สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

เรื่องยุ่งๆ ของป่า กับประโยชน์หลากหลายมิติ

ผู้เขียน: นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา
วันที่: 30 ก.ค. 2552

            ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่หลายกลุ่มต่างอ้างอภิสิทธิ์การใช้ประโยชน์ แต่จริงๆ แล้ว ป่าไม้มีชีวิตจิตใจของตนเอง ไม่มีใครเข้ามาเป็นเจ้าเข้าเจ้าของได้ อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ป่าไม้มีประโยชน์หลากหลายที่จับต้องได้ เช่น ให้ไม้เป็นวัตถุดิบสร้างบ้านและผลิตภัณฑ์ได้สารพัดชนิด แต่ป่าไม้ยังมีคุณค่าที่จับต้องไม่ได้อื่นๆ อีกมาก มักมีคนมองข้ามและคนบางจำพวกก็ไม่สามารถ เข้าใจได้ เช่น คุณค่าในการรักษาสภาพดิน ฟ้า อากาศ ระบบนิเวศและความหลาก หลายทางชีวภาพ แหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต ยิ่งกว่านั้น สำหรับชาวบ้านท้องถิ่น ป่าก็ยังเป็นที่สิงสถิตของเจ้าป่าเจ้าเขา ฤาษีชีไพร และสิ่งลี้ลับต่างๆ อีกมากมาย

            ประโยชน์ที่มากมายของป่านี้ ในแง่ของนักลงทุนคือ การแปรผันเป็นวัตถุที่ทำรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ ในป่าไม้ยังมีทรัพย์สินใต้ดินซ่อนอยู่อีกมหาศาล เช่น แหล่งแร่ แหล่งพลอย ในแง่ของสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ แม้จะมีความสำคัญยิ่งยวด ต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะตระหนัก เพราะเป็นสิ่งที่จับต้อง คิดเป็นตัวเงินออกมาไม่ได้

            ป่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ลุ่มลึก เข้าใจ ยาก ครอบคลุมไปหลายมิติ ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงขนบ ธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ ในการจัดการป่าจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันอย่างรอบคอบ

อะไร? คือต้นเหตุที่แท้จริงของการตัดไม้ทำลายป่า

            การตัดไม้ทำลายป่า มิได้เป็นปัญหา แต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วไปหมดทุกหนแห่งบนพื้นผิวโลก อัตราที่เกิดขึ้นในเมืองไทยและในเอเชียนั้นรวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ อะไรเล่า เป็นสาเหตุหลัก ของป่าไม้ที่สูญไป

            ที่ใช้คำว่าป่าไม้ที่สูญไป เพราะระบบนิเวศป่าไม้เขตร้อนชื้นซับซ้อน ยากที่จะฟื้นฟูให้เหมือนเดิมได้เมื่อถูกทำลาย หลายๆ กรณีของการตัดไม้เกิดจากการพัฒนาที่เข้าใจว่า ได้ประโยชน์มากกว่าสูญเสีย เช่น การตัดถนน การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า การขยายพื้นที่เกษตรกรรม ถ้าจะว่าไป ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เราจำเป็นต้องแลกทรัพย์สินกับการพัฒนา และยังเป็นความจำเป็นต่อการเลี้ยงดูประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้นแบบทวีคูณ รวมทั้งการเติบโต ทางเศรษฐกิจในยุคนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือความสูญเสียซึ่งมองไม่เห็นเพราะตีราคา ออกมาไม่ได้

            ผลที่เกิดขึ้นจากการตัดถนนเข้าไปในผืนป่า ทำให้คนภายนอกเข้าถึงป่าได้ง่ายขึ้น มีการลงทุนทำเหมืองแร่และเกษตรกรรม ซึ่งผลผลิตขนส่งได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสให้เกิดการลักลอบตัดไม้ได้ง่ายขึ้นด้วย รูปแบบกิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะเกิดขึ้นในเมืองไทยแล้วยังเกิดขึ้นในทำนองเดียวกันในผืนป่าอเมซอนของประเทศบราซิลและที่อื่นๆ ด้วย ทำให้ส่วนหนึ่งของป่าอเมซอน ที่ลึกลับค่อยๆ กลายเป็นไร่ปลูกถั่วเหลืองในเวลาไม่กี่สิบปี ผลผลิตถั่วเหลืองเป็นสินค้า ส่งออกจากบราซิลไปทั่วโลก เห็นได้ชัดว่า ถนนหนทางที่สร้างความเจริญทำให้ป่าอยู่ใกล้เมืองมากขึ้น และถ้าคนไม่มีจิตสำนึกก็สามารถรุกรานป่าไม้และสัตว์ป่าได้ง่าย ถนนหลายเส้นทางอาจจะไม่มีความจำเป็นนักในแง่ของการพัฒนา แต่ถูกผลักดันให้สร้างขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือผลประโยชน์ของนักการเมือง

            ป่าไม้ถูกทำลายไปทุกๆ ขณะ โดยเฉลี่ยประมาณเท่ากับพื้นที่สนามฟุตบอลในทุกๆ 1 วินาที ประมาณว่าในอัตราการทำลายทุกวันนี้จะทำให้ป่าอเมซอนสูญหายไปได้ภายในระยะเวลา 150 ปี นโยบายของ ประเทศบราซิลในการจูงใจให้ประชากร อพยพออกจากเมืองที่หนาแน่น ไปทำมาหากินในเขตป่าโดยให้สิทธิ์ทำกิน และการตั้งเป้าหมายที่จะเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตผลเกษตรกรรมให้ได้มากที่สุด เป็นการเร่งรัดให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรวดเร็ว

            การสูญเสียป่าในภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นก่อนหน้าเมืองไทยประมาณร้อยกว่าปี (ระหว่าง ค.ศ.1850-1910) ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังก่อร่างสร้างประเทศของสหรัฐฯ คนอพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐานจาก ทั่วทุกสารทิศ มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก การตัดถนน การสร้างบ้านแปลงเมือง ในยุคนั้นทุกอย่างผลิตขึ้นโดยใช้ไม้เป็นวัตถุดิบไม้เป็นทั้งบ้าน เป็นเชื้อเพลิง ทั้งให้ความอบอุ่น แต่ด้วยนโยบายควบคุมป่าและการใช้ที่ดินที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการพัฒนา เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการเปิดตัวสู่ต่างประเทศ ทำให้อเมริกามีการทำลายป่าลดลง ป่าฟื้นฟูขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 เนื่องด้วยผลผลิตอาหารส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศอื่น ประกอบ กับป่าในเขตอบอุ่นมีความหลากหลายน้อยกว่า มีระบบนิเวศซับซ้อนน้อยกว่าป่าเขตร้อน ทำให้ฟื้นฟูได้ง่ายกว่า

แนวโน้มในปัจจุบัน

            ความพยายามของนานาประเทศในการลดภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามประชากรทั่วโลก ปัจจุบันได้ก่อให้เกิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และ Kyoto Protocol ขึ้นมา ในการเจรจาลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเรียกร้องให้ลดการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนา เพราะป่าไม้โดยเฉพาะในเขตร้อนที่เติบโตเร็ว เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (อันเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ) ว่ากันว่าป่าไม้เขตร้อนสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 20% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก ข้อเสนอนี้เรียกว่า REDD (Reducing Emission from Deforestation in Developing Countries) ข้อเสนอนี้กำลังเป็น hot issue ของเวทีเจรจาโลกที่จะมีการลงมติกันให้ได้ในปลาย ปีนี้ จะมีการเจรจานอกรอบกันในกรุงเทพฯ ราวเดือนตุลาคมนี้

            ประเด็นนี้มีความสำคัญต่อประเทศของเรามาก อาจจะชักนำเราไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในวิธีการดำเนินงาน และการซื้อขายคาร์บอนที่ลดได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เนื่องจากป่าไม้เกี่ยวเนื่องกับสังคม วิถีชีวิตของชาวบ้าน และขนบธรรมเนียมประเพณีในสังคมไทย จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก ในขณะที่นโยบายที่เป็นอยู่ในเวลานี้ก็ยังคลุมเครืออยู่ กฎหมายก็ไม่ชัดเจน การจำแนกประเภทของป่า (ป่าสงวน ป่าเสื่อมโทรม ป่าชุมชน) ก็ยังขัดแย้งกันอยู่ และกำลังรอ พ.ร.บ. ป่าชุมชนให้คลอดออกมา ก็ออกมาไม่ได้สักทีด้วยเหตุผลหลายอย่าง???

ผลกระทบจากการทำลายป่า

            อย่างที่เรารู้ๆ กัน (ยืนยันได้จากภาพถ่ายดาวเทียม) ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าธรรมชาติอยู่เพียง 10% หากมีการทำลาย ป่าต่อไป ไทยก็อาจจะกลายสภาพเป็นทะเล ทรายไปได้ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า คำพูดนี้มิได้เกินจริง แต่มีรายงานทางวิชาการว่า อัตราการระเหยของน้ำในดิน ต่ออัตราปริมาณฝนต่อปีที่ได้รับ ร่วมกับอัตราการชะล้างพังทลายของดิน อยู่ในข่ายที่น่าวิตก สามารถจะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของดินถึงขั้นกลายเป็นทะเลทรายได้ แต่ดูเหมือน ว่านักการเมือง ผู้บริหารบ้านเมือง และประชาชนคนทำงานในออฟฟิศ ยังไม่ตระหนักในภัยคุกคามนี้กันเท่าที่ควร กรมพัฒนาที่ดินได้พยายามเผยแพร่ข้อมูลอันนี้ไปสู่เกษตรกร เพื่อสร้างความรู้ความตระหนัก ให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเพาะปลูก วิถีการเกษตรพอเพียงตามแนวพระราชดำริช่วยได้เป็นอย่างมาก

            ในภาวะโลกร้อน ผลกระทบที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่งคือ ไฟป่า ไฟป่าเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่ออากาศร้อนขึ้น น้ำระเหยออกไปได้ง่าย โดยเฉพาะในบริเวณป่าที่ถูกแผ้วถางทำลาย จนดินไม่สามารถเก็บความชื้นไว้ได้ ไฟป่า นอกจากจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากออกมาแล้ว ยังทำให้สูญเสียความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปด้วยเป็นผลสองต่อ

หยุดยั้งการทำลายปาได้อย่างไร

            นักวิชาการพูดกันทั่วไปว่า วิธีการที่จะหยุดยั้งการทำลายป่า คือ การจัดการป่าที่ยั่งยืน (sustainable forestry management) แต่อะไรคือวิธีการจัดการป่าที่ยั่งยืน น้อยคนนักที่จะให้คำตอบได้ ถึงแม้จะมีคำตอบ การยอมรับก็ยังขึ้นอยู่กับมุมมองที่หลากหลาย ถ้าถามอธิบดีกรมป่าไม้ในอดีต ก็คงจะบอกว่า วิธีการเดียวคือ การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด ห้ามมิให้มีการบุกรุก เข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆ เมื่อไปถาม NGOs ก็จะพูดว่า ชาวบ้านท้องถิ่นควรจะมีสิทธิ์ได้พึ่งพิงอาศัยป่าได้ เมื่อถามนักลงทุนก็อาจจะเสนอแนะให้ใช้พื้นที่ป่าทำรีสอร์ตบนเขา หรือใช้ที่ป่าเสื่อมโทรมปลูกสวนปาล์ม เพื่อทำไบโอดีเซล เมื่อถามผู้บริหารของการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตฯ ก็อาจจะบอกว่า พื้นที่ป่าหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่านบริเวณนี้เหมาะอย่างยิ่งกับการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ส่วนชาวบ้านเจ้าของถิ่นก็ขอที่ดินทำกินขยายพื้นที่เพาะปลูก เพื่อแก้ความยากจน เป็นต้น ด้วยเหตุ ทั้งหมดทั้งปวงนี้จะให้รัฐบาลวางแนวทางอย่างไรจึงจะเรียกว่า ยั่งยืน คำถามที่ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องนี้เป็นช่องว่างที่มีอยู่ในนโยบายของทุกรัฐบาลเสมอมา เป็นคำถามที่รอให้นักวิชาการมาตอบให้เต็มช่องว่างและ ปฏิบัติให้ลงตัว หวังว่าเราคงจะมีโอกาสที่จะได้นโยบายที่ลงตัวในยุคของการเมืองใหม่ เพราะรัฐบาลปัจจุบันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เป็นรูปธรรม แม้ว่าจะมีจริยธรรมอยู่เบื้องหน้า แต่เบื้องหลังก็ยังมีอะไรซ่อนอยู่ ในช่วงนี้ก็ลองมาดูกรณีตัวอย่าง หรือ success stories กันไปพลางๆ ก่อน

            โครงการจอมป่า ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับองค์กร IUCN มีวัตถุ ประสงค์เพื่อการจัดการพื้นที่ป่าอย่างมีส่วนร่วม ณ บ้านห้วยหินดำ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ชุมชนอยู่ชายขอบ นอกเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย ซึ่งมีสถานภาพ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่มีพื้นที่ทำกินบางส่วนอยู่ในเขตอุทยานฯ ชุมชนเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มาตั้งถิ่นฐานเมื่อสองร้อยปี ก่อน ในอดีตชุมชนกับเจ้าหน้าที่มักมีปัญหา ต่อกัน ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นนัก เกิดการจับกุมชาวบ้านและนำไปสู่ความขัดแย้ง ภายหลังเมื่อมีโครงการจอมป่าเข้ามาสนับสนุน สถานการณ์ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ โครงการฯ จัดการให้มีการสำรวจแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน กำหนดให้ชัดเจนและยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย มีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ใช้ประโยชน์ โดยคณะ กรรมการชุมชนที่เข้มแข็ง บริหารจัดการภายใต้กติกาที่กำหนดขึ้นร่วมกัน ชุมชนยังได้รับการหนุนเสริมกิจกรรมพึ่งตนเอง เช่น การเลี้ยงปลา ทำน้ำยาซักล้าง และการเพาะ ปลูกแบบผสมผสานเป็นสวนเกษตรธรรมชาติ แทนที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปัจจุบันชาวบ้าน มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และเลิกการบุกรุกป่าถางที่ทำกิน มีการนำต้นไม้ที่เป็นสมุนไพรในป่ามาเพาะพันธุ์ในไร่ของชุมชนด้วย เป็นการลด การใช้ประโยชน์จากผืนป่าธรรมชาติลงได้

            ความเห็นของลุงไกว ชาวไร่คนหนึ่งกล่าวว่า ไม่ใช่ว่าชาวบ้านรุกป่าอย่างเดียวนะ โลกภายนอกก็รุกเราเหมือนกัน ในเมืองต้องการบริโภคมากขึ้น ก็มาสนับสนุนเร่งรัดการปลูกให้เราใช้สารเคมี จนสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมไปเรื่อยๆ และยังเป็นหนี้เป็นสิน 

ที่มาของข้อมูล : นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ประจำเดือนกรกฎาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ไฟไหม้ป่าอุทยานแห่งชาติ ผลพวงจากโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - โลกร้อนทำป่าเสื่อมโทรม ต้นไม้อาจปล่อยคาร์บอนแทนการดูดซับ
บอกข่าวเล่าความ - เดินทางไกลไปปลูกป่า ปล่อยคาร์บอนมากกว่าต้นไม้สามารถดูดคืน
บอกข่าวเล่าความ - โครงการจอมป่า ความสำเร็จบทแรกมูลนิธิสืบฯ
บอกข่าวเล่าความ - ธนาคารฟืน ลดโลกร้อน
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น