สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

คนไทย 4.4 ล้านคน เสี่ยงต่อผลกระทบจากมลพิษทางน้ำ

ผู้เขียน: กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย
วันที่: 30 เม.ย. 2552

            กรีนพีซเปิดเผยรายงานอันน่าวิตก เกี่ยวกับพื้นที่และแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในประเทศไทย ระบุประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำถึงร้อยละ 92.68 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นพื้นที่เสี่ยงในระดับสูงร้อยละ 6.87 ของพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด และอาจส่งผลกระทบต่อประชากรได้มากถึงประมาณ 4,440,049 คน หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขในทันที

            รายงาน พื้นที่และแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในประเทศไทย ที่ศึกษาโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บูรณาการการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมภาคสนาม เข้ากับเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่และแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำ ผลการศึกษาพบว่าจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงในระดับสูงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี และระยอง

            ปัญหาการขยายตัวของกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมก่อมลพิษทางน้ำ ที่ไม่ลดน้อยลงและเพิ่มขึ้นอย่างขาดการวางแผน การใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรกรรม และ ความหนาแน่นของประชากร ได้รับการศึกษาว่าเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงในระดับสูงส่วนใหญ่ คือ บริเวณที่มีความเป็นเมืองและอุตสาหกรรมสูง แม้จะเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างเล็ก แต่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุด เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

            การศึกษาได้แบ่งระดับความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำเป็น 4 ระดับคือ ความเสี่ยงสูง ปานกลาง ต่ำ และไม่มีความเสี่ยง ข้อมูลศึกษาตามรายภาคพบว่า ภาคตะวันออกมีสัดส่วนพื้นที่เสี่ยงในระดับสูงมากที่สุด คือ ร้อยละ 35.64 ของพื้นที่ทั้งหมด รองลงมาคือภาคกลาง คือ ร้อยละ 15.89 ของพื้นที่ทั้งหมด

            นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 99 ของหมู่บ้านในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้แหล่งน้ำ มีความเสี่ยงจากมลพิษทางน้ำเช่นเดียวกัน โดยร้อยละ 41.64 พบความเสี่ยงในระดับสูงมาก โดยหมู่บ้านเหล่านี้มีประชากรหนาแน่นโดยประมาณ 4,440,049 คน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงมาก
   
            ในรายงานการศึกษายังระบุว่า จังหวัดระยองมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำถึงร้อยละ 97.78 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด โดยหมู่บ้าน 302 แห่ง หรือร้อยละ 78.44 ของหมู่บ้านทั้งหมด ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงในระดับสูงต่อการเกิดปัญหามลพิษทางน้ำ ส่งผลกระทบต่อประชากรได้ถึง 454,551 คน ดังนั้นการประกาศบริเวณอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงควรเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน และโปร่งใสอย่างที่สุด

            นอกจากนี้ รายงานยังเปิดเผยว่า แม่น้ำที่มีความเสี่ยงในระดับสูงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำ พบ 7 สาย ในภาคกลาง 8 สาย ใน ภาคตะวันออก 14 สาย และแหล่งน้ำนิ่ง 2 แหล่งในภาคเหนือ 14 สายและแหล่งน้ำนิ่ง 5 แหล่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจำนวนดังกล่าวนี้ มีแหล่งน้ำหลายแห่งที่ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าพบปัญหาด้านคุณภาพแหล่งน้ำ แต่มีความเสี่ยงในระดับสูงที่อาจเกิดปัญหามลพิษทางน้ำได้ในอนาคต

            แหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษในรายงาน ล้วนเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญมากต่อประชาชนไทย ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประเทศ กรีนพีซจึงเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจังเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามต่อแหล่งน้ำของประเทศที่กำลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปริมาณน้ำจืดต่อหัวของคนไทยมีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจังที่สุด เพื่อปกป้องแหล่งน้ำของเราที่มีอยู่อย่างจำกัดให้รอดพ้นจากมลพิษ นายพลาย ภิรมย์ กล่าวปิดท้าย

ที่มาของข้อมูล : กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย www.greenpeace.org

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - กรมควบคุมมลพิษเตือนคนกาญจน์งดดื่มน้ำบาดาล
บอกข่าวเล่าความ - กรมควบคุมมลพิษเผยแม่น้ำหลายสายวิกฤติ
บอกข่าวเล่าความ - แม่น้ำชีวิกฤต เหตุโรงงานแอบปล่อยน้ำเสีย
บอกข่าวเล่าความ - สารไนเตรทรุกแหล่งน้ำ ผลพวงเกษตรกรโหมใส่ปุ๋ย
บอกข่าวเล่าความ - พบสารเคมีปนเปื้อนน้ำบาดาลในพื้นที่ภาคกลาง
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

สาระดีมาก

โดย:  202KPK  [14 ก.ค. 2552 17:13]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น