แม้จะมีการนำระบบการค้าเสรีมาใช้เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจเจริญรุดหน้าเร็วขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยก็ยังไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากในระบบการค้าเสรีมีการนำมาตรการสินค้าปลอดภัย มาใช้ควบคุมกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และศักยภาพของไทยในการแข่งขันทางการค้าเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งมีระบบการรับรองคุณภาพสินค้าที่เข้มแข็งแล้ว ประเทศไทยยังมีศักยภาพน้อยมาก มาตรการสินค้าปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็นของระบบการค้าเสรี เพราะการค้าเสรีเป็นตัวกระตุ้นให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียกับผู้บริโภค กล่าวคือ ราคาสินค้าลดลงเพราะการแข่งขันของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคมีโอกาสที่จะเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น แต่ผลเสียที่เกิดขึ้น คือ สินค้าด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยแพร่หลายได้ง่ายขึ้น และยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการค้าภายในประเทศ แต่ละประเทศจึงต้องใช้มาตรการด้านต่างๆ ป้องกันความเสียหายทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้พัฒนาเศรษฐกิจไม่ยั่งยืนตามที่คาดหวัง
มาตรการสินค้าปลอดภัยอย่างหนึ่งที่ทุกประเทศนำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ คือ มาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยจากสารเคมี การบังคับใช้มาตรการนี้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในสินค้า เพื่อใช้ในการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมาย รวมไปถึงการให้คำรับรองว่าสินค้าของตนมีคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนด ทั้งนี้เพราะข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในสินค้าเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการจัดการความเสี่ยงต่ออันตรายของสารเคมีและสารเคมีในผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากสารเคมีนั้นๆ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในสินค้า จึงเป็นเงื่อนไขของการค้าขายในปัจจุบัน
ขณะนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทย ต้องเผชิญกับข้อเรียกร้อง และเงื่อนไขของคู่ค้าเกี่ยวกับการรับรองความปลอดภัยจากสารเคมีในสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับสารเคมีและความปลอดภัย ที่ผู้ประกอบการต้องใช้ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในสินค้าดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดหลายประเภท เช่น การควบคุมวัตถุอันตราย การป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในการทำงาน การคุ้มครองผู้บริโภค ความรับผิดชอบในสินค้า การขนส่งสินค้าอันตราย การควบคุมยุทธภัณฑ์ และมาตรฐานสินค้า ซึ่งมีทั้งมาตรฐานบังคับและมาตรฐานที่คู่ค้าเลือกใช้ตามความสมัครใจ ผู้ประกอบการไทยจึงต้องพึ่งพาแหล่งบริการการวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อให้มีข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในสินค้าสำหรับดำเนินการทางการค้า เพราะการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในสินค้าต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำการวิเคราะห์ทดสอบ แต่การเข้าถึงการบริการวิเคราะห์ทดสอบทางห้องปฏิบัติการไม่สะดวกเท่าที่ควร แม้ว่าค่าบริการของแหล่งบริการของภาครัฐจะไม่แพง แต่แหล่งบริการของภาครัฐมีน้อย และการวิเคราะห์ทดสอบบางอย่างต้องใช้เวลา นอกจากนี้การวิเคราะห์ทดสอบบางอย่างของแหล่งบริการเหล่านี้ ยังไม่มีการประกันคุณภาพตามระบบประกันคุณภาพของสากล ทำให้อุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเพื่อการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงเป็นเรื่องที่น่าทบทวนว่าในสถานการณ์เช่นนี้เรายังมีโอกาสอะไรอยู่บ้างไหม ประเด็นที่น่าคิด คือ เราจะสามารถพัฒนาการบริการวิเคราะห์ทดสอบ ให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้หรือไม่ นอกจากความพยายามที่จะพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการของภาครัฐ ซึ่งได้ใช้เวลาและเงินไปแล้วเป็นจำนวนมาก
การบริการวิเคราะห์ทดสอบ ทำเป็นอุตสาหกรรมได้หรือ
ผลหรือข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เช่น องค์ประกอบทางเคมีของของ คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพ และการตรวจหาปริมาณของสารต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น การตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบก่อนนำไปใช้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการพัฒนาปรับปรุงวัตถุดิบ การตรวจสอบกระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพ รวมทั้งการรับรองผลิตภัณฑ์ ดังนั้น การบริการวิเคราะห์ทดสอบทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นที่ต้องการสามารถทำเป็นธุรกิจได้ และเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ทั้งทุน แรงงานที่มีทักษะ เทคโนโลยี และเครื่องมือซึ่งมีราคาแพงผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดผลผลิตคือการบริการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุที่ทำการวิเคราะห์ทดสอบ ความต้องการใช้ผลการวิเคราะห์ทดสอบที่มีมากทำให้สามารถพัฒนาธุรกิจการบริการการวิเคราะห์ทดสอบเป็นอุตสาหกรรมได้ ซึ่งในโลกตะวันตกมีการทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการบริการวิเคราะห์ทดสอบมานานแล้ว โดยเฉพาะการวิเคราะห์ทดสอบทางการแพทย์ ซึ่งมีความต้องการสูง
โอกาสทางธุรกิจการบริการวิเคราะห์ทดสอบ
ความต้องการการบริการวิเคราะห์ทดสอบของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์ ที่ผู้ประกอบการใช้เป็นเงื่อนไขในการค้าขายกันโดยทั่วไป ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องใช้ผลวิเคราะห์ทดสอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อควบคุมคุณภาพแล้ว ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมในระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เช่น RoHS และกฎหมายของแต่ละประเทศอีกมากมาย เช่น กฎหมายควบคุมวัตถุอันตราย ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบสินค้าของตนอย่างสม่ำเสมอด้วยการวิเคราะห์ทดสอบทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายเหล่านี้หรือไม่ ทั้งยังต้องสามารถรับรองความปลอดภัยของสินค้าได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดชอบในสินค้า (Product Liability Law) ที่ความเข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ยังกฎระเบียบอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์โดยตรง แต่ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้บริการการวิเคราะห์ทดสอบ คือ กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการทำงานผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบการแพร่กระจายของสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นเพราะการผลิตใช้หรือกำจัด เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ต้องใช้ผลการวิเคราะห์ทดสอบสารเคมีในอากาศและแหล่งน้ำของสถานประกอบการ สำหรับตรวจสอบและเฝ้าระวัง มิให้มีปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตามความต้องการบริการวิเคราะห์ทดสอบของผู้ประกอบการมิได้เกิดจากข้อกำหนดของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อม ยังต้องพึ่งแหล่งบริการการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะการวิเคราะห์ทดสอบต้องมีห้องปฏิบัติการและเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ทดสอบ ซึ่งราคาแพงแล้วยังต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถด้วย ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมไม่มีเงินทุนมากพอที่จะทำเองได้
สำหรับประเทศไทยในขณะนี้แม้จะมีแหล่งบริการวิเคราะห์ทดสอบของภาครัฐแล้ว ยังมีแหล่งบริการเอกชนที่เป็นของคนไทยและต่างชาติ แต่ความต้องการการบริการวิเคราะห์ทดสอบของอุตสาหกรรมไทยนับวันจะเพิ่มมากขึ้น เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยต้องพึงพาการส่งออก จึงควรพัฒนาการบริการวิเคราะห์ทดสอบ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่งของภาคการผลิต เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการของอุตสาหกรรมไทย และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมั่นใจ
ศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการวิเคราะห์ทดสอบของไทย
หากพิจารณาองค์ประกอบของอุตสาหกรรมวิเคราะห์ทดสอบ ซึ่งได้แก่ คน เครื่องมือ ระบบประกันคุณภาพและเทคโนโลยีหรือวิธีวิเคราะห์ แล้วจะเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่ง หากมีการพัฒนาให้เข้มแข็งมากขึ้นจะช่วยให้สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการวิเคราะห์ทดสอบให้ก้าวหน้าได้ ในด้านบุคลากร นอกจากสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบุคลากรด้านการวิเคราะห์ทดสอบแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการพัฒนาความสามารถในด้านการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบและวิจัย คือ สำนักพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ และมีพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลจริยธรรมการประกอบวิชาชีพอีกด้วย ด้านระบบประกันคุณภาพ มีหน่วยงานกำกับดูแลระบบการตรวจสอบและรับรอง คือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยรับรองระบบงานแห่งชาติ และหน่วยตรวจสอบและรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบที่เป็นของรัฐ เช่น สำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนเทคโนโลยีการวิเคราะห์ทดสอบ สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รวบรวมตำราหนังสืออ้างอิงและเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการวิเคราะห์ทดสอบไว้บริการเป็นจำนวนมาก นับแต่แรกตั้งกรมวิทยาศาสตร์จนปัจจุบัน แต่สำหรับเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ทดสอบนั้น ยังต้องซื้อจากต่างประเทศ ที่ผลิตได้เองเป็นเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน
ปัจจุบันแหล่งบริการวิเคราะห์ทดสอบในประเทศไทย นอกจากห้องปฏิบัติการของหน่วยงานและสถาบันเฉพาะทางแล้ว ยังมีเอกชนอยู่หลายแห่ง และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีแหล่งบริการที่เป็นของสิงคโปร์และมาเลเซียสามารถให้บริการการวิเคราะห์ทดสอบได้หลากหลายกว่าของคนไทยซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่ง
ผลกระทบของอุตสาหกรรมการบริการวิเคราะห์ทดสอบ
การพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการวิเคราะห์ทดสอบทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวก คือ ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าการบริการวิเคราะห์ทดสอบได้ง่าย ทำให้สินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดมีความปลอดภัยมากขึ้น และสามารถขายบริการการวิเคราะห์ทดสอบให้แก่ผู้ประกอบการของประเทศใกล้เคียงได้ด้วย นอกจากนี้ปริมาณความต้องการการบริการที่เพิ่มขึ้นอาจกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการผลิตเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ เช่น หุ่นยนต์สำหรับการวิเคราะห์สารอันตราย ซึ่งปัจจุบันมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้การตรวจสอบสารอันตรายในสินค้าเป็นเงื่อนไขสำคัญของการค้า แต่ผลกระทบด้านลบของอุตสาหกรรมการบริการวิเคราะห์ทดสอบที่ต้องเอาใจใส่ คือ การแพร่กระจายของสารเคมีที่ใช้ในการวิเคราะห์ทดสอบและของเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับผู้ปฏิบัติงานจึงต้องมีการป้องกันและตรวจสอบอย่างเข้มข้น
|