สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

นโยบายเศรษฐกิจสีเขียวในจีน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่: 26 ส.ค. 2552

            ถือเป็นความสำเร็จของ นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่สามารถเจรจาให้ นายเหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีนหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เข้าไปเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศ เนื่องจากจีนเป็นประเทศอันดับต้นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

            เช่นเดียวกับ นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่รู้สึกโล่งใจเมื่อได้ยินว่า จีนได้ทุ่มเงินลงทุนอย่างหนักในกลุ่มธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกกันว่าเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการดำเนินงานแต่ละครั้งทางการจีนจะพยายามกระตุ้นให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจพร้อมๆ ไปกับการปรับโครงสร้างพลังงาน และหาแนวทางสร้างเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้ประเทศฟื้นจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้น

            ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อเช่นกันว่าจีนจะดำเนินการปรับลดมลพิษจากคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยของจีดีพี ในช่วงแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 (ปี 2554-2558) พร้อมๆ กับการพิจารณาจัดสรรตำแหน่งให้กับราชการโดยดูจากการทำงานที่มีส่วนช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากน้อยอย่างไร ซึ่งหากทำได้สำเร็จ จีนก็จะก้าวเข้าสู่ยุคของการดำเนินนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงของอากาศ

            หนึ่งในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว คือ ก่อนหน้านี้สภาแห่งชาติจีนได้ผ่านร่างข้อกำหนดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายระบบนิเวศวิทยา ภายใต้ร่างข้อกำหนดนี้โครงการใหม่ที่ขออนุมัติต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนจะพิจารณาอนุมัติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำจีนใช้ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก ยกระดับโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง

            นอกจากนี้จีนยังแบ่งเงิน จำนวน 580,000 ล้านหยวน จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 4 ล้านล้านหยวน นำไปพัฒนาโครงการสีเขียว เช่น โครงการประหยัดพลังงาน และการควบคุมมลพิษ การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เป็นต้น

            จนวันนี้หลายประเทศยอมรับว่า จีนแซงหน้าชาติพัฒนาแล้วหลายชาติ ในด้านเทคโนโลยีพลังงาน เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในช่วงครึ่งปีแรก 2552 จีนได้พัฒนาพลังงานจากกังหันลมมากกว่าสหรัฐอเมริกา และยังล้ำหน้าในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์

            ขณะที่หลายๆ คนยังเชื่อด้วยว่า จีนกำลังสร้างแรงงาน green collar มากกว่าประเทศใดๆ ในโลกจากการปรับยุทธศาสตร์สีเขียว ด้วยการผลักดันให้เกิดการขยายตัวทั้งในด้านการผลิตอุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังเป็นผู้นำโลกในการผลิตรถไฟฟ้า โดยผู้ผลิตในจีนตั้งเป้าผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ปีละ 500,000 คันภายในปี 2011 และจีนยังตั้งเป้าที่จะลดการบริโภคพลังงานต่อจีดีพี ให้ได้ 20% ในช่วงปี 25496-2553 และกำลังปรับเป้าใหม่สำหรับช่วงปี 2554-2558

            ทั้งนี้ โทนี่ แบลร์ ยังพอใจที่ คณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนา สภาแห่งชาติ ออกมาเปิดเผย รายงานการปล่อยมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์ และพลังงานของจีนในปี 2593  โดยระบุว่าการปล่อยมลพิษของจีนจะพุ่งสูงสุดในปี 2573 ถ้ารัฐบาลจะยังคงจริงจังที่จะใช้มาตรฐานคุมเข้มเพื่อพัฒนาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นให้หันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ภายใต้นโยบายที่ถูกต้อง การขยายตัวของมลพิษในจีนจะชะลอลงหลังปี 2563 และพุ่งสูงสุดในปี 2573 และถ้าจีนยังเดินหน้าลงทุนในเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษต่ำ เศรษฐกิจจีนก็จะยังคงขยายตัวในอัตราสูงและสุดท้ายจะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำโลกในเทคโลโลยีล้ำหน้านี้ได้

            นักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในทีมจัดทำรายงานนี้ กล่าวย้ำว่า ภายในปี 2573 จีนจะกลายเป็นแหล่งซัพพลายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ลม และพลังน้ำ รวมไปถึงกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจีนจะเดินไป หากจีนบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ภายในปี 2593 การปล่อยมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำมันจะลดลงไปอยู่ระดับเดียวกับปี 2005 หรือต่ำกว่า โดยทางการจีนจะอัดฉีดเงิน 1 ล้านหยวน พัฒนาเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำในแต่ละปีไปจนถึงปี 2593

            ช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ทางการจีนยังสั่งให้ทุกจังหวัดและรัฐบาลท้องถิ่นทุกส่วนริเริ่ม พัฒนาแนวคิดด้าน ภาวะโลกร้อนไปไว้ในนโยบายพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนายเหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรียังเคยยืนยันไว้ว่า ได้ตั้งเป้าลดคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในโครงการพัฒนาแห่งชาติ เพราะเชื่อว่าหากดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเท่าไหร่ก็จะส่งผลต่อการขยายตัวของจีดีพีได้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย

            เลขาธิการยูเอ็นยังสรุปด้วยว่า จีนสามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนา เศรษฐกิจสีเขียว จนได้รับการยอมรับและยังชมเชยความพยายามของจีนในการลงทุนพัฒนาพลังงานทดแทนและลดการปล่อยมลพิษ ที่สำคัญเขาเชื่อว่าจีนจะกลายเป็นตัวอย่างในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว ให้ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกได้นำไปปฏิบัติได้อีกด้วย น่าจะกล่าวได้ว่า จากนี้ไปถือเป็นยุคของเศรษฐกิจสีเขียว ที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - จีนเอาจริงกับการแก้ปัญหามลภาวะภายในประเทศ
บอกข่าวเล่าความ - ทางการจีนสั่งปรับผู้บริหารบริษัท กรณีเป็นต้นเหตุก่อมลพิษ
บอกข่าวเล่าความ - รัฐบาลจีนออกกฎห้ามใช้ถุงพลาสติก
บอกข่าวเล่าความ - ทางการจีนจับเจ้าหน้าที่โรงงานเคมี ข้อหาสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ
บอกข่าวเล่าความ - จีนตั้งใจลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2593
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น