สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

อุตสาหกรรมมาบตาพุดเดินหน้าลดสารละเหย

ผู้เขียน: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่: 13 ม.ค. 2554

            นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า หลังจากเพื่อนชุมชนได้ร่วมกลุ่มกันเมื่อ 4 เดือนก่อน เพื่อดูแลชุมชนมาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่ใกล้เคียงนั้น ขณะนี้หลายโครงการมีความคืบหน้าไปมาก โดยในปีนี้จะเป็นปีที่โครงการต่างๆ เริ่มปฏิบัติ และหลายโครงการเริ่มเห็นผล โดยโครงการสำคัญในปีนี้ คือ ความร่วมมือลดอัตราการเพิ่มขึ้นของสารประกอบอินทรีย์ระเหย หรือ VOC หรือที่เรียกว่าไอน้ำมัน ซึ่งอาจเกิดจากกระบวนการผลิต หรือการรั่วซึม แม้ปัจจุบันมาตรฐานของไทยจะยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเหมือนกับสารประเภทอื่น เพียงแต่มีเกณฑ์เบื้องต้นที่จะให้อยู่ในระดับ 1.7 - 3 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.

            ที่ผ่านมาตรวจวัดในโรงงานได้ในสัดส่วน 50% ของเขตกรุงเทพฯ อย่างกรณีสารเบนซีนนั้น ตรวจวัดที่มาบตาพุด เฉลี่ยประมาณ 2 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. ขณะที่กรุงเทพฯ ในบางพื้นที่ที่มีจำนวนรถยนต์วิ่งบนท้องถนนมาก อาทิเช่น ลาดพร้าว สารเบนซีนจะอยู่ในระดับ 3.8 ซอยอินทามาระอยู่ที่ 4.6 ย่านพหลโยธิน 5.2 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. เป็นต้น จึงได้รณรงค์และจับมือโรงงานอื่นๆ ในมาบตาพุดรวม 26 โรงงาน เพื่อร่วมมือกันลดการเพิ่มขึ้นของสารอินทรีย์ละเหย และคาดว่าจะเห็นผลภายในปีนี้ โดย 5 บริษัทจะเข้ามาให้คำแนะนำ พร้อมให้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับโรงงานที่เข้าโครงการ โดยคาดหวังว่าจะมีโรงงานอื่นเข้ามาร่วมมือเพิ่มเติมในอนาคต ส่วนก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (Nox) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) นั้นภาครัฐมีกฎเกณฑ์เป็นกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้ว

            สำหรับแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นๆ นั้น มีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือการปลูกต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่โรงงานของ 5 บริษัทในกลุ่ม รวมถึงร่วมมือกับสถานที่ต่างๆ ในมาบตาพุด เพื่อขยายพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติม อาทิ วัด โรงเรียน เป็นต้น คาดว่าภายใน 2 - 3 ปีนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในมาบตาพุดอย่างแน่นอน

            นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการหลัก คือ การเพิ่มบุคลากรด้านการแพทย์และพยาบาลในสถานพยาบาลต่างๆ ในมาบตาพุด โดยให้ทุนการศึกษา 200 ทุน รวม 48 ล้านบาท กับนักเรียนพยาบาลตลอด 4 ปีจนกว่าจะจบการศึกษา โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันพระบรมราชชนก ขณะเดียวกันในระหว่างรอยต่อนี้ ได้ชักชวนแพทย์ที่เกษียณอายุจากโรงพยาบาลต่างๆ และพร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาลในมาบตาพุด และเพื่อให้การดูแลชุมชนมาบตาพุดเป็นไปใกล้ชิดและอย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มเพื่อนชุมชนได้จัดทีมทำงานประจำที่มาจากตัวแทนของ 5 บริษัท จำนวนประมาณ 10 คน ประจำที่ศูนย์เพื่อนชุมชน เพื่อประสานงานระหว่างภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และภาครัฐ รวมถึงเป็นศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้จักศูนย์เพื่อนชุมชนให้มากขึ้น

            โครงการต่างๆ ที่เพื่อนชุมชนเข้าไปทำนั้น มีเป้าหมายเพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนเป็นเพื่อนที่อยู่ร่วมกันได้ และสามารถแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันได้ในทุกๆ เรื่อง ส่วนการขยายลงทุนเพิ่มเติมในมาบตาพุดในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ

            อย่างไรก็ตามหลังจากการลงทุนในมาบตาพุดมีความชัดเจนในเรื่องกฎระเบียบการลงทุนมากขึ้นแล้ว ความเชื่อมั่นก็กลับมาแน่นอน เนื่องจากภาคเอกชนพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบอยู่แล้ว ในส่วนของปตท. เคมิคอลเอง ยังไม่มีการลงทุนใหม่เพิ่มเติม และสำหรับเงินทุน 100 ล้านบาท ที่ทั้ง 5 บริษัทลงขันกันนั้น ก็ได้ทยอยอนุมัติไปตามโครงการ ซึ่งสามารถที่จะขยับเพิ่มขึ้นได้ หากมีโครงการที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ขณะเดียวกันทางเพื่อนชุมชนก็อยู่ระหว่างการเตรียมจดทะเบียนเป็นสมาคมเพื่อนชุมชน กับกระทรวงมหาดไทยในเร็วๆ นี้ด้วย 

            ทั้งนี้จากภาวะโลกร้อน และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติต่างๆ นั้น เห็นว่า ควรเป็นแนวทางที่รัฐจะต้องนำมาพิจารณา เพราะจะเป็นโอกาสของการลงทุนของไทยในหลายเรื่อง อาทิ โบโอพลาสติก หรือไบโอเคมี เป็นต้น เพียงแต่ต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการเองหลายบริษัทก็ต้องเดินหน้าไปสู่ไบโอพลาสติกมากขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันไบโอพลาสติกมีสัดส่วนการใช้งาน 1% ของการใช้พลาสติกทั้งหมดทั่วโลก โดยในส่วนของปตท. เคมิคอล ก็มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตและการขายไบโอพลาสติกอย่างแน่นอน จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 5%

            ทั้งนี้กลุ่มเพื่อนชุมชนเกิดจากการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีฐานที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประกอบด้วย บริษัท ปตท. เคมิคอล, กลุ่มเอสซีจี (SCG), บริษัท บีแอลซีพี พาวเวอร์ จำกัด, บริษัท ดาว เคมิคอล จำกัด และกลุ่มบริษัทโกลว์ โดยได้เปิดตัวศูนย์เพื่อนชุมชน อย่างเป็นทางการ เพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมของชุมชนใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเมื่อเดือนกันยายน 2553 ที่ผ่านมา

ที่มาของข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ประจำวันที่ 13 มกราคม 2554

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Benzene
Nitrogen dioxide
Sulfur dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ขอต้อนรับเขตควบคุมมลพิษ... มาบตาพุด
บอกข่าวเล่าความ - บุกตรวจมาบตาพุด พบชาวบ้านป่วยอีกเพียบ
บอกข่าวเล่าความ - วุฒิสภาแถลงสารพิษมาบตาพุดเสี่ยงเกิดมะเร็ง
บอกข่าวเล่าความ - ตรวจสุขภาพคนมาบตาพุดคืบหน้า
บอกข่าวเล่าความ - นายกอภิสิทธิ์ ลงพื้นที่ตรวจมาบตาพุด
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น