สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ร่างกฎหมายใหม่เรื่องโลกร้อนของสหรัฐอเมริกาในยุคการเปลี่ยนแปลง

ผู้เขียน: บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
หน่วยงาน: ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 1 เม.ย. 2552

            ในเดือนตุลาคมปี 2551ได้มีการเผยแพร่ร่างกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนต่อสาธารณะ เป็นร่างกฎหมายที่ร่วมกันจัดทำและนำเสนอโดยสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา 2 คน คือ นาย John Dingell จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการพลังงานและการพาณิชย์ (E&C) และนาย Rick Boucher จากพรรครีพลับลีกัน และเป็นประธานอนุกรรมาธิการด้านพลังงานและคุณภาพอากาศ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการ E&C ทั้งสององค์กรมีหน้าที่หลักในด้านการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเรียกกันทั่วไปว่า Dingell - Boucher Draft

            เนื้อหาส่วนหนึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการปรับแก้ไขกฎหมาย Clean Air Act ของสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดตั้งระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกที่เรียกว่า Cap - and - Trade Program โดยในแต่ละปีนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2012 จนถึง 2050 สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) จะประกาศกำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้ ซึ่งจะมีปริมาณลดลงทุกปี ในการกำหนดปริมาณก๊าซที่อนุญาตให้ปล่อย EPA อาจทำได้โดยการจัดสรรให้กับประเภทอุตสาหกรรมหรือกิจการที่เฉพาะเจาะจง หรือโดยการเปิดให้มีการประมูลซื้อขาย

            เป้าหมายหลักของกฎหมายฉบับนี้ คือ การลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาให้ลดลงต่ำกว่า 80% จากปริมาณที่ปล่อยในปี 2005 ให้เกิดผลสำเร็จภายในปี 2050 โดยเริ่มจากเป้าหมาย 6% ภายในปี 2020 เพิ่มเป็น 44% ภายในปี 2030 และเพิ่มเป็น 80% ในปี 2050 ทั้งหมดนี้จะครอบคลุมก๊าซเรือนกระจก 88% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาในด้านต้นทุนของลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในร่างกฎหมายจึงได้อนุญาตให้มีการขายคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ (Carbon Offset) ซึ่งอาจดำเนินการภายในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือระหว่างประเทศก็ได้ และในร่างกฎหมายได้กำหนดรายละเอียดของสัดส่วน Carbon Offset ไว้ในแต่ละช่วงเวลา เช่น ระหว่างปี 2012 - 2024 อาจดำเนินการลดก๊าซโดยใช้กิจกรรม Carbon Offset ได้เป็นสัดส่วน 30% โดยสามารถดำเนินการในระหว่างประเทศได้ 15 %  ตรงส่วนนี้จึงเป็นจุดหนึ่งของการเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมของสหรัฐอเมริกากับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย  โดยในร่างกฎหมายได้กำหนดบัญชีประเภทกิจกรรมเริ่มต้นที่สามารถทำ Carbon Offset ได้ เช่น การทำเหมืองถ่านหินใต้ดิน การกำจัดขยะแบบฝังกลบ  การลดก๊าซมีเทนจากมูลสัตว์ การปลูกหรือฟื้นฟูสภาพป่า เป็นต้น ทั้งนี้ทาง EPA จะมีอำนาจในการประกาศเพิ่มประเภทกิจกรรมในบัญชีได้อีก

            กลไกอีกส่วนหนึ่งของ Dingell - Boucher Draft ที่จะมีผลกระทบเชื่อมโยงมาสู่ประเทศไทยอย่างแน่นอน คือ กลไกที่จัดตั้งขึ้นมาจากข้อพิจารณาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยในร่างกฎหมายให้มีการจัดตั้ง International Reserve Allowance (IRAs) Program และ International Climate Commission (ICC) ขึ้นมา ทาง ICC จะทำหน้าที่จัดทำบัญชีรายการประเทศและสินค้าที่ผลิตโดยใช้พลังงานสูงและค้าขายในตลาดระหว่างประเทศ ผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวจะต้องยื่นแสดงปริมาณ IRAs เพื่อไปทดแทนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าที่นำเข้าสหรัฐอเมริกา แต่หากเป็นสินค้าที่มิได้อยู่ในบัญชีรายการก็ไม่ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดข้างต้น ประเทศที่อยู่จะนอกบัญชีรายการดังกล่าวได้ จะต้องมีการดำเนินงานควบคุมและลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเหมาะสม (Comparable Action) ซึ่งพิจารณาตัดสินโดย ICC หรือเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) หรือเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 0.5 % ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก

            ร่างกฎหมายในลักษณะคล้ายกันนี้ได้เคยนำเสนอต่อวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาในเดือนมิถุนายน 2551 ได้รับเสียงสนับสนุน 48 เสียง ไม่สนับสนุน 36 เสียง ทั้งนี้ มีวุฒิสมาชิกอีก 6 คนที่ประกาศสนับสนุน แต่ไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุมได้ (รวมทั้งนายโอบามา)  ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาจะต้องมีเสียงสนับสนุน 60 เสียง จึงจะมีการพิจารณากฎหมายในขั้นต่อไปได้ ในครั้งนั้นเป็นยุคประธานาธิบดีบุช เสียงสนับสนุนขาดไปเพียง 6 เสียง (หากนับรวมผู้สนับสนุนแต่ไม่ได้มาประชุม) ในยุคประธานาธิบดีโอบามา ความเปลี่ยนแปลง (Change) จึงมีโอกาสสูงอย่างยิ่ง

ที่มาของข้อมูล : โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (MEAs Watch)

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
Methane
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - REDD อีกแนวคิดประเทศอุตฯ โบ้ยภาระลดโลกร้อนให้ชาติยากจน
บอกข่าวเล่าความ - กรีนพีซเรียกร้องให้ผู้นำจีนช่วยสู้โลกร้อน
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ดีมากครับบทความนี้ทำให้มีความเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศพัฒนาแนวใหม่ๆ

โดย:  ธงชัย  [28 เม.ย. 2552 14:30]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น