สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ปฏิวัติเขียว... ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1 ใน 3 ส่วน

ผู้เขียน: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่: 17 มิ.ย. 2553

            นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา เผยผลวิจัย เกษตรยุคใหม่หลังการปฏิวัติเขียวมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้ถึง 1 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมด ภายหลังจากปฏิวัติอุตสาหกรรม แนะทำวิจัยด้านเกษตรเป็นวิธีลดก๊าซเรือนกระจกต้นทุนต่ำแต่ให้ผลกำไรสุดคุ้ม ช่วยลดการถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก
       
            ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) และสถาบันคาร์เนกี (Carnegie Institution) ในสหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่า การปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารให้เพียงพอต่อชาวโลกในยุคปฏิวัติเขียว (Green Revolution) มีบทบาทสำคัญในการหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นปริมาณหลายแสนล้านตัน โดยผลการวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา (Proceedings of the National Academy of Sciences : PNAS)
       
            ทีมนักวิจัยยังประมาณได้ว่า หากปราศจากการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในยุคปฏิวัติเขียว จะทำให้มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจากการถางป่าเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำการเกษตรมาถึง 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาทั้งหมดนับตั้งแต่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อปีค.ศ. 1850
       
            ผลการวิจัยของเราช่วยลบล้างแนวคิดที่ว่า เกษตรอุตสาหกรรมที่ใช้ปิโตรเคมีทำให้สภาพภูมิอากาศย่ำแย่กว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม คำกล่าวอ้างในไซน์เดลีของเจนนิเฟอร์ เบอร์นีย์ (Jennifer Berney) หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ซึ่งการเกษตรสมัยใหม่นั้นมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ปุ๋ยเคมี สารฆ่าแมลง และเครื่องจักกลการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น
       
            เจนนิเฟอร์ เบอร์นีย์ ให้ข้อมูลว่า การเกษตรในปัจจุบันนี้มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 12% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และแม้ว่าก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้จะมาจากการผลิตและการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก แต่ก็ยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะถูกปลดปล่อยออกมาจากการเปลี่ยนพื้นที่ป่าและทุ่งหญ้าให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูก
       
            ทุกครั้งที่ป่าหรือป่าละเมาะถูกถางให้โล่งเตียนสำหรับทำการเกษตร คาร์บอนที่ถูกกักเก็บไว้ในรูปของชีวมวลจะถูกปลดปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว โดยการเผาไหม้ ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นช่วยหยุดยั้งการถางป่าและช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 13,000 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงพันธุ์พืชในยุคปฏิวัติเขียวเพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารให้เพียงพอต่อจำนวนประชากร ย่อมต้องมีการทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกให้สามารถผลิตอาหาร และนั่นก็จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากถูกปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ เจนนิเฟอร์ เบอร์นีย์ เผยผลการวิจัย
              
            เมื่อคำนวณต้นทุนที่ใช้ในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชในช่วงระหว่างปีค.ศ. 1961 - 2005 และมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ พบว่ามีต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน ประมาณ 4 - 7.5 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เท่านั้น ขณะที่กลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปลูกสร้างที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ จะต้องใช้ต้นทุนถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ จากการคำนวณโดยเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ลดได้เพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ลดได้จากการปฏิวัติเขียว

       
            เมื่อพิจารณาที่มูลค่าของต้นทุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก พบว่าการวิจัยด้านการเกษตรเป็นหนึ่งในวิธีการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกที่สุด และถ้าใช้เหตุการณ์เมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นแนวทาง จะทำให้ได้แหล่งลดก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพและขนาดใหญ่ คำกล่าวของสตีเวน เดวิส (Steven Davis) นักวิจัยภาควิชานิเวศวิทยาโลก สถาบันคาร์เนกี ซึ่งร่วมวิจัยเรื่องนี้ด้วย

            และจากผลการวิจัยพบว่าผลจากการปฏิวัติเขียวตั้งแต่ปีค.ศ. 1961 - 2005 สามารถยับยั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างน้อย 317 พันล้านตัน และบางทีอาจยับยั้งได้มากถึง 590 ล้านตัน
       
            อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยให้ข้อสังเกตว่า การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียวไม่รับประกันว่าจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับความพยายามในการอนุรักษ์ธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเมื่อผลผลิตสูงขึ้นและทำให้ผลกำไรเพิ่มมากขึ้น จะยิ่งจูงใจให้เกษตรกรพยายามขยายพื้นที่เพาะปลูก ทว่าโดยหลักการแล้ว เมื่อผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ราคาต่ำลง และส่งผลให้ลดความต้องการขยายพื้นที่เพาะปลูก

ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2553

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - โลกร้อนทำป่าเสื่อมโทรม ต้นไม้อาจปล่อยคาร์บอนแทนการดูดซับ
บอกข่าวเล่าความ - นิวซีแลนด์เปิดศูนย์วิจัยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น