สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ปัญหาจากการปฏิบัติตามระเบียบ REACH

ผู้เขียน: คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป
วันที่: 14 พ.ค. 2552

            เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 นาย Geert Dancet ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรเคมีภัณฑ์ยุโรป (European Chemicals Agency หรือ ECHA) ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติตามระเบียบ REACH ที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่บริษัทในยุโรปยื่นขอจดทะเบียนสารเคมีหลายชนิดในแฟ้มเดียวกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อข้อมูลทางเทคนิค รวมทั้งไม่แต่งตั้งผู้นำในการจดทะเบียนสารเคมีในกรณีที่มีการจัดตั้งกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี

            รายงานจากสำนักข่าว EurActiv (5 พฤษภาคม 2552) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนาย Geert Dancet ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรเคมีภัณฑ์ยุโรป (European Chemicals Agency หรือ ECHA) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารงานตามระเบียบ REACH (Registration, Evaluation, Authorization and Restriction of Chemicals) อาทิ การรับจดทะเบียนสารเคมี การประเมินข้อมูลทางเทคนิค การเผยแพร่คู่มือการปฏิบัติตามระเบียบ REACH แก่ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยสรุปปัญหาในระบบการปฏิบัติตามระเบียบ REACH ได้ดังนี้

            1. บริษัทยื่นขอจดทะเบียนสารเคมี (substance) หลายชนิดในแฟ้มเดียวกัน (registration dossier) ซึ่งตามปกติการขอจดทะเบียนสารเคมีจะทำได้แฟ้มละหนึ่งชนิดเท่านั้น การยื่นขอจดทะเบียนสารเคมีหลายชนิดในแฟ้มเดียวทำให้ไม่สามารถระบุส่วนประกอบของสารเคมีได้ชัดเจนว่าเป็นส่วนประกอบของสารเคมีประเภทใด อีกทั้งยังให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอสำหรับ ECHA ในการประเมินสารเคมี ซึ่ง ECHA จะตีกลับการจดทะเบียนสารเคมีดังกล่าวไปยังบริษัทเพื่อปรับปรุงและยื่นขอจดทะเบียนอีกครั้ง (มีหลายกรณีที่ต้องยื่นขอจดทะเบียนถึงสามครั้ง)

            2. ในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) บริษัทอาจกังวลว่าหากให้รายละเอียดทั้งหมดจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลความลับของบริษัท ซึ่งนาย Dancet กล่าวว่าระเบียบ REACH มีการคุ้มครอง 12 ปี บริษัทที่จดทะเบียนสารเคมีสามารถแสดงความจำนงว่ารายละเอียดลักษณะสารเคมีเป็นข้อมูลลับ รวมถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะบางอย่างของสารเคมี โดยบริษัทจะต้องแจ้งแก่ ECHA ซึ่งจะไม่เปิดเผยข้อมูลนี้แก่ผู้จดทะเบียนสารเคมีรายอื่น

            3. ECHA กระตุ้นให้บริษัทรวมกันจัดตั้งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสารเคมี (Substance Information Exchange Forum หรือ SIEFs) สำหรับสารเคมีที่มีอยู่แล้ว (ไม่ใช่สารเคมีใหม่) และสามารถใช้กลุ่มนี้ในการหลีกเลี่ยงการทดลองสารเคมีที่ซ้ำซ้อนกัน และมีผู้นำของกลุ่ม (lead registrant) สำหรับการยื่นขอจดทะเบียนสารเคมีร่วมกัน อย่างไรก็ดี ในกลุ่ม SIEFs ที่ได้จัดตั้งขึ้นมีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น (น้อยกว่า 10%) ที่ได้แต่งตั้ง lead registrant แล้ว สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมควรเตรียมการในปีนี้ คือ การเตรียมการตั้ง SIEFs (80% ของ SIEFs ประกอบด้วยบริษัทตั้งแต่ 10-99 บริษัท) สำหรับการขอจดทะเบียนสารเคมีร่วมกันและแจ้ง ECHA ว่าใครเป็น lead registrant นอกจากนี้ จะมีการจัดการสัมมนาปฏิบัติการเพื่อให้ lead registrant ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การขอจดทะเบียนสารเคมีระหว่างกัน

            4. ปัญหาในการบังคับใช้ระเบียบ (enforcement law) กฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับใช้ระเบียบ REACH เป็นกฎหมายภายในของแต่ละประเทศสมาชิกอียู ซึ่งประเทศสมาชิกอียูอาจตีความไม่เหมือนกัน อาทิ ในกรณีเกิดการกระทำผิด บางประเทศอาจตีความว่าเป็นความผิดร้ายแรงในขณะที่บางประเทศอาจตีความว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบ REACH บางประเทศมีเพียงโทษปรับแต่บางประเทศอาจมีโทษขั้นจำคุก ทำให้ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายถือเป็นขั้นที่ลำบากมากประการหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศสมาชิกอียูที่ยังไม่ได้ประกาศใช้ enforcement law อาทิ ออสเตรีย เบลเยียม สเปน อิตาลี ลักเซมเบิร์ก ลัตเวีย และโปรตุเกส
 
            ทั้งนี้ ได้มีการยื่นขอจดทะเบียนสารเคมีล่วงหน้า (ในระหว่างช่วง 1 มิถุนายน – 1 ธันวาคม 2551) มากกว่า 2.7 ล้านรายสำหรับสารเคมี 146,000 ชนิด ซึ่งถือเป็นปริมาณ 20 เท่ามากกว่าที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ECHA คาดว่าจะมีสารเคมีได้รับการจดทะเบียน 55,000 ชนิดภายในปี ค.ศ. 2010

            จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นปัญหาในทางปฏิบัติของบริษัทในการยื่นขอจดทะเบียนสารเคมีหลักๆ สืบเนื่องจากบริษัทยังไม่เข้าใจกฎระเบียบนี้ และบริษัทในยุโรปเห็นว่าการปฏิบัติตามระเบียบ REACH มีความซับซ้อน มีเวลาที่จำกัด บริษัทจะต้องเป็นผู้พิจารณาสถานะของตนว่าเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ หรือผู้นำเข้าสารเคมี และพิจารณาว่าสารเคมีคืออะไร เช่น กาวไม่ใช่สารเคมี แต่ส่วนประกอบที่อยู่ในกาวเป็นสารเคมี และผู้ผลิตต้องจดทะเบียนสารเคมีดังกล่าวที่เป็นองค์ประกอบของกาว เป็นต้น ทั้งนี้ ECHA กำลังทบทวนปัญหาในการจดทะเบียนสารเคมีของบริษัทอยู่ ดังนั้น บริษัทของไทยที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบ REACH นอกจากจะดูได้ที่เว็บไซต์ของ ECHA http://echa.europa.eu/home_en.asp แล้ว สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ของสหรัฐอเมริกา http://www.buyusa.gov/europeanunion/reach.html ซึ่งมีการจัดระบบที่สามารถสืบค้นได้โดยสะดวกเช่นกัน

ที่มาของข้อมูล : เว็บไซต์ไทยยุโรปดอตเน็ต www.thaieurope.net

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ECHA เพิ่มช่องทางเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบ REACH
บอกข่าวเล่าความ - สรุปรายงานการประชุม REACH Competent Authorities
บอกข่าวเล่าความ - ECHA เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนเรื่อง REACH
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น