สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

บทเรียนหลังจากระเบียบ REACH มีผลบังคับใช้

ผู้เขียน: สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์
วันที่: 19 มิ.ย. 2552

            ตามที่ระเบียบควบคุมเคมีภัณฑ์ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรปหรือ REACH มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 นั้น  สำนักงานฯ ขอรายงานท่าที Business Europe ในฐานะกระบอกเสียงตัวแทนภาคธุรกิจยุโรป เกี่ยวกับการประเมินผลการปฎิบัติตามระเบียบ REACH ซึ่งมีผลบังคับใช้ในสหภาพยุโรปมาแล้วสองปี เพื่อให้หน่วยงานทางการที่ควบคุมการปฎิบัติตามระเบียบดังกล่าวทั้งในระดับชาติและระดับ EU ทราบเป็นบทเรียนถึงประสบการณ์ ความสำเร็จ และความลำบากยุ่งยากของภาคอุตสาหกรรมยุโรป สรุปได้ดังนี้  

            1. ภาระทางการเงินของบริษัทควรจะลดลง โดยยอมให้มีการผ่อนชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนเป็นงวดๆ สำหรับบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินก่อน และต้องการให้ลดค่าธรรมเนียมลงอีกในระยะยาว  ซึ่งประสบการณ์ในช่วงการจดทะเบียนสารเคมีล่วงหน้า (pre-registration) พบว่า จำนวน pre-registrations มากกว่าที่ประมาณการไว้ถึง 15 เท่า และคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ทำนองเดียวกันในช่วงการจดทะเบียน (registration phase) 

            2. จำเป็นต้องมีหลักประกันของกฎหมายควบคุมเคมีภัณฑ์ในยุโรปที่สอดคล้องกัน โดยกฎระเบียบต่างๆ ที่มีส่วนทับซ้อนคาบเกี่ยวกับ REACH (เช่น RoHS Ecolabel และ Cosmetic Directive) ต้องใช้เกณฑ์เป็นเอกภาพเดียวกันในประเทศสมาชิก EU หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนและการใช้กฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกันอันจะนำไปสู่ความยุ่งเหยิงในระบบ supply chain ที่ซับซ้อน
คุณภาพของคู่มือ (guidance) เกี่ยวกับพันธะข้อผูกพันของภาคอุตสาหกรรมควรได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนทางกฎหมาย โดยให้มีการเข้าร่วมของผู้แทนภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มแข็งและในช่วงเวลาที่เหมาะสมในกลุ่ม Partners Experts Groups และมีการแปลเอกสาร Technical Guidance Documents ในภาษาของสมาชิก EU ทุกประเทศ

            3. ดำเนินการให้แน่ใจว่ามีการปรับประสานกฎระเบียบ REACH ในประเทศสมาชิกต่างๆ ของ EU โดยเฉพาะกิจกรรมการบังคับใช้ และควรให้ความสนใจต่อประสบการณ์ในทางปฏิบัติของภาคอุตสาหกรรม  ขณะนี้บางประเทศสมาชิก EU ประสบปัญหาในการยกเลิกกฎระเบียบที่มีอยู่ในระดับชาติ  นอกจากนั้น การตีความ บทลงโทษ และการบังคับใช้ระเบียบ REACH ยังแตกต่างกันระหว่างประเทศสมาชิก นำไปสู่ความซ้ำซ้อน ด้านภาระกฎหมาย  การบริหารงานเอกสาร และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อภาคเอกชน จึงมีข้อเสนอแนะให้จัดตั้ง Forum เครือข่ายหน่วยงาน competent authorities ของประเทศสมาชิกต่างๆ  บังคับใช้ข้อกำหนดเพดาน 0.1% กรณีสารเคมีในตัวสินค้าอย่างเคร่งครัด  ปรับประสานการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ end-of waste criteria  และทบทวนข้อกำหนดตามมาตรา 67.3 ของระเบียบ REACH เรื่องการวางตลาดและการใช้ประโยชน์สารอันตรายเพื่อยกเลิกข้อจำกัดที่เข้มงวดมากไป

            4. ภาคเอกชนชื่นชมการดำเนินการอย่างโปร่งใสของ ECHA และคณะกรรมาธิการยุโรปที่พยายามดึงภาค อุตสาหกรรมเข้าร่วม และเห็นว่าควรปรับปรุงเครือข่าย REACH Helpdesk ในการเข้าร่วมของภาคอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของขั้นตอนต่างๆ ในระเบียบ REACH    

            5. ควรมีการพิจารณาศึกษาผลกระทบของกฎระเบียบ REACH ต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างระมัดระวัง และให้ความชัดเจนเกี่ยวกับภาระข้อผูกพันของบริษัทนอก EU รวมทั้งความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ใน WTO เพื่อให้มีความเสมอภาคในการแข่งขันทางการค้า (เช่น ขั้นตอนการจดทะเบียนสารเคมีที่ยังขาดความชัดเจน และการแต่งตั้ง OR ทำหน้าที่ติดต่อกับ ECHA ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้า)  ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้มีผลกระทบทางลบน้อยที่สุดต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยุโรปทั้งในตลาด EU และในตลาดระหว่างประเทศซึ่งจะต้องแข่งขันกับบริษัทคู่แข่งที่ไม่ต้องมีภาระด้านกฎระเบียบแบบเดียวกัน

            6. ระบบออนไลน์ในการยื่นข้อมูลจดทะเบียนสารเคมีและข้อมูลอื่นๆ ต้องทำได้อย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพเอื้ออำนวยต่อความร่วมมือระหว่างบริษัทในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามแผนงาน Substance Information Exchange forum หรือ SIEF และควรพิจารณาระบบที่รับข้อมูลได้ในทุกภาษาของประเทศสมาชิก EU เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อ SMEs

            ข้อสังเกต : ประสบการณ์และข้อคิดเห็นภาคเอกชน EU ข้างต้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ในการปรับตัวรองรับการบังคับใช้และปฏิบัติตามระเบียบ REACH ซึ่งจะมีความยุ่งยากซับซ้อนในเรื่องขั้นตอนการจดทะเบียนสารเคมี และอื่นๆ ต่อไป

ที่มาของข้อมูล : เว็บไซต์ไทยยุโรปดอตเน็ต www.thaieurope.net

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ECHA เพิ่มช่องทางเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบ REACH
บอกข่าวเล่าความ - สรุปรายงานการประชุม REACH Competent Authorities
บอกข่าวเล่าความ - ECHA เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนเรื่อง REACH
บอกข่าวเล่าความ - ปัญหาจากการปฏิบัติตามระเบียบ REACH
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น