ด้วยเหตุที่สังคมในปัจจุบันเป็นยุคแห่งการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันด้านการค้า และเพื่อให้ได้มาซึ่งตลาดหรือกลุ่มผู้บริโภคจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการสร้างตลาด ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่มักใช้กันในปัจจุบันคือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตหรือเป็นองค์ประกอบของสินค้า เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพหรือประสิทธิภาพที่เหนือคู่แข่ง นาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเริ่มมีความเกี่ยวข้องมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจกับคำว่า นาโน น้อยมาก เพราะหลายครั้งที่เมื่อนักวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีถูกถามว่า นาโน คืออะไร คำตอบมักเป็นไปกับการบอกถึงขนาดที่เล็กมากๆ คือ 10-9 เมตร ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการทำให้เห็นอนุภาคเหล่านั้นได้ หรืออาจเป็นไปกับการอุปมาขนาดนาโนด้วยสิ่งที่มีอยู่ เช่น เมื่อเทียบกับโลกแล้วขนาดนาโนคือมีขนาดประมาณลูกปิงปอง พร้อมกับการกล่าวถึงข้อดีและประโยชน์ของนาโนอีกมากมาย ดังนั้นการรับข้อมูลของผู้คนส่วนใหญ่จึงเป็นไปเพียงตามคำโฆษณาของสินค้าประเภทนั้นๆ เช่น ซิลเวอร์นาโน คือใช้โลหะเงินขนาดนาโน หรือไทเทเนียนาโน คือไทเทเนียมไดออกไซด์ขนาดนาโน โดยประชาคมส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยได้รับข้อมูลอีกด้านหนึ่งของนาโนเทคโนโลยีคือด้านความเป็นพิษ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในรายงานวิจัยเฉพาะทาง ในขณะเดียวกันสินค้าที่ใช้นาโนเทคโนโลยีกลับมีเพิ่มขึ้นทุกวัน
ดังนั้นในฐานะของผู้บริโภค ตัวผู้บริโภคเองอาจต้องมีความรู้พอสมควรในการแยกแยะที่จะเลือกหรือไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์นาโน อย่างไรก็ตามวิธีการนี้คงไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก เพราะยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองด้านความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์จากนาโนเทคโนโลยี เหตุผลหนึ่งที่ผู้บริโภคมิได้ตระหนักถึงอันตรายอาจสืบเนื่องมาจากความมั่นใจในมาตรการของรัฐที่อนุญาตให้นำเข้า ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากนาโนเทคโนโลยีได้
บางท่านอาจมองว่าหลายเรื่องยังเป็นปัญหาที่จัดการได้ยาก เช่น ปัญหาการจัดการเรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ดังนั้นการจัดการกับสินค้านาโนจะเป็นไปได้อย่างไร แต่หากมองในแง่ดีว่าในเมื่อนาโนเทคโนโลยียังเป็นเรื่องใหม่ ทำไมจึงไม่สร้างมาตรการรองรับไว้ก่อน โดยอาจออกเป็นกฏหมายให้ผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้า ผลิต หรือจำหน่ายสินค้าที่ใช้นาโนเทคโนโลยีหรือมีวัสดุนาโนเป็นองค์ประกอบต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้องค์กรของรัฐทราบถึงปริมาณการใช้สินค้านาโน ตลอดจนเส้นทางการแพร่กระจายสู่ผู้บริโภคจนสิ้นสุดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด และเพื่อให้องค์กรของรัฐสามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์นาโนได้ หากเป็นไปได้ผู้ประกอบการเหล่านั้นอาจต้องมีผลการศึกษาถึงด้านความเป็นพิษ ความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมก่อนที่จะนำเข้า ผลิต หรือจำหน่ายสินค้าเหล่านั้น
จากแนวทางที่เสนอในข้างต้นจะเห็นได้ว่าวิธีการดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นภาระของผู้ประกอบการในการรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานของรัฐซึ่งทำหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องตระหนัก คือ ความหลากหลายของสินค้าจากนาโนเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องสำอาง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในแต่ละสาขา เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ |