สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

เชือดผลิตภัณฑ์ Coxium อวดสรรพคุณรักษาข้อเข่าเสื่อม

ผู้เขียน: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
วันที่: 4 พ.ค. 2553

            อย. ลงดาบผลิตภัณฑ์โคเซียม เอ็กซ์ตร้าครีม (Coxium Extra Cream) และโคเซียม ครีม (Coxium Cream) ซึ่งจดแจ้งเป็นเครื่องสำอางควบคุม แต่พบฉลากมีการอวดอ้างสรรพคุณไปในทางยา ระบุเป็นจารบีข้อเข่า รักษาภาวะข้อเสื่อม หลบเลี่ยงกฎหมาย เข้าข่ายมีเจตนาหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิด มีโทษทั้งจำและปรับ เตือนผู้บริโภคระวัง อย่าได้หลงเชื่อ เพราะไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่สมบูรณ์ยืนยัน รุดทำหนังสือเพิกถอนใบรับแจ้งไปยังผู้ผลิต เนื่องจากทั้งฉลาก ลักษณะผลิตภัณฑ์และข้อความโฆษณา มีจุดมุ่งหมายใช้ในทางยาอย่างชัดเจน จึงขอความร่วมมือร้านยา อย่าขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อีกทั้ง เตรียมเชือดผู้ผลิตรายอื่นที่จดแจ้งผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องสำอาง แต่โฆษณารักษาโรค โดยเฉพาะอวดอ้างสรรพคุณทางเพศ

            นพ. พิพัฒน์  ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจพบเอกสารการโฆษณาของผลิตภัณฑ์ โคเซียม เอ็กซ์ตร้าครีม (Coxium Extra Cream) และโคเซียม ครีม (Coxium Cream) ซึ่งมีการโฆษณาข้อความอ้างสรรพคุณรักษาการเสื่อมบริเวณข้อและเข่า แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์โคเซียมดังกล่าว ผลิตโดยบริษัท เอ็ม แอล เอ็ม ฟู้ด จำกัด และจำหน่ายโดยบริษัท มิลลิเมด จำกัด มีการจดแจ้งเป็นเครื่องสำอางควบคุม โดยโคเซียม เอ็กซ์ตร้าครีม เลขที่แจ้ง 10-1-5210848 และโคเซียม ครีม เลขที่แจ้ง 10-1-5210683 ซึ่งทั้ง 2 ตำรับแจ้งว่ามีวัตถุประสงค์ใช้เพื่อบำรุงผิวกายเท่านั้น และเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ อย. ได้ไปตรวจบริษัท เอ็ม แอล เอ็ม ฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางดังกล่าว ขณะตรวจพบฉลากกล่อง สติ๊กเกอร์แผ่นฟิล์ม ซองโคเซียม เอ็กซ์ตร้าครีม และตัวอย่างเครื่องสำอางโคเซียม เอ็กซ์ตร้าครีม ชนิดหลอดและชนิดซอง ทั้งนี้ จากการตรวจฉลากพบมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องและครบถ้วน โดยชนิดหลอดไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต ชนิดซองไม่ระบุผู้ผลิต ที่สำคัญมีการแสดงข้อความด้วยการอวดอ้างสรรพคุณลดความเสี่ยงและอาการปวดในโรคข้อเสื่อม โดยระบุเป็นจารบีข้อเข่า สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว  ถือเป็นการแสดงสรรพคุณทางยา รวมทั้งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความสับสนต่อผู้บริโภคได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์โคเซียม มีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงหลบเลี่ยงกฎหมายในการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าวสามารถรักษาข้อและเข่าเสื่อม เนื่องจากทั้งยาและเครื่องสำอางใช้ชื่อโคเซียม (Coxium) เหมือนกัน ตามกฎหมายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดและเพื่อความสวยงามเท่านั้น

            ภญ. วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเสริมว่า การกระทำของทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรายดังกล่าว  ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ในเบื้องต้น อย. ได้จัดทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัท เอ็ม แอล เอ็ม ฟู้ด จำกัด เพื่อเพิกถอนใบรับแจ้งเครื่องสำอางควบคุม เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการแสดงฉลากและโฆษณาอวดอ้างไปในทางยา  และมีชื่อเดียวกันกับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว อันจะทำให้ผู้บริโภคหลงเข้าใจผิด ทั้งนี้ อย. จะดำเนินคดีกับทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายในความผิดร่วมกัน ดังนี้

            1. ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องและครบถ้วน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

            2. ฉลากแสดงสรรพคุณที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            3. โฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งขณะนี้ อย. ได้มีหนังสือถึงบริษัทผู้จำหน่ายให้ระงับโฆษณาสรรพคุณดังกล่าวแล้ว

            ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากร้านขายยาและผู้จำหน่าย อย่าได้นำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโคเซียมมาจำหน่าย เนื่องจากอยู่ระหว่าง อย. กำลังเพิกถอนใบรับแจ้งเครื่องสำอางควบคุม โดยถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายหลอกลวง อย่างไรก็ตาม อย. จะดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในการตรวจสอบผู้ประกอบการทุกราย โดยเฉพาะที่มาจดแจ้งเป็นเครื่องสำอาง แต่มีการดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ หลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ ซึ่งเร็วๆ นี้กำลังเตรียมเพิกถอนผลิตภัณฑ์อื่นที่จดแจ้งผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องสำอาง แต่โฆษณาในทางรักษาโรค โดยเฉพาะอวดอ้างสรรพคุณทางเพศ อย. ขอให้ผู้ประกอบการรายอื่นอย่าได้เลียนแบบการกระทำผิดกฎหมายเช่นนี้เป็นอันขาด ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค มีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ในส่วนของผู้บริโภค ขอให้ช่วยเป็นหูเป็นตาแทนราชการด้วย หากพบการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556

ที่มาของข้อมูล : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - สธ. ทลายแหล่งลักลอบผลิตเครื่องสำอางผิดกฎหมาย 2 แห่ง
บอกข่าวเล่าความ - อย. บุกจับผู้ผลิตเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ย่านบางบัวทอง
บอกข่าวเล่าความ - อย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณากาแฟที่อ้างลดความอ้วนได้
บอกข่าวเล่าความ - สระแก้วตรวจเข้มเครื่องสำอางอันตราย สั่งห้ามขายในฝั่งไทย
บอกข่าวเล่าความ - อย. จับเครื่องสำอางผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 10 ล้าน
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ขอบคุณครับที่ได้แจ้งเตือนให้ทราบ

โดย:  ประชาชนไทย  [16 ธ.ค. 2553 12:55]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

อยากทราบว่า coxium joint free จารบีข้อเข่า ชนิดแคปซูล ของบริษัทมิลลิเมต ช่วยรักษาโรคข้อเสื่อมได้จริงหรือเปล่าค่ะ และผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานสามารถทานได้หรือเปล่า รบกวนหน่อยนะค่ะ

โดย:  nuch  [8 พ.ย. 2554 20:40]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น