สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

กระทรวงการคลังเล็งรีดภาษีสินค้าก่อมลพิษ

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันที่: 22 มี.ค. 2553

            นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันที่ 30 มีนาคมนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ต่อครม. จากนั้นจะเร่งพิจารณา ร่างพ.ร.บ. เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม พ.ศ.... ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ส่งให้พิจารณา เพื่อเสนอให้ครม.พิจารณาต่อไป โดยมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นความสำคัญสำหรับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน

            นายลวรณ แสงสนิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย (สศค.) กล่าวว่า สศค. เสนอร่างพ.ร.บ. เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม พ.ศ.... ต่อนายกรณ์แล้ว ซึ่งหลักการสำคัญของร่างพ.ร.บ. นี้ จะใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งด้านภาษี ค่าธรรมเนียม การคืนภาษีหากทำดี เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิด ขึ้นในไทย ทั้งน้ำเสีย อากาศเสีย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาห กรรม กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกพ.ร.ก. หรือกฎหมายลูก เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ละประเภท

            กฎหมายสิ่งแวดล้อมนี้ไม่เหมือนกฎหมายการเงินหรือกฎหมายรายได้อื่น เพราะต้องใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่ไปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขึ้นกับว่าปัญหาเป็นเช่นไร จากนั้นจะแยกใช้เครื่องมือที่มีอยู่ไปดำเนินการ โดยกฎหมายนี้จะให้อำนาจฝ่ายบริหารพิจารณาอย่างเต็มที่ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมตัวใดต้องเร่งแก้ หรือเมื่อเกิดปัญหาใด ขึ้น สามารถออกเป็นกฎหมายลูกได้ทันต่อเหตุการณ์ เพราะเพียง 2 เดือน ก็สามารถบังคับใช้ได้ เพียงแค่ผ่านครม.ไม่ต้องผ่านสภา เช่นที่ผ่านมาปัญหามาบตาพุดหากมีกฎหมายแม่ไว้ก่อน เราออกกฎหมายลูกใช้ได้ทันที แต่ถึงตอนนี้ ยังไม่สามารถเอาผิดกับผู้ปล่อยน้ำเสียและสร้างมลพิษทางอากาศในบริเวณนั้น

            สำหรับบทบาทที่สำคัญของร่างกฎหมายนี้คือ การบังคับใช้เพื่อลงโทษผู้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำคัญมากในโลกปัจจุบัน ที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายทั่วโลกอย่างหนัก แต่กฎหมาย นี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ เพราะยิ่งรายได้มากแสดงว่าทำลายสิ่งแวดล้อมมาก

            ทั้งนี้โดยเฉลี่ยการจัดเก็บรายได้จากกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั่วโลกพบว่ามีสัดส่วน 1-2% ของรายได้ทั้งหมด หากเทียบกับไทยน่าจะอยู่ที่ปีละ 10,000 - 20,000 ล้านบาท ส่วนที่สศค. เสนอต่อนายกรณ์พิจารณานั้น ได้แสดงความคิดเห็นไปว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งจัดการคือการปล่อยมลพิษทางอากาศจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ฝุ่นละออง และปัญหาน้ำเสีย

            ทั้งสองส่วนนี้มีแรงต่อต้านน้อย จัดเก็บง่าย ขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ และมือถือ เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ต่อมาเป็นการปล่อยคาร์บอนจากรถยนต์ หากรถยนต์ปล่อยคาร์บอนมาก ต้องจ่ายภาษีมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดคาร์บอนเครดิต ที่สร้างแรงจูงใจให้โรงงานลดการผลิตคาร์บอน หากโรงงานใดลดคาร์บอนได้มาก ก็คิดเป็นเครดิตที่จะนำไปลดหย่อนภาษีได้ในภายหลัง

            นายกรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรมธนารักษ์จัดงานเปิดตัวโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯนานาชาติภูเก็ต เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและความโปร่งใส โดยเชิญผู้ออกแบบ องค์กรภาครัฐและเอกชน ภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวกว่า 150 แห่งมารับฟังข้อมูลวันที่ 29 มีนาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2553

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
Nitrogen dioxide
Sulfur dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - คนกรุงเทพฯ ก่อมลพิษแซงหน้ากรุงลอนดอน
บอกข่าวเล่าความ - โครงการอาคารเขียวของภาครัฐ ประสบความสำเร็จในการลดปัญหามลพิษ
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ก็น่าจะดีนะคะ
เผื่อโรงงานเขาจะลดใช้
แต่ก็อาจทำให้โรงงานขึ้นราคาสินค้าก็ได้

โดย:  แอม  [3 เม.ย. 2553 09:42]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น