สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

มาร่วมกันอนุรักษ์แมลงกันเถอะ

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
วันที่: 30 ม.ค. 2553

            สิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือนว่าจะมีจำนวนประชากรมากมายที่สุดบนโลกใบนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นเหล่าเพื่อน 6 ขา ที่นอกจากมันจะมีจำนวนมากมายแล้วนั้น แมลงเหล่านี้ยังมีอายุยืนยาวตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์มาจนถึงยุคปัจจุบัน และคาดว่าในอนาคตแมลงเหล่านี้ก็ยังคงอยู่บนโลกของเรา ช่วยในการแต่งแต้มสร้างสีสันให้กับธรรมชาติให้งดงามต่อไป

            นอกจากเรื่องราวการใช้ชีวิตอันแสนน่าทึ่งของแมลงแล้วนั้น รู้หรือเปล่าว่าเพื่อน 6 ขา ของเราต้องทำการปรับตัวอย่างมากมายต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ทั้งแหล่งอาหารที่ดูเหมือนกับว่าจะหายากยิ่งขึ้นทุกวัน ถิ่นที่อยู่อาศัยก็ถูกทำลาย อีกทั้งสารเคมีกำจัดแมลงมากมายที่ฉีดพ่น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการอยู่รอดของแมลง และไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้แมลงสวยงามอีกหลายชนิดที่เราเคยพบเห็นอาจหลงเหลือไว้เพียงแค่ชื่อและรูปถ่ายก็เป็นไปได้ ลองมาทำความรู้จักกับแมลงบางชนิดที่พบเจอได้ยากเย็นเสียเหลือเกิน อย่างเช่น แมลงทับ เจ้าแมลงแสนสวยที่ชื่นชอบต้นมะขามเทศเป็นพิเศษ หรือจะเป็นแมลงที่สร้างความโดดเด่นให้กับตัวของมันเองอย่างเช่น หิ่งห้อย ที่นับวันจะหาตัวได้ยากยิ่งเสียเหลือเกิน

            หลายคนอาจเคยเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมโลกของเราจึงไม่มีแค่เพียงแมลงที่สวยงามเท่านั้น ทำไมต้องสร้างแมลงที่มีรูปร่างหน้าตาสุดแสนน่าเกลียด หรือวายร้ายจอมทำลายพืชผลให้มีชีวิตอยู่มายืนยาวจนถึงปัจจุบันด้วย คำตอบของปัญหาเหล่านี้ไม่ยากเลย แค่เพียงเราเปิดใจแล้วลองสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว ก็จะพบว่าระบบนิเวศน์ที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ขึ้นนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว แมลงแต่ละชนิดล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อเพื่อนแมลงด้วยกันทั้งนั้น

            ลองคิดดูว่า ถ้าหากไม่มีแมลงตัวน้อยๆ ที่แสนวุ่นวายอย่างมดงานที่คอยเก็บกวาดทุกสิ่งไปเป็นอาหารของมัน หรือหากโลกของเราขาดผึ้งงานที่คอยผสมเกสร เก็บน้ำหวาน เราก็คงไม่ได้เห็นดอกไม้แสนสวยบานสะพรั่งอยู่ในสวนดอกไม้อย่างแน่นอน นอกจากแมลงกลุ่มนี้แล้ว ลองมาดูกันอีกทีว่า ถ้าหากไม่มีบรรดาแมลงตัวเล็กจิ๋วที่คอยดูดน้ำเลี้ยงต้นไม้ของเรา อย่างเช่น บรรดาเพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ที่เป็นอาหารสุดโปรดปรานของด้วงเต่าแล้วละก็ แย่แน่เลย! ด้วงผู้หิวโหยของเราคงไม่อิ่มท้อง หรือจะเป็นเจ้าอ้วนจอมหม่ำอย่างเช่น หนอนด้วง หนอนผีเสื้อ ที่คอยกัดกินใบไม้ พืชพรรณของเราในระยะเวลาอันแสนรวดเร็ว จนในที่สุดแทบไม่เหลือแม้กระทั่งกิ่งก้าน แต่ท้ายที่สุดเจ้าหนอนเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นผีเสื้อกลางวันแสนสวย หรือผีเสื้อกลางคืนขนปุกปุยตัวใหญ่เบ้อเริ่มให้เราได้เห็นกัน ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ ถ้าหากไม่มีหนอนอ้วนเหล่านี้เป็นเหยื่ออันโอชะแล้วละก็ มวนจอมโหดร้ายอย่าง มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต หรือจะเป็นแมลงนักล่าอย่างตั๊กแตนจะกินอะไรเป็นอาหาร และจะอยู่ได้อย่างไรกันเล่าถ้าหากแหล่งอาหารมีอยู่อย่างไม่เพียงพอ

            ยังมีแมลงนักล่าเหยื่อ และแมลงผู้โชคร้ายที่ตกเป็นเหยื่ออีกหลายต่อหลายชนิดที่เราอาจยังนึกไม่ถึง แต่รู้หรือไม่ล่ะว่าหากธรรมชาติของเราถูกทำลายไป นั่นก็ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อระบบนิเวศน์และการอยู่รอดของแมลง เรื่องราวเหล่านี้ดูเหมือนกับว่าในปัจจุบันจะเป็นเรื่องราวที่ไม่ไกลเกินตัวของเราอีกต่อไปนั่นก็คือ ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชที่นับวันจะทวีความรุนแรงจนสารเคมีกำจัดแมลงแทบจะไม่เกิดประสิทธิผลอีกต่อไป และผลที่ตามมาก็คือ ความสมดุลของระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลายลงไป ประชากรแมลงน้อยใหญ่ก็ลดลง อาจหลงเหลือเอาไว้แต่แมลงบางชนิดที่คอยแต่จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตโดยปราศจากการควบคุมของแมลงด้วยกันเอง

            เรื่องราวเหล่านี้แม้จะดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ลองมาดูกันว่า หากในอีก 10 ปีข้างหน้า มนุษย์เรายังคงไม่ช่วยกันอนุรักษ์ดูแลธรรมชาติแล้วนั้น สิ่งมีชีวิตอย่างเพื่อนแมลงคงมีจำนวนประชากรลดน้อยลงทุกที และที่สำคัญที่สุดแมลงที่เดิมเคยพบเห็นกันได้อย่างแสนง่ายดาย อาจหลงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำและภาพถ่าย ว่าสีสันและเสน่ห์ของมันช่างสวยงามเพียงใด ตอนนี้ยังคงไม่สายเกินไปถ้าหากเราจะหันมามองธรรมชาติ และช่วยกันอนุรักษ์ รักษาถิ่นที่อยู่ แหล่งอาหารของแมลงเหล่านั้นเพื่อให้เพื่อน 6 ขา ของเราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขไปอีกนานเท่านาน

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ประจำวันที่ 30 มกราคม 2553

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ชะตากรรมนกเงือก ผู้สร้างภูมิคุ้มกันให้ป่า
บอกข่าวเล่าความ - หมีโคอาลาอาจสูญพันธุ์ใน 30 ปี
บอกข่าวเล่าความ - พืชและสัตว์แห่กันสูญพันธุ์
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

If you're reading this, you're all set, parnedr!

โดย:  Coralyn  [16 ม.ค. 2555 19:41]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น