สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

โครงการจอมป่า ความสำเร็จบทแรกมูลนิธิสืบฯ

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
วันที่: 9 มิ.ย. 2552

            หัวมึงแข็งกว่าลูกปืนของกูรึ... คือคำกล่าวที่เอ่ยขึ้นพร้อมกับเสียงหัวเราะน้อยๆ ของวสันต์ โพธิ์เนียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองเจ้า จังหวัดกำแพงเพชร - ตาก บอกเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์สุดระทึก เมื่อครั้งลงไปจัดการกับปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่บุกรุกที่อุทยานฯ และถูกขู่กลับมา ขัดกับสีหน้าและแววตาที่รู้สึกได้ว่าเจ้าของคำพูดไม่ได้รู้สึกยินดีไปกับความจริงแห่งปัญหาที่ได้ประสบระหว่างการย้ายตำแหน่งมาประจำการอยู่ที่อุทยานแห่งนี้  และต้องเข้าร่วมสะสางปัญหาชาวบ้านบุกรุกที่ดินอุทยานเพื่อขยายที่ดินทำกิน จนตัวเองและลูกน้องต้องเจอกับคำขู่และถูกลอบทำร้ายจากชาวบ้านเป็นระยะๆ

            กรณีพิพาทในเรื่องผืนป่า และผืนที่ดินทำกิน อันเป็นปัญหาระหว่างชาวบ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ และเจ้าหน้าที่รัฐไทยมีมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่มีการประกาศพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน รวมถึงการประกาศมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541ที่มีสาระสำคัญในการสำรวจการถือครองที่ดิน การพิสูจน์ และการรับรองสิทธิ์ในที่ดินทำกินเขตป่า โดยต้องเป็นที่ดินทำกินต่อเนื่องหลังจากการประกาศพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองป่า พ.ศ.2481(ซึ่งถ้าพื้นที่ใดๆ ขาดการทำประโยชน์จากเจ้าของไปแม้แต่ปีเดียว เจ้าหน้าที่จะไม่ทำรังวัดให้และจะกันเป็นพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งถ้าชาวบ้านเข้าไปทำประโยชน์ต่อในปีถัดไปก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาบุกรุก) ทำให้บางครั้งถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อก็มี หรือบางทีก็กลายเป็นชนวนให้เกิดการลุกล้ำผืนป่าที่กินอาณาบริเวณกว้างนับแสนไร่ เพื่อแปลงเป็นที่ดินทำกินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

            สาเหตุหลักของปัญหาคือการขาดการจัดการอย่างมีส่วนร่วม ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ผู้ได้เสียผลประโยชน์ โดยที่ผ่านมามักเป็นการทำงานที่ขาดการประสาน เบื้องบนสั่งมาอย่างไรลูกน้องทำตามอย่างนั้น ทำกันไปตามกฎหมายที่ว่าไว้ แต่ไม่ได้ดูบริบทแห่งความเป็นจริงว่าผืนป่าแต่ละแห่งที่ถูกบุกรุกแผ้วถางทำไร่นั้นมีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร หรือหาทางเยียวยาอื่นๆ ที่ทำให้ชาวบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ต้องไปบุกรุกป่าอย่างที่เคยทำ ฝ่ายชาวบ้านเองก็ไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องด้วยหวงแหนที่ดินทำกินและถูกข่มเหงโดยไม่อธิบายเหตุผล จนเกิดเป็นความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน กระทั่งกลายเป็นปัญหาบานปลายแก้ไขไม่ได้ในที่สุด

            อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมากในบริเวณ ผืนป่าตะวันตก (Western Forest  Complex : WEFCOM) ซึ่งเป็นผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายของประเทศไทย ที่นับได้ว่าใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงความอุดมสมบูรณ์เอื้อต่อการดำรงอยู่ของพันธุ์พืชและสัตว์ อีกทั้งยังช่วยรักษาสมดุลสภาพแวดล้อมโลก ที่สำคัญคือเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ไว้ในพื้นที่ 11,706,586  ล้านไร่ หรือราว 18,730 ตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ าญจนบุรี กำแพงเพชร อุทัยธานี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และตาก โดยผืนป่าตะวันตกประกอบไปด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 17 แห่ง แบ่งเป็นอุทยานฯ 9 แห่ง เตรียมประกาศเป็นอุทยานฯ 2 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 6 แห่ง

            โดยอุทยานแห่งชาติคลองเจ้า หนึ่งในพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 17 แห่ง ผืนป่าตะวันตกมีเนื้อที่ราว 466,800 ไร่ หรือ 747 ตารางกิโลเมตร กินอาณาเขตอยู่ใน จังหวัดกำแพงเพชร 80% และอยู่ในจังหวัดตาก 20% เปรียบเสมือนดั่งประตูเปิดสู่ผืนป่าทางทิศเหนือ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าสน และยังมีสัตว์ป่าอยู่มากมาย อาทิเช่น กระทิง ฝูงหมาป่า หมูป่า เลียงผา หมีควาย ฯลฯ แถมยังเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำปิง ที่จะไหลไปบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะประสบปัญหาไม่ต่างกัน

            ณ ชุมชนบ้านโละโคะ หมู่ 10 ตำบลโกสัมพี กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน และอีก 5 หมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ป่าหมาก ป่าคา ปางสังกะสี วุ้งกะสัง และผาผึ้ง ที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติคลองเจ้า เดิมมีที่ดินทำกินตามมติครม. ปี 2541ราว 40 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ 9,688 ไร่ แต่ปัจจุบันจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งกระเหรี่ยงปากะญอและม้งมากขึ้นหลังจากปี พ.ศ. 2545 จนปัจจุบัน  ซึ่งนายวสันต์ โพธิ์เนียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองเจ้า คาดการณ์ว่าอาจมีการบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยานโดยรวมมากถึง 80,000 ไร่

            ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการเข้ามามีบทบาท ประสานให้เจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านพูดคุยและตกลงกันด้วยดีในกรณีพิพาทเรื่องผืนป่าและผืนที่ดินทำกินของ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่มีเจตนารมณ์ในการรักษาผืนป่า ด้วยการใช้กระบวนการส่งเสริมชุมชนที่ตั้งอยู่ในผืนป่าตะวันตกให้มีวิถีชีวิตที่ไม่เป็นอันตรายต่อผืนป่า พร้อมจัดให้มีแนวเขตและข้อตกลงในพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนที่ชัดเจน โดยทั้งหมดต้องเกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นหลัก

            เป็นเวลาเกือบ 5 ปี โดยระหว่างปี พ.ศ.2547 - 2551 ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกระดับจังหวัด (กอต.) คณะกรรมการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ต้องการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยขอสานต่อ โครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ (The Western Forest Complex Ecosystem Management) หรือ WEFCOM ที่รัฐบาลประเทศเดนมาร์ก โดยกองทุน DANCED เป็นผู้ให้การสนับสนุนจากกรมป่าไม้ ภายใต้ความร่วมมือด้านการพัฒนาแห่งประเทศเดนมาร์ก (DANIDA) ในโปรแกรมการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint Managerment of Protected Areas : JoMPA) หรือจอมป่า

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2552

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - วางยาต้นสักทอง ยืนตายเกลื่อนป่าแม่ยม
บอกข่าวเล่าความ - ไฟไหม้ป่าอุทยานแห่งชาติ ผลพวงจากโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - โลกร้อนทำป่าเสื่อมโทรม ต้นไม้อาจปล่อยคาร์บอนแทนการดูดซับ
บอกข่าวเล่าความ - เดินทางไกลไปปลูกป่า ปล่อยคาร์บอนมากกว่าต้นไม้สามารถดูดคืน
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ตอนนี้ข้อความทั้งหมดจากข้างบนเหมือนกับทีมงานวังผาเมฆมากเลยพวกผมเป็นทีมงานอาสาไม่ใช่ข้าราชการประจำไม่มีเงินเดือนตอนนี้ค่านำมันรถอะไรก็ไม่มีสักอย่างวังผาเมฆอยู่ในความดูแลของอบตวังมะปรางแต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นไม่มีงบอะไรสักอย่างขออะไรไปนายกอบตก็ทำเฉยเจ้าหน้าที่ทุกนายเป็นอ.สสำรองที่ไม่มีเงินเดือนเข้าเวรเฝ้าดูแลป่าทุกวันตอนนี้มีปันหาหนักกับพวกนายทุนที่หาประโยชน์ป่าผมก็ไม่แน่ใจว่าจะท้านพวกนายไว้ใด้นานเพียงใดเพราะที่นี่อำนาจมืดมันเยาะแต่ละวันต้องเสี่ยงกับการลาดตระเวรในป่าที่มีแต่พวกตัดไม้ทำลายป่าถางป่ารับจ้างจากนายทุนที่มีพรรคพวกมีสีดูแลอยู่เบี้ยงหลังหลังจากที่เทียมงานผมใด้จัดตั้งพิทักษ์ป่าขึ้นมามีชาวบ้านร่วมกันดูแลป่าผืนนี้คือป่าผืนสุดท้ายของตำบลวังมะปรางเพื่อให้เหลืออยู่หาทางท่านมีแนวทางช่วยเหลือให้คำแนะนำอย่างไรที่เป็นประโยชน์ต่อทีมงานผมโปรดแนะนำด้วยทางเมล์นี้nugnun@siamza.com

โดย:  เจ้าหน้าที่อาสาพิทักษ์ป่าวังผาเมฆ  [23 ก.ย. 2552 17:58]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ดีมากมายนะคับ

โดย:  อาสา 017  [5 พ.ย. 2552 11:34]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

1.โครงการที่คุณทำกันจัดการอย่างมีส่วนร่วมที่คุณอยากให้เป็น หรือร่วมโดยอิงสิทธิชุมชน ปัญหาป่าลดลงเกิดจากชาวบ้าน หรือไอ้พวกกินล้างผลาญในเมือง
2. วิถีชีวิตรที่เป็นอันตรายต่อป่าคือใครกันแน่ ชาวบ้านเขาอยู่กับป่ามาเป็นสองสามร้อยปี ป่าก็ยังอยู่ได้ ที่ผ่านมาบ้านคุณ บรรพบุรุษคุณ เคยมีป่าไหม แล้วถ้ามีทำไมรักษาไม่ได้เหมือนชาวบ้านเขาละ  แล้ววันนี้หากชาวบ้านจะตัดป่าที่พวกเราดูแล  แล้วถ้าต้นนำ้หมด ไอ้พวกที่บรรพบุรุษมันทำลายมากๆ ตายลง ก็คงเป็นการสมควรใช่ไหม

โดย:  หมาป่าตะวันตก  [7 ก.พ. 2553 18:39]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น