สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

พื้นที่มาบตาพุดยังพบสารก่อมะเร็งเกินมาตรฐาน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
วันที่: 3 มิ.ย. 2551

            กรมควบคุมมลพิษเผย สารก่อมะเร็ง 3 ชนิดที่มาบตาพุดยังเกินมาตรฐาน ส่วนคนบางสะพานร้องเจอฝนกำมะถันจากโรงถลุงเหล็ก นักวิชาการสิ่งแวดล้อมเก็บตัวอย่างตรวจ พร้อมเตรียมศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ

            ปัญหามลพิษที่มาคู่กับอุตสาหกรรมยังมีให้เห็นอยู่เสมอ ล่าสุด ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการติดตามตรวจสอบปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (VOCs) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 ถึงเดือนมีนาคม 2551 โดยได้นำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยใน 1 ปี และเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ยังมีค่าความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีมี 3 ชนิด ได้แก่ สาร 1, 3-บิวทาไดอีน ซึ่งค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีกำหนดไว้ไม่เกิน 0.33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) แต่ที่สถานีอนามัยมาบตาพุด พบเกินมาตรฐาน 0.55 มคก./ลบ.ม. ขณะที่บริเวณชุมชนบ้านเพลง 0.43 มคก./ลบ.ม. และศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน 0.43 มคก./ลบ.ม. สำหรับสาร 1, 2-ไดคลอโรอีเทน ตรวจพบเกินมาตรฐานหลายจุด โดยเฉพาะที่สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด 24 มคก./ลบ.ม. รวมทั้งสถานีอนามัยมาบตาพุด และที่โรงเรียนวัดหนองแฟบ 0.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งค่ามาตรฐานเฉลี่ยกำหนดไว้ที่ 0.4 มคก./ลบ.ม.

            ดร.วิจารย์กล่าวอีกว่า ส่วนสารเบนซีนค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีต้องไม่เกิน 1.7 มคก./ลบ.ม. แต่ที่สถานีชุมชนบ้านเพลงวัดได้ 3.7 มคก./ลบ.ม. รองลงมาที่สถานีอนามัยมาบตาพุด 3.0 มคก./ลบ.ม. ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน 2.8 มคก./ลบ.ม. และที่สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด 2.4 มคก./ลบ.ม. ขณะที่ผลการตรวจวัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เฉลี่ย 1 ชั่วโมงสูงสุดของเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคือ 103.0 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เฉลี่ย 1 ชั่วโมงสูงสุด 45.0 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่มีค่าความเข้มข้นไม่เกินค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายแล้ว ได้แก่ ไวนิลคลอไรด์ ไดคลอโรมีเทน คลอโรฟอร์ม ไตรคลอโรเอทธิลีน 1, 2-ไดคลอโรโพรเพน และเตตระคลอโรเอทธิลีน

            "แนวทางแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในนิคมมาบตาพุด เพื่อลดสารอินทรีย์ทั้ง 3 รายการ เนื่องจากล่าสุดสามารถแก้ปัญหาจุดรั่วซึมต่างๆ จาก 100 โรงงาน สำเร็จไปแล้วร้อยละ 92 หรือประมาณ 373 จุด พร้อมทั้งจะเร่งประกาศค่าเฝ้าระวังสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศเพิ่มเติมอีก 10 รายการ ให้เสร็จภายใน 2 เดือนข้างหน้า เพราะขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจทางวิชาการ รวมทั้งได้ทำงานเชิงรุก โดยจะดึงภาคประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ส่วนแผนการศึกษาทางด้านสุขภาพอนามัยและการเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคในพื้นที่มาบตาพุด กำลังของบจากกองทุนสิ่งแวดล้อมจำนวน 70 กว่าล้านบาท" ผอ.สำนักจัดการคุณภาพอากาศระบุ

            ขณะที่ชุมชนบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ นายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เผยถึงปัญหาผลกระทบจากโครงการโรงถลุงเหล็กว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.แม่รำพึง และหลายหมู่บ้านที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของโครงการ ที่ต้องประสบปัญหาฝุ่นละอองที่มีสีเหลืองคล้ายขี้ผึ้งลอยมาตกในบ้าน เปรอะเปื้อนเสื้อผ้าที่ตากไว้กลางแจ้ง รวมทั้งติดตามใบมะพร้าวและพืชผัก ลักษณะคล้ายกำมะถัน โดยเฉพาะในช่วงอากาศปิด และไม่มีแสงแดด โดยชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่าเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเตาเผา จากโรงรีดเหล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่

            "ชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะมาจากโรงถลุงเหล็ก เพราะก่อนหน้านี้โรงถลุงเหล็กใช้น้ำมันเตา กำมะถันต่ำไม่เกิน 1.25% แต่เมื่อหลายปีก่อนได้ไปขออนุญาตจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปลี่ยนเป็นน้ำมันเตา 2% เท่าที่ศึกษาพบว่า คุณสมบัติใกล้เคียงกับการเผาไหม้ของถ่านหินอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่าโรงงานเพิ่มเวลาการทำงานเป็นช่วงกลางคืน เพราะค่าไฟฟ้าถูกกว่า ทำให้ช่วงกลางคืนอากาศนิ่งและชื้น อาจจะส่งผลให้เกิดการสะสมของปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศและหยดตกลงมาเมื่ออากาศนิ่ง อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เครื่องตรวจวัดอากาศจะตรวจวัดไม่ได้ เพราะปล่องควันติดอยู่ด้านบน แต่เครื่องตรวจวัดอากาศติดอยู่กับพื้นดิน ตรวจอย่างไรก็ไม่เจอ" นายสุพจน์กล่าว

            เมื่อถามว่า เคยมีหน่วยงานใดมาตรวจสอบบ้างหรือไม่ นายสุพจน์กล่าวว่า เคยมีสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นขี้ผึ้ง ซึ่งชาวบ้านไม่มีใครเชื่อ เพราะในพื้นที่ไม่มีผึ้งมากขนาดนั้น อยากให้หน่วยงานราชการที่เป็นกลางเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ร้องไปแล้วยังไม่มีใครเข้ามาตรวจสอบ แต่ล่าสุด ดร.อาภา หวังเกียรติ จากสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กำลังเตรียมเข้ามาเก็บตัวอย่างฝุ่นสีเหลืองดังกล่าว เพื่อนำไปตรวจสอบว่าเป็นสารอะไร พร้อมทั้งจะเข้ามาตรวจฝุ่นละอองจากโรงเหล็กด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเริ่มมีปัญหาความเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2551

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Benzene
Dichloromethane
Nitrogen dioxide
Sulfur
Sulfur dioxide
Trichloromethane
Vinyl chloride
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - คพ.สรุปผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด
บอกข่าวเล่าความ - สารเบนซีนกับสุขภาพประชาชนรอบมาบตาพุด
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

http://en.wikipedia.org/wiki/Carcinogenic        ( Carcinogen )

โดย:  นักเคมี  [23 ส.ค. 2551 20:29]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ระยองแตกแล้ว

โดย:  น้องจ๋อง  [13 มี.ค. 2552 02:36]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น