สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

นักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาวัสดุดูดซับก๊าซพิษจากเตาเผาขยะ

ผู้เขียน: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่: 2 ต.ค. 2551

            นิสิตปริญญาเอกวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัสดุดูดซับก๊าซพิษจากเตาเผาขยะโดยอาศัยคุณสมบัติของดินเหนียวที่ราชบุรีมาผสมกับโพลิเมอร์ที่มีโครงสร้างความพรุนสูง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดูดซับก๊าซพิษในเตาเผาขยะและยังลดมลภาวะทางอากาศได้อีกทางด้วย

            น.ส.พรศรี เพคยางกูร นิสิตปริญญาเอกผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ เปิดเผยว่า มลพิษจากการเผาขยะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละอองต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกและภาวะโลกร้อน ทั้งนี้วัสดุที่ใช้ในการดักจับก๊าซพิษเหล่านี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงเกิดแนวคิดในการผลิตวัสดุดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้โดยใช้วัสดุที่ผลิตได้เองภายในประเทศ ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีประสิทธิภาพในการดักจับก๊าซพิษได้ทัดเทียมวัสดุหรือเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศ

            น.ส.พรศรี กล่าวว่า วัสดุที่ใช้ดักจับก๊าซจากการเผาไหม้ดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นโพลิเมอร์ที่มีรูพรุนสูงหรือที่เรียกว่า PolyHIPE ซึ่งสามารถผลิตได้เองในประเทศไทย มีการปรับปรุงเพิ่มคุณสมบัติในการดักจับก๊าซพิษมากยิ่งขึ้น โดยผสมกับแร่ดินเหนียวที่พบมากในจังหวัดราชบุรี ขั้นตอนในการศึกษาวิจัย มีการทดลองใช้วัสดุดักจับก๊าซรวมทั้งสิ้น ๓ สูตร เพื่อเปรียบเทียบผลการวิจัย สูตรแรกเป็นโพลิเมอร์ ๑๐๐% ซึ่งพบว่าดูดซับก๊าซพิษได้น้อย รวมทั้งมีโครงสร้างไม่แข็งแรงเท่าสูตรที่ผสมอนุภาคของแร่ดินเหนียว สูตรที่สองเป็นโพลิเมอร์ที่เพิ่มแร่ดินเหนียว และสูตรที่สามเป็นโพลิเมอร์ที่ผสมอนุภาคของแร่ดินเหนียวที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้วโดยการนำไปต้มด้วยกรดไฮโดรคลอลิก ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพในการดูดซับก๊าซพิษได้มากที่สุดกว่า ๘๐%

            น.ส.พรศรี กล่าวเพิ่มเติมถึงการศึกษาวิจัยในอนาคตว่าจะทำการพัฒนาวัสดุชนิดนี้เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในระดับที่สูงขึ้นจากการนำไปใช้ในกระบวนการเผาไหม้จริงๆ ที่ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ หากการทดสอบได้ผลดีก็จะเพิ่มความมั่นใจในการนำไปใช้จริงในโรงกำจัดขยะ ซึ่งจะช่วยดักจับก๊าซพิษและลดมลภาวะทางอากาศด้วยวัสดุที่หาได้ในบ้านเรา


ที่มาของข้อมูล : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย www.chula.ac.th

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
Sulfur dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - จุฬาฯ วิจัยแบคทีเรียบนใบไม้ ย่อยสลายสารพิษในบรรยากาศ
บอกข่าวเล่าความ - เอนไซม์จากเห็ด บำบัดสารพิษในอุตสาหกรรมสีย้อมได้
บอกข่าวเล่าความ - จุฬาฯ ผลิตปุ๋ยหวังลดปริมาณขยะในมหาวิทยาลัย
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

This is a rellay intelligent way to answer the question.

โดย:  Dila  [2 เม.ย. 2555 09:21]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น