สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

Eco copy : เครื่องถ่ายเอกสารลดโลกร้อน

ผู้เขียน: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่: 17 เม.ย. 2553

            จะทำอย่างไรให้ต้นทุนการถ่ายเอกสารถูกลง... คือโจทย์ตั้งต้นที่ทำให้เกิดธุรกิจรีไซเคิลเครื่องถ่ายเอกสารเก่าให้มีคุณภาพและสามารถใช้งานได้เหมือนเครื่องใหม่แกะกล่อง และกลายเป็น Eco copy เครื่องถ่ายเอกสารที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์เครื่องแรกในประเทศไทย ผู้ประกอบการหวังสร้างความตระหนักพร้อมผลักดันให้เกิดศูนย์ถ่ายเอกสารปลอดภัยไร้มลพิษ

            เครื่องถ่ายเอกสารรุ่น แคนอน ไออาร์ 4570 (Canon IR 4570) ของบริษัท สยาม รีคอนดิชัน อินดัสตรี้ จำกัด ในเครือ บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากบริษัทได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 25 บริษัทนำร่องในโครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์ที่จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)
       
            นายธีระธัช รัตนกมลพร กรรมการผู้จัดการบริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายและให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารมาประมาณ 10 ปี โดยเครื่องถ่ายเอกสารของบริษัททุกเครื่องเป็นเครื่องถ่ายเอกสารเก่าที่นำมารีไซเคิลใหม่ทั้งหมด เป็นการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิลให้สามารถใช้งานได้ ซึ่งปัจจุบันศูนย์ถ่ายเอกสารในประเทศไทยมากกว่า 80% ใช้เครื่องถ่ายเอกสารรีไซเคิลแทบทั้งสิ้น

            เริ่มแรกบริษัทมีแนวคิดที่จะช่วยลดต้นทุนการถ่ายเอกสารในประเทศไทยให้ถูกลง ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่นั้นมาจากเครื่องถ่ายเอกสารที่มีราคาแพงและบำรุงรักษายาก จึงริเริ่มนำเข้าเครื่องถ่ายเอกสารเก่าที่ใช้แล้วจากต่างประเทศมาปรับปรุงสภาพให้เหมือนใหม่และสามารถใช้งานได้คุณภาพใกล้เคียงกัน โดยเปลี่ยนวัสดุภายในให้เป็นของใหม่ เช่น แม่พิมพ์ลาย ลูกยาง ลูกกลิ้งความร้อน ฯลฯ และปรับปรุงสภาพรูปลักษณ์ภายนอกให้ดูคล้ายของใหม่ ทำให้เครื่องถ่ายเอกสารแบบนี้มีราคาถูกกว่าเครื่องใหม่ถึงครึ่งหนึ่ง นายธีระธัช รัตนกมลพร กล่าวเพิ่มเติม

            ไม่เพียงแต่นำของเก่ามารีไซเคิลใหม่เท่านั้น แต่ยังปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องโดยติดตั้งแผ่นกรองฝุ่นเพิ่มเข้าไป ทำให้มีปริมาณฝุ่นที่ออกมาจากเครื่องในขณะใช้งานลดลง หลังจากสามารถรีไซเคิลให้ของเก่าใช้งานได้แล้ว เจ้าของธุรกิจดังกล่าวมีความต้องการที่จะทำให้สินค้ารีไซเคิลชนิดนี้มีมาตรฐานที่ดี จึงตัดสินใจนำเครื่องถ่ายเอกสารรุ่น Canon IR 4570 เข้าร่วมโครงการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์ และใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ในการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพิจารณาตั้งแต่นำเครื่องถ่ายเอกสารเก่ามาปรับปรุงให้เหมือนของใหม่ ใช้ถ่ายเอกสารวันละ 1,000 แผ่น เป็นเวลา 240 วันต่อปี และการเปลี่ยนอะไหล่ในระหว่างการใช้งานในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งสิ้น 1.4 ตัน ต่อปี
       
            การได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ เป็นการยกระดับให้กับสินค้าที่มาจากการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ และแสดงให้เป็นว่าเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราเรียกเครื่องถ่ายเอกสารนี้ว่า อีโค กอปปี (Eco copy) ที่หมายถึงช่วยประหยัดต้นทุนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาไปสู่การนำร่องปรับปรุงศูนย์ถ่ายเอกสารให้มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานและลูกค้าที่ไปใช้บริการ ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันเพื่อพัฒนาศูนย์ถ่ายเอกสารหรือเครื่องถ่ายเอกสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต นายธีระธัช รัตนกมลพร กล่าวเพิ่มเติม

            กรรมการผู้จัดการดิทโต้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เครื่องถ่ายเอกสารโดยทั่วไปมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี แต่เครื่องถ่ายเอกสารเก่าที่ทางบริษัทนำมาปรับปรุงสภาพใหม่ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 3 ปี และหลังจากปรับปรุงเครื่องให้คล้ายใหม่แล้วยังสามารถใช้งานต่อไปได้อีกประมาณ 5-7 ปี และสำหรับเครื่องถ่ายเอกสารรุ่น Canon IR 4570 ยังได้รับฉลากเขียว (Green label) ในสหรัฐอเมริกาด้วย โดยเป็นเครื่องถ่ายเอกสารที่ใช้ระบบผงหมึกแห้งเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องเปลี่ยนแผงเหล็ก มีความเร็วการถ่ายเอกสาร 45 แผ่นต่อนาที สามารถเป็นทั้งเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์เลเซอร์ และเครื่องสแกนเนอร์ได้ในเครื่องเดียวกัน
       
            หลังจากนี้ภายในปี 2553 บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด มีแผนจะนำเครื่องถ่ายเอกสารอีก 5 รุ่น เข้าโครงการจัดทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพิ่มขึ้นอีก เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยไม่คิดจะเพิ่มราคาขายหรือเช่า ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนให้บริการเช่าและจำหน่ายเครื่องถ่ายเอกสารประมาณ 70% และ 30% ตามลำดับ 
       
            ทางด้านนายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการ (อบก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นต์แล้ว 26 ผลิตภัณฑ์ จาก 21 บริษัทนำร่องที่เข้าร่วมโครงการจัดทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์ระยะแรก และขณะนี้ อบก. และเอ็มเทค กำลังร่วมกันศึกษาและพัฒนาแนวทางการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรตามมาตรฐาน ISO 14069 ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยมีหลายบริษัทและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งสนใจเข้าร่วมเป็นองค์กรนำร่อง
       
            การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นบริษัท โรงงาน หรือโรงพยาบาล จะทำให้เรารู้องค์กรของเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าไร และสามารถลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนใดได้บ้าง หรือต้องการลดก๊าซเรือนกระจกจากการซื้อคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจหรือมีกลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศในอนาคตในการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ กล่าวปิดท้าย

            ทั้งนี้ นอกจากเครื่องถ่ายเอกสารรุ่นดังกล่าวแล้ว ยังมีอีก 4 ผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยที่ได้ร่วมลงนามการใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ในวันเดียวกัน ได้แก่ เม็ดพลาสติกผสมเส้นใยรุ่น E3 ของ บริษัท ไทยไฮบริด จำกัด, บรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกฝาชน (RSC) 3 ชั้น ของบริษัท ไทยคอนเทนเนอร์ จำกัด (ทีซีซี), ข้าวหอมมะลิบรรจุถุงตราฉัตร ของ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด และเจอร์ไฮสติ๊ก ขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัข ของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ท ฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสุนัขผลิตภัณฑ์แรกของโลกที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ด้วย

ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 17 เมษายน 2553

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - คนอเมริกามีแนวโน้มรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือมากขึ้น
บอกข่าวเล่าความ - ฮ่องกงรณรงค์ลดใช้มือถือ บรรเทาโลกร้อน
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น