สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

โคเปนเฮเกนเปิดม่านเวทีโลกร้อน

ผู้เขียน: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่: 8 ธ.ค. 2552

           การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้นแล้ว ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 ธันวาคม 2552) และจะไปสิ้นสุดลงในวันที่ 18 ธันวาคม โดยมีตัวแทนจาก 192 ประเทศ จำนวนกว่า 15,000 คน เข้าร่วมในการประชุม ทั้งนี้ผู้นำประเทศเกือบ 100 ชาติ จะมาปรากฎตัวงานครั้งนี้ด้วย พร้อมกับสื่อมวลชนกว่า 5,000 คนเข้ามาทำข่าวรายงานการประชุมในครั้งนี้

           ผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายๆ คน เดินทางมาด้วยเครื่องบินส่วนตัว รวมๆ กันแล้ว มีจำนวนกว่า 140 ลำ ซึ่งมากเกินกว่าที่สนามบินของกรุงโคเปนเฮเกนจะรองรับได้ ในชั่วโมงที่มีการจราจรทางอากาศหนาแน่น เครื่องบินหลายๆ ลำ จึงต้องบินไปลงที่สนามบินใกล้เคียงอื่นๆ แล้วให้ผู้โดยสารวีไอพี นั่งรถลีมูซีนมากรุงโคเปนเฮเกนแทน
       
           จำนวนรถลีมูซีน ที่คาดกันว่าจะวิ่งขวักไขว่ตามท้องถนน ตลอดการประชุมจะมากถึง 1,200 คัน จากปกติที่มีเพียงไม่กี่ร้อยคัน เพราะกรุงโคเปนเฮเกน เป็นเมืองสีเขียว ที่การสัญจรส่วนใหญ่ใช้ระบบขนส่งมวลชน และรถจักรยาน ดังนั้นตลอดการประชุมทั้งสิ้น 11 วัน คาดกันว่าจะมีการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้นถึง 41,000 ตัน

           เป้าหมายของการประชุมสุดยอดที่กรุงโคเปนเฮเกนในครั้งนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า การประชุมภาคีสมาชิก กรอบอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) เพื่อตกลงร่วมกันในการจัดทำสนธิสัญญาในการร่วมมือกัน แก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดภาวะโลกร้อนฉบับใหม่แทนพิธีสารเกียวโต ที่จะสิ้นสุดลงในอีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2555)
       
           ย้อนไปเมื่อปี 2535 มีการประชุม Earth Summit หรือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล นับเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงภาวะโลกร้อน และการร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไข โดยที่อนุสัญญา UNFCCC เกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้ ในฐานะข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ที่จะร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

           ในอีก 5 ปีต่อมา จึงเกิดพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) ซึ่งเปรียบเสมือนกฎหมายลูกของอนุสัญญา UNFCCC ที่มีผลบังคับใช้ ถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศเพียงฉบับเดียว ที่มีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2551 - 2555 แต่พิธีสารเกียวโต บังคับใช้ได้กับประเทศเล็กๆ เท่านั้น ประเทศใหญ่ๆ ไม่สนใจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ บุช ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ของโลก ถอนตัวไม่ยอมให้สัตยาบัน พิธีสารเกียวโตซึ่งจะหมดอายุลงในปี พ.ศ. 2555 จึงไม่ค่อยจะมีผลเท่าไรนักในการแก้ไขภาวะโลกร้อน

           และเมื่อสองปีก่อน ในการประชุมที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย มีการหารือกันเรื่อง จัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ เพื่อแทนพิธีสารเกียวโต รอบนี้ประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีท่าทีให้ความร่วมมือที่ดีขึ้น เพราะตระหนักถึง ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ภายหลังจากเปลี่ยนผู้นำมาเป็นประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็หันมาทำตัวเป็นพลเมืองที่ดีของโลก และอีกประเทศที่หันมาให้ความร่วมมือก็คือ จีนซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

           กลุ่มประเทศ จี 8 และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ ตกลงกันว่าจะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าอุณหภูมิในยุคก่อนอุตสาหกรรม (ประมาณ คศ. 1800 หรือ 200 กว่าปีก่อน) เกิน 2 องศาเซลเซียส หรือ 3.6 องศาฟาเรนไฮต์ โดยคาดหวังว่าสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่จะคุยกันที่กรุงโคเปนเฮเกน จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ภายในขีดจำกัดนี้

           ในปัจจุบันอุณหภูมิโลก เพิ่มขึ้นสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 0.7 องศาเซลเซียส และนักวิทยาศาสตร์คาดกันว่า จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเป็น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหัวข้อหลักๆ ที่คาดว่าจะมีการเจรจากันในการประชุมครั้งนี้ สำหรับ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะกำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ภายในปี พ.ศ. 2563 แม้ว่า บางประเทศอยากจะกำหนดเส้นตายให้เนิ่นนานออกไปเป็นปี 2593 แต่ออสเตรเลีย อียู ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ บอกว่า มีแผนการที่จะทำให้ได้ภายในปี 2563 แล้ว
       
           ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น จีน รัสเซีย จะถูกขอให้จำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะเสนอให้มีสร้างกลไก เพื่อเร่งการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้เร็วขึ้น รวมทั้ง การสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

           อย่างไรก็ตาม การประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถผลักดัน กฎหมายลดโลกร้อนฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนพิธีสารเกียวโตได้เลย การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการแสวงหาฉันทามติ ทางการเมือง ของประเทศต่างๆ ทั้ง 192 ประเทศ ว่าจะร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ถ้าตกลงกันได้แล้ว จึงจะกำหนดกรอบการทำงาน และกรอบเวลาในการจัดทำสนธิสัญญาฉับบใหม่ ซึ่งคาดกันว่า จะต้องใช้เวลาอีกประมาณหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย

ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - REDD อีกแนวคิดประเทศอุตฯ โบ้ยภาระลดโลกร้อนให้ชาติยากจน
บอกข่าวเล่าความ - ร่างกฎหมายใหม่เรื่องโลกร้อนของสหรัฐอเมริกาในยุคการเปลี่ยนแปลง
บอกข่าวเล่าความ - แนวโน้มการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมจากปัญหาโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - การเจรจาจัดทำกติกาโลกฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - กรีนพีซจี้ผู้นำอาเซียนเข้าร่วมประชุมโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

1. ควรเสนอข่าวพิเศษทุกวันรายงานข้อตกลง การเจรจา อื่น ๆร ายวันนะ
2. ผู้แทนประเทศไทย ควรนำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ อาทิ การลด คาร์บอน โดนการพัฒนาพลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกอาทิ ระจกอาทิ Nuclear Solar Wind ที่เป็นไปได้ตริง ๆ นะ
3. ไทยต้องเกาะติดสถานการณ์ รับความช่วยเหลือต่าง ๆ สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อ Balance ค่า CO2 นะ
4. นำเสนอแผนการลดการปล่อย CO2 ของไทยอย่างเป็นรูปธรรมนะ
5. รัฐบาลต้องให้ความสนใจอย่างจริง ๆ จีฃัง ๆ นะ


โดย:  อยากตอบ  [13 ธ.ค. 2552 16:26]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

มีเนื้อหาดีมาก

โดย:  นางาสาววิภาวัล ทองมีสุข  [25 ม.ค. 2553 11:56]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:4

I was looking everywhere and this popepd up like nothing!

โดย:  Flavio  [31 มี.ค. 2555 20:12]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น