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่: 21 ธ.ค. 2552

            ผู้นำโลกปวดหัว ตัวแทนประเทศถกเดือด ตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะต้องรับผิดชอบลงขันแก้โลกร้อนเท่าไหร่ หลายประเทศรุมยำอเมริกา-จีน สองประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ในการประชุมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่จัดโดยองค์การสหประชาชาติที่กรุงโคเปนเฮเกน

            การประชุมที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 7-18 ธันวาคม จัดโดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อจัดทำข้อตกลงใหม่ในการแก้ปัญหาโลกร้อนแทนสนธิสัญญาเกียวโต โดยมีผู้แทน 193 ประเทศเข้าร่วมประชุม และมีผู้นำของรัฐบาลและรัฐ 120 คนเข้าร่วมในสองวันสุดท้ายคือวันพฤหัสบดี 17 และศุกร์ 18 ตามเวลาที่โคเปนเฮเกน

            ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา บินเข้าร่วมในวันสุดท้ายของการประชุมโดยมีกำหนดเข้าร่วมแถลงกับผู้นำอื่น ๆ ของโลก เกี่ยวกับความประสงค์ของสหรัฐอเมริกาที่จะร่วมกับนานาชาติแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยสนธิสัญญาฉบับใหม่

            อย่างไรก็ดี จนถึงคืนวันพฤหัสบดี ประเทศต่าง ๆ ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ และ นักวิทยาศาสตร์ก็ได้เตือนว่า ข้อเสนอของรัฐบาลทั่วโลกที่เสนอต่อที่ประชุมและถกกันอย่างเคร่งเครียดนั้นยังไม่สามารถป้องกันหายนะที่เกิดจากภาวะความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกได้

            ตามรายงานล่าสุดขององค์การพลังงานระหว่างประเทศนั้น เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า การที่ประเทศต่าง ๆ จะสามารถร่วมกันควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่า บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ภายในปีค.ศ. 2020 หรือพ.ศ. 2563 จากระดับการปล่อยก๊าซในปีค.ศ.1990 (พ.ศ. 2533)

            ปัญหาหลักที่ทำให้การเจรจาติดขัดก็คือ ค่าใช้จ่ายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา มีมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้ประเทศยากจนยังเรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรมช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประเทศยากจนในการเตรียมรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน และการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่บรรยากาศของโลก

            ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนเองซึ่งเป็นสองประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุด ก็เกี่ยงกันในเรื่องเป้าในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตัวเองและการร่วมลงขันในกองทุนช่วยเหลือประเทศยากจน

            สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐมนตรีและผู้นำรัฐบาลเริ่มกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นตัวต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสัญญาณว่า ความเป็นไปได้ในการบรรลุข้อตกลงที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพกำลังเป็นไปได้ยาก

            รอยเตอร์รายงานว่านางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้แถลงต่อสภา ว่า "ข่าวที่ได้มาไม่ค่อยดี ข้อเสนอของประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะลดการปล่อยก๊าซลง 4% จากระดับในปี 2533 ไม่น่าประทับใจ"

            ประธานาธิบดีโอบามาเสนอลดก๊าซเรือนกระจก 3-4% ในปี 2563 เทียบกับระดับในปี 2533 ในขณะที่ประชาคมยุโรป (อียู) เสนอเป้าหมายที่ 20% ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและยากจนเสนอให้ประเทศพัฒนาแล้วตั้งเป้าที่ 25 % เป็นอย่างต่ำ

            ประเทศจีนมีรายงานว่า นางเจียง หยู โฆษกกระทรวงต่างประเทศ ได้แถลงในวันพฤหัสบดีที่กรุงปักกิ่งว่า "จีนหวังว่าการเจรจาที่โคเปนเฮเกนจะประสบความสำเร็จ และจีนมีทรรศนะอย่างสร้างสรรค์ในเรื่องนี้" ขณะที่ทางฝั่งอินเดีย รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศร่ำรวยจะหาเรื่องโทษประเทศกำลังพัฒนาว่าเป็นต้นเหตุให้การประชุมล้มเหลว

            รัฐมนตรีหลายคนของยุโรปให้สัมภาษณ์สื่อที่โคเปนเฮเกนว่า เกมของการประชุมกำลังจะเปลี่ยนเป็นการกล่าวโทษซึ่งกันและกัน

            อย่างไรก็ดีในช่วงท้าย ๆ การเจรจาเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนปรนจุดยืนของตัวเอง ประเทศในแอฟริกา ลดความคาดหวังในเรื่องวงเงินที่จะได้รับความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยประเทศที่ประกาศวงเงินช่วยเหลือออกมาแล้วคือญี่ปุ่น ที่ 11,000 ล้านดอลลาร์ จีนเองก็เริ่มถอยข้อเรียกร้อง และสหรัฐอเมริกาก็เสนอเงินสำหรับกองทุนช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนด้วยเช่นกัน

            สำนักข่าวบีบีซี และซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแถลงว่า รัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมที่จะสนับสนุนเป็นผู้นำในการตั้งกองทุนมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อช่วยสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าประเทศกำลังพัฒนาเห็นด้วยกับข้อเสนอของสหรัฐฯ

            ข้อเสนอของสหรัฐฯ คือประเทศกำลังพัฒนาต้องตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ซึ่งนางฮิลลารีวิจารณ์จีนโดยไม่ระบุชื่อประเทศว่าจะมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการบรรลุข้อตกลงถ้ายอมตกลงกับสหรัฐฯ ซึ่งทางผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนที่เข้าร่วมประชุมที่โคเปนเฮเกน ก็ให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมที่จะเจรจาและร่วมมืออย่างสร้างสรรค์หากข้อเสนอนั้นไม่ล่วงล้ำอธิปไตยของจีน

            การให้สัมภาษณ์ของจีนเป็นการตอบโต้โดยตรงในข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่ให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมีข้อตกลงพ่วงว่าจะต้องมีการสร้างระบบติดตาม ตรวจสอบและรับรอง เพื่อควบคุมให้ประเทศจีนและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจก

            บีบีซี รายงานว่า ผู้นำชาติอื่นๆ ในยุโรปอาทิ นายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ร่วมกับนายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนายนิโกลา ซาร์โกซี ซึ่งโทรศัพท์พูดคุยกันเอง เจรจากับผู้นำประเทศในเอเชียและอเมริกาใต้และคุยกับประธานาธิบดีโอบามาด้วย พยายามช่วยไกล่เกลี่ยและทำให้เกิดการบรรลุข้อตกลงโดยผู้นำในประเทศยุโรประบุว่าพร้อมที่จะตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับที่สูงกว่าที่เคยตกลงไว้ภายใต้สนธิสัญญาเกียวโต

            อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์แนวโน้มอุณหภูมิโลก ระบุว่า ข้อเสนอทั้งหมดที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ในโลกพยายามที่จะตกลงกันให้ได้นั้น ยังไม่สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในระดับ 2 องศาเซลเซียสได้ดังนั้นหายนะจากโลกร้อนยังเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วโลกจะต้องระทึกใจต่อไป

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2552

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - โคเปนเฮเกนเปิดม่านเวทีโลกร้อน
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น