สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

เจ้าพระยาปนเปื้อนสารเคมีอันตราย กรีนพีซจี้รัฐออกมาตรการปกป้องแหล่งน้ำโดยด่วน

ผู้เขียน: กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย
วันที่: 19 ก.ค. 2553

            กรีนพีซเปิดเผยรายงานล่าสุดพบสารพิษปริมาณสูงในคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา บ่งชี้ถึงมาตรการควบคุมและตรวจสอบของภาครัฐที่หละหลวม พร้อมเรียกร้องให้เร่งนำระบบเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษมาใช้ รวมถึงตั้งเป้าหมายมลพิษเหลือศูนย์ เพื่อลดการปล่อยสารเคมีในน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง

            รายงาน “การตรวจสอบสารเคมีอันตรายในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมและการปนเปื้อนของสารเคมีในคลองบริเวณใกล้เคียงซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ประเทศไทย พ.ศ. 2553” เป็นผลวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินที่เก็บโดยหน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งพบโลหะหนัก และสารเคมีอันตรายที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ปนเปื้อนอยู่ในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงในน้ำและตะกอนดินในคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา สารเคมีบางชนิดที่พบนั้นมีปริมาณสูงกว่ามาตรฐานน้ำผิวดินในประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบสารเคมีที่ยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในมาตรฐานของประเทศไทยอีกด้วย

            ตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงงานฟอกย้อมปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีอันตรายหลายชนิด อย่างเช่น พบสารโนนิลฟีนอล (Nonyl phenols) ซึ่งเป็นสารที่คงทนในสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในสิ่งมีชีวิต และสาร 2-เนฟทาลีนาทมีน หรือ 2-เนฟทิลเอมีน (2-Naphthalenamine หรือ 2 naphthylamine) ซึ่งเป็นสารที่ได้จากการสลายตัวของสีย้อมผ้าบางชนิด เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ในน้ำทิ้งที่ปล่อยจากโรงงานสามชัยพิมพ์ผ้า และพบสารไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (tri-iso-butyl phosphate; TiBP) ซึ่งเป็นสารพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในน้ำทิ้งจากโรงงานฟอกและย้อมผ้านำบุญ

            “ผลสำรวจที่ออกมาเป็นอีกหนึ่งของสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในมลพิษอุตสาหกรรม เมื่อสารพิษเหล่านี้ถูกปล่อยออกมาแล้ว เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบและที่สำคัญคือยากที่จะกำจัดสารเคมีเหล่านี้ให้หมดไปจากแหล่งน้ำ ซึ่งบางชนิดก็เป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

            “หลายประเทศได้มีการควบคุมการใช้และการปล่อยสารโนนิลฟีนอลและ 2-เนฟทาลีนาทมีน ซึ่งมีความเป็นพิษและยากที่จะกำจัดออกจากสิ่งแวดล้อม” นายพลายกล่าว “มลพิษจากอุตสาหกรรมฟอกย้อมเป็นเรื่องน่ากังวลไม่น้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ แม้โรงงานทั้งสองแห่งนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหมด แต่ก็เป็นตัวอย่างบ่งชี้ถึงปัญหาโดยรวมของน้ำทิ้งอุตสาหกรรมที่ล้วนปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองที่เชื่อมต่อ”

            ตัวอย่างน้ำที่เก็บจากคลองสำโรง พบสารโนนิลฟีนอลและไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (TiBP) รวมถึงโลหะหนักอย่างทองแดง ตะกั่ว แมงกานีส นิกเกิล และสังกะสี มีค่าเกินมาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินของไทยประมาณ 3-8 เท่า และตัวอย่างตะกอนดินพบปนเปื้อนโครเมียม ทองแดง นิกเกิล ตะกั่ว และสังกะสีในระดับสูง โดยสังกะสีมีค่าสูงกว่าค่าความเข้มข้นพื้นฐานมากถึง 30 เท่า

            ตัวอย่างน้ำที่เก็บจากคลองบางนางเกร็งพบปนเปื้อนสารโนนิลฟีนอลและไตร-ไอโซ-บิวทิลฟอสเฟต (TiBP) เช่นกัน และยังพบทองแดงและนิกเกิลสูงกว่าค่ามาตรฐานน้ำผิวดินของไทยถึง 2 เท่า นอกจากนี้ตัวอย่างตะกอนดินจากคลองบางนางเกร็งยังปนเปื้อนโครเมียม ทองแดง สังกะสี และนิกเกิลสูงที่สุดในตัวอย่างตะกอนดินทั้งหมดที่เก็บในการศึกษาครั้งนี้ โดยค่าสังกะสีและนิกเกิลมีค่าสูงกว่าค่าความเข้มข้นพื้นฐานปกติถึง 30 และ 80 เท่า ตามลำดับ

            “การศึกษาครั้งนี้ได้ชี้ชัดว่าเราต้องการการลงมือแก้ไขโดยด่วน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษไม่สามารถปกป้องแหล่งน้ำของเราจากการปนเปื้อนสารพิษได้ ทั้งนี้การปฏิบัตินโยบายด้านการจัดการสารเคมียังไม่ครอบคลุมและไม่สามารถควบคุมการใช้และปลดปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างเพียงพอ” นายพลายกล่าวเสริม

            กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือ - รวบรวมจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายที่ควรเลิกใช้ - จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อ ลด จำกัดการใช้ และเลิกใช้สารเคมีอันตรายในกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน โดยมุ่งสู่เป้าหมาย “มลพิษเหลือศูนย์”

            ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดคือการนำระบบการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษมาใช้ เช่น ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTRs) เป็นเครื่องมือทางนโยบายโดยใช้หลักการความโปร่งใสด้านการรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาการลดมลพิษ หลักการดังกล่าวได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้แล้วในประเทศต่างๆทั่วโลก (4)

            กรีนพีซศึกษาและเก็บตัวอย่างน้ำในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 โดยเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินจากคลองสำโรง บางนางเกร็ง และบางปลากด ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ และเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงงานสามชัยพิมพ์ผ้า และโรงงานฟอกและย้อมผ้านำบุญในคลองสำโรง

ที่มาของข้อมูล : กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
beta-Naphthylamine
Nonylphenol
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - กรีนพีซจุดประกายทุกภาคส่วนร่วมปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยา
บอกข่าวเล่าความ - กรีนพีซเสนอรัฐออกมาตรการปกป้องเจ้าพระยา เนื่องในวันลอยกระทง
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น