อย. เผยรายชื่อเครื่องสำอางอันตรายเพิ่มอีก 26 รายการ หลังตรวจพบสารประกอบของปรอท ไฮโดรควิโนน กรดเรทิโนอิก และเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง จึงขอประกาศห้ามผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องสำอางเหล่านี้ อย่างเด็ดขาด เตือนประชาชนระวังอาจเสียโฉมโดยไม่รู้ตัว หากพบมีการฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ขายมีความผิดต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดรวมทั้งรูปของเครื่องสำอางอันตรายนี้ได้ทางเว็บไซต์ หน้าหลัก อย. www.fda.moph.go.th โดยคลิกที่เครื่องสำอาง
ภญ. วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศรายชื่อเครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้ที่เป็นอันตรายไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น อย.ขอเพิ่มเติมรายชื่อเครื่องสำอางอันตรายอีกจำนวน 26 รายการ ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่เก็บตัวอย่างจากร้านจำหน่ายเครื่องสำอางในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดนนทบุรี โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
เครื่องสำอางที่ตรวจพบสารประกอบของปรอท ได้แก่
1.) S.S.Night Cream ครีมก่อนนอน (1)
2.) ครีมชุดน้ำนมข้าว หน้าเด้ง หน้าใส น้ำนมข้าวแท้ 100%
3.) สุภัชชา โสมสมุนไพร
4.) หน้าเด้ง หน้าใส น้ำนมข้าวแท้ 100%
5.) ครีมนมแพะ
6.) ไพลสดแท้ 100% (ชุดบำรุงหน้า รักษาสิว ฝ้า จุดดำ (คุณหมอจุฬา)
7.) SUO BAI NING Whitening cream NIGHT CREAM
8.) ครีมรกแกะผสมใยไหม
9.) ครีมโสมเห็ดหลินจือกวาวเครือ
10.) BASCHI FADE-OUT CREAM DAY CREAM
11.) BAOJU WHITENING CREAM DAYCREAM
12.) YANKO Fade-out Cream Day Cream YK-868
13.) atlie Day Cream โดยลำดับที่ 1-13 ไม่ระบุผู้ผลิต / ผู้จำหน่าย เลขที่ผลิตและวันที่ผลิต
14) Fruity VITAMIN C ระบุผลิตโดย บริษัท K.K.T. คอสเมติก จำกัด28/24 ถ.รามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ แต่ไม่ระบุเลขที่ผลิตและวันที่ผลิต
15.) Mild & mind ครีมโสมผสมหัวไชเท้าสกัด ระบุผู้ผลิตคือ บริษัท มายด์แอนด์มายด์ คอสเมติคส์ จำกัด เลขที่ 189 ถ.เพชรเกษม 52/2 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ไม่ระบุเลขที่ผลิต แต่ระบุวันที่ผลิตคือ 200409
16.) คลินิกแคร์ไวท์เทนนิ่งไนท์ครีม สูตร 2ระบุผู้ผลิตคือ คลินิกแคร์เทนเดอร์ เลขที่ 189 ถ.เพชรเกษม 52/2 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ไม่ระบุเลขที่ผลิต แต่ระบุวันที่ผลิตคือ 200409
เครื่องสำอางที่ตรวจพบไฮโดรควิโนน ได้แก่
17.) ครีมทาฝ้า-กระ
18.) สมุนไพรสุภัชชา (2) ซึ่งทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ไม่ระบุผู้ผลิต / ผู้จำหน่าย เลขที่ผลิตและวันที่ผลิต
เครื่องสำอางที่ตรวจพบกรดเรทิโนอิก ได้แก่
19.) BASCHI WHITENING CREAMNIGHT CREAM
20.) BASCHI NIGHT POWDER
21.) YANKO Whitening Cream Night Cream YK-883 โดยทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ไม่ระบุผู้ผลิต / ผู้จำหน่าย เลขที่ผลิตและวันที่ผลิต
เครื่องสำอางที่ตรวจพบไฮโดรควิโนนและกรดเรทิโนอิก ได้แก่
22.) S.S.Night Cream ครีมก่อนนอน (2)
23.) FADE OUT ครีมขาวหน้าใส Kiev/Beauty Face USA Original
24.) WL WHITE LADY ครีมรักษาฝ้า ทาหน้าขาว
25.) Pharmacy Cream ครีมขาวเนียน ซึ่งทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ไม่ระบุผู้ผลิต / ผู้จำหน่าย เลขที่ผลิตและวันที่ผลิต
นอกจากนี้ยังตรวจพบเชื้อจุลินทรีย์ คลอสตริเดียม (Clostridium spp.) ที่ก่อให้เกิดโรค และพบแบคทีเรีย ยีสต์ รวมทั้งรา ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่
26.) ร้อยมาลี AROMATHREPY(Roi Malee (สเปรย์เซรั่ม)) โดยไม่ระบุผู้ผลิต / ผู้จำหน่าย เลขที่ผลิตและวันที่ผลิต ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ร้อยมาลีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค คืออาจเกิดการติดเชื้อทางผิวหนังและดวงตา โดยเฉพาะการใช้บริเวณผิวหนังที่มีบาดแผล
ภญ. วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขออย่าได้ซื้อเครื่องสำอางทั้ง 26 รายการนี้ มาใช้อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ อาจได้รับอันตราย โดยเฉพาะจากสารห้ามใช้ ได้แก่ สารประกอบของปรอททำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง และเมื่อสารปรอทสะสมในร่างกาย จะทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบและไตอักเสบ ไฮโดรควิโนน จะทำให้เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หาย กรดเรทิโนอิกทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรง เกิดการอักเสบผิวหน้าลอก และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
จึงขอให้ประชาชนเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวังจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีฉลากภาษาไทยตามข้อความที่กฎหมายกำหนด เช่น ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ สารที่ใช้เป็นส่วนผสม ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต เดือนปีที่ผลิตโดยเฉพาะร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อจำหน่าย จะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ขายเครื่องสำอางที่ผสมสารห้ามใช้ หรือพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าว จะมีความผิดต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภคท่านใดต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย อย. โทรศัพท์ 0 2590 7277 - 8 โทรสาร 0 2591 8468 ในเวลาราชการ และเว็บไซต์หน้าหลัก อย. www.fda.moph.go.th คลิกที่เครื่องสำอาง
ที่มาของข้อมูล : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา |