สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

ติดตามตามติด REACH ได้อย่างไร

ผู้เขียน: รดาวรรณ ศิลปโภชากุล
หน่วยงาน: สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ
วันที่: 27 ก.ค. 2552

คำสำคัญ  REACH Website สารเคมี

            ผลกระทบของกฎหมาย REACH ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การที่ต้องตอบคำถามของคู่ค้าว่าได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของกฎหมาย REACH แล้วหรือไม่ หรือต้องให้ข้อมูลแก่ลูกค้าเกี่ยวกับส่วนผสมของสารเคมีที่ใช้ทำเป็นสินค้า ซึ่งเป็นความลับทางการค้า โดยอ้างว่าต้องใช้ดำเนินการตามข้อกำหนดของกฎหมาย REACH หรือ ต้องรับรองว่าสินค้าของตนไม่มีส่วนผสมของสารอันตรายที่อยู่ในข่ายต้องขออนุญาตตามกฎหมาย REACH ทำให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องรู้สาระของกฎหมาย REACH เพระหากไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ อาจจะทำให้ขายสินค้าได้ยาก

            ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย REACH เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของ REACH ภายในสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการไทยต้องให้ตัวแทนที่อยู่ในสหภาพยุโรปเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากกฎหมาย REACH กำหนดไว้ว่า ผู้ดำเนินการต้องมีถิ่นที่อยู่ในสหภาพยุโรป ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องมีความรู้และเข้าใจกฎหมาย REACH อย่างถูกต้องลึกซึ้ง จึงจะสามารถติดตามการดำเนินการและรู้เท่าทันตัวแทนของตนได้ นอกจากนี้ยังต้องสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ REACH ได้ด้วย เพราะกฎหมาย REACH ยังคงมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขของข้อกำหนด รายการสารเคมีที่อยู่ในข่ายที่ต้องขออนุญาตผลิตหรือใช้ในสหภาพยุโรป การแก้ไขเพิ่มเติมปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อสารเคมี ที่ได้รับการยกเว้นการดำเนินการตามข้อกำหนดต่างๆ  การติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ REACH จะช่วยให้สามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดจากการใช้ข้อมูลผิดหรือล้าสมัยได้

            การติดตามตามติดเรื่อง REACH เพื่อดำเนินการอย่างรู้เท่าทัน และสามารถขายสินค้าของตนในสหภาพยุโรปได้ ผู้ประกอบการไทยสามารถค้นคว้าหาความรู้และติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ REACH ได้จากแหล่งเผยแพร่และเรียนรู้เรื่อง REACH ในระบบอินเตอร์เน็ตที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานและองค์กรต่างๆ  ทั้งภาครัฐและเอกชนของสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้ จัดทำขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่อง REACH ให้สมาชิกและผู้สนใจใช้ศึกษาเนื้อหาของกฎหมาย เพราะมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมมาก และกฎหมายมีสาระค่อนข้างซับซ้อนและเป็นเรื่องทางเทคนิค นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้ใช้แหล่งเผยแพร่ของตนเป็นที่ติดตามข่าวสาร การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไข  และเพิ่มเติมข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

หน่วยงานและสถาบันที่จัดทำแหล่งเผยแพร่และเรียนรู้เรื่อง REACH สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

            1. ศูนย์ช่วยเหลือ (Helpdesk) ขององค์กรกลาง (European Chemicals Agency, ECHA)   และ    หน่วยงานของรัฐสมาชิกที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับระบบ REACH ของสหภาพยุโรปและแต่ละประเทศ เช่น Health and Safety Executive ของอังกฤษ, Swedish Chemical Agency  ของสวีเดน

            2. หน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐ ที่มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกำกับดูแลสารเคมีของประเทศต่าง ๆ เช่น European Commission's Environment Directorate-General (DG),    Department  for  Environment Food and Rural Affairs (DEFRA)

            3. สถาบันองค์กรวิชาชีพ หรือ สมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในระดับชาติ และนานาชาติ  เช่น  European Chemical   Industry   (CEFIC),  Council Automotive Industry Action Group, The Federation of Malaysian Manufacturers (FMM) เป็นต้น

            4. บริษัทจำหน่ายสารเคมี   หรือ  บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และรับบริการดำเนินการเกี่ยวกับ REACH เช่น Shell Chemicals, B-Lands Consulting, Steptoe & Johnson LLP เป็นต้น

กลุ่มข้อมูลและสาระเกี่ยวกับ REACH ของแหล่งเผยแพร่จะคล้ายๆ กัน ได้แก่

            1. กฎหมาย REACH และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ฉบับสมบูรณ์

            2. สาระโดยย่อของกระบวนการข้อกำหนดและเงื่อนไข ที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนล่วงหน้า การจดทะเบียน การประเมิน การอนุญาต การจำกัดการใช้ การจำแนกและติดฉลาก เอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี   การประเมินโอกาสได้รับสารเคมีเนื่องจากการใช้ เป็นต้น

            3. คำนิยาม คำอธิบายศัพท์และคำย่อ ในกฎหมาย REACH

            4. ข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปรับปรุงเพิ่มเติมสาระและอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย REACH และกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ REACH

            5. คู่มืออ่านประกอบกฎหมายขององค์กรกลาง (ECHA) 

            6. คำตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกฎหมายและข้อกำหนดของ REACH

            7. เอกสารสิ่งพิมพ์ของหน่วยงานหรือสถาบัน  เช่น คำแนะนำสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะเอกสารประกอบการสัมมนาเกี่ยวกับ REACH และรายงานการศึกษาผลกระทบของ REACH เป็นต้น

            แหล่งเผยแพร่และเรียนรู้เรื่อง REACH เหล่านี้มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน หากเลือกใช้ค้นหาความรู้และข้อมูลที่ต้องการได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การติดตามข่าวการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมข้อกำหนดของกฎหมาย ในแหล่งเผยแพร่ของศูนย์ช่วยเหลือขององค์กรกลาง (European Chemical Agency, ECHA)   จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยกว่าการติดตามจากแหล่งเผยแพร่ของสถาบันหรือสมาคมวิชาชีพ เพราะเป็นหน่วยงานที่คณะมนตรีสหภาพยุโรปตั้งขึ้นเพื่อบริหารงานเกี่ยวกับกฎหมาย REACH ของสหภาพยุโรป และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการดำเนินการเกี่ยวกับ REACH ก็เป็นหน้าที่หนึ่งของ ECHA ด้วย  แต่แหล่งเผยแพร่ของสถาบันหรือสมาคมวิชาชีพ จะมีประเด็นที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนั้นๆ ควรให้ความสนใจ  ส่วนแหล่งเผยแพร่ของรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งจัดทำหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยจากสารเคมีของแต่ละประเทศ เช่น Health and Safety Executive ของอังกฤษ   นอกจากจะนำข้อมูลข่าวสารที่ ECHA ประกาศมาเผยแพร่ แล้ว ยังมีข้อมูลอื่นๆ หน่วยงานนั้นๆ ทำขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนของตน เช่น ข้อมูลสารเคมี ที่สามารถนำมาใช้ดำเนินการเกี่ยวกับข้อกำหนดของ REACH ได้

            หากต้องการข้อมูลแนะนำแนวทางปฏิบัติสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ ก็ควรศึกษาจากแหล่งเผยแพร่ของสมาคมอุตสาหกรรมนั้นๆ  เพราะสมาคมหรือสถาบันองค์กรเอกชน จะเผยแพร่คู่มือที่ทำขึ้นสำหรับสมาชิก   สาระจึงเน้นการให้คำแนะนำการปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น แหล่งเผยแพร่ของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ ACEA ของ European Automobile Manufacturers’ Association   แต่การเผยแพร่ข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือขององค์กรกลาง  และรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป   ถูกกำหนดกรอบให้อยู่แต่ในส่วนของสาระของกฎหมายและข้อกำหนดของ REACH เท่านั้น คู่มือการปฏิบัติของข้อกำหนดต่างๆ  ที่เผยแพร่  จึงเป็นคู่มือสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป เป็นต้น

            การเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและข้อกำหนดของ REACH ในแหล่งเผยแพร่ของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงองค์กรอิสระ แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ก็จะรูปแบบและวิธีการนำเสนอที่หลากหลาย เช่น Centre National de la Recherche Scientifique ของ Chemical Sciences Department of the French National Centre for Scientific Research (CNRS)    ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถนำเสนอสาระเนื้อหาของกฎหมาย REACH ที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้เหมือนอ่านจากหนังสือ ที่ผู้อ่านสามารถพลิกหน้าหนังสือไปยังเรื่องที่ต้องการและพลิกกลับมาเรื่องเดิมได้โดยง่าย

            การติดตามและตามติดเรื่อง REACH ได้นั้น ผู้ติดตามจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย REACH อยู่บ้าง ชุดข้อมูลความรู้ที่มีในแหล่งเผยแพร่ต่างๆ ที่จะช่วยปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ คือ เอกสารประกอบการสัมมนาเกี่ยวกับ REACH ที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ซึ่งมีภาพนำเสนอ (slide) ที่ผู้บรรยายได้สรุปสาระกฎหมายและประเด็นสำคัญของข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ไว้เป็นข้อๆ เพื่อใช้ประกอบการบรรยาย เช่น  ชุดข้อมูล Recent Presentations ในแหล่งเผยแพร่ความรู้เรื่อง REACH ของ Steptoe & Johnson LLP   ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ หากได้ศึกษาหาความรู้จากเอกสารเหล่านี้ก่อน นอกจากจะทราบสาระสรุปของข้อกำหนดที่หยิบยกมากล่าวถึงแล้วยังจะเห็นถึงเรื่องเกี่ยวเนื่องของข้อกำหนดนั้น และสามารถนำมากำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่อง REACH ได้เป็นอย่างดี เช่น การเข้าร่วมกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลจดทะเบียนร่วมกันต่างจากการเข้าร่วมกลุ่มผู้ผลิตหรือใช้สารเคมีเดียวกันอย่างไร และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง เป็นต้น

            จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการติดตามและตามติดเรื่อง REACH นี้ ไม่สามารถทำได้โดยใช้แหล่งเผยแพร่และเรียนรู้เพียงแห่งใดแห่งหนึ่งได้ แต่ต้องใช้หลายแหล่งและหลากหลาย และการทำความเข้าใจ จะต้องบูรณาการความรู้หลายด้าน จึงจะสามารถนำความรู้ที่ได้มาดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการดำเนินการเรื่อง REACH มีหลายมิติ เนื่องจากเงื่อนไขของข้อกำหนดเป็นเรื่องทางเทคนิค และข้อกำหนดที่ต้องดำเนินการเป็นเรื่องทางวิชาการ การตัดสินใจดำเนินการจำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านกฎหมายการค้าและการตลาด การศึกษาทำความเข้าใจโดยลำพัง เพื่อให้สามารถดำเนินการเรื่อง REACH ได้ จึงเป็นเรื่องยากและใช้เวลามาก การติดตามและตามติดเรื่อง REACH จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ศึกษาเรื่อง REACH ที่มีความรู้พื้นฐานด้านต่างๆ  เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจชัดเจนได้ทันกาล และดำเนินการได้อย่างเหมาะสมที่จะทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าในสหภาพยุโรปได้

            อนึ่ง ผู้ที่เริ่มต้นศึกษาหาความรู้เรื่อง REACH อาจเลือกใช้แหล่งเผยแพร่ REACH Coach   ที่สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภาษาไทยเรื่อง REACH เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานสำหรับการศึกษาทำความเข้าใจได้รวดเร็วขึ้น

สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กรมวิทยาศาสตร์บริการ
โทร. 0-2201-2795
E-mail
radawarn@dss.go.th
17 กรกฎาคม 2552

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - REACH ระเบียบว่าด้วยสารเคมีของสหภาพยุโรป
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - อุปสรรคของอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้ระเบียบ REACH ของสหภาพยุโรป
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - การสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า : วิกฤตและโอกาสของอุตสาหกรรมไทย
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - REACH  เรื่องของใคร ?
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - ตลาดสหภาพยุโรป - ความหวังของการส่งออกของไทยภายใต้ระเบียบ REACH
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

http://en.wikipedia.org/wiki/CAS_registry_number        CAS Registry Number        
http://www.cas.org/expertise/cascontent/registry/regsys.html        
http://en.wikipedia.org/wiki/EC_number_(chemistry)        EC Number  ( Chemistry )        
http://msds.chem.ox.ac.uk/eu_to_cas_converter.html        Cross-Referencing List of EU Numbers and CAS Numbers        



โดย:  นักเคมี  [1 ส.ค. 2552 08:06]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

http://www.chemtrack.org/ReachWatch/        หรือ         http://siweb.dss.go.th/reach/

http://www.chemtrack.org/ReachCoach/        หรือ         http://siweb.dss.go.th/reachcoach/

โดย:  นักเคมี  [1 ส.ค. 2552 08:28]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น